ระเบิดเวลา “ทะเลไทย”

ถ้าไม่มีสัญญานเตือนจาก EU จะมีใครรู้บ้างว่า ทะเลไทยอยู่ในภาวะวิกฤตและใกล้ “หมดอายุ” เต็มทีแล้ว

ย้อนไปกว่าครึ่งศตวรรษ เราอาจเคยได้ยินคำพูดติดปากจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ว่า “ทะเลไทยไม่มีวันหมด” แต่ ณ ปัจจุบัน นักอนุรักษ์ทั่วโลกบอกตรงกันว่า ถ้าทุกประเทศยังไม่หยุด “ปล้นปลา” ปี 2050 อาจจะไม่เหลือสิ่งมีชีวิตที่กินได้จากใต้ทะเล


นี่ไม่ใช่คำขู่ แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ยืนยันได้จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ระบุว่า ความสามารถในการจับปลาเหนือน่านน้ำไทยลดลงจากชั่วโมงละ 300 กิโลกรัมในปี 2503 เหลือเพียงชั่วโมงละ 25 กิโลกรัมในปี 2554 คิดเป็นร้อยละ 8 จากความสามารถที่เคยจับได้ นั่นหมายความว่า สัตว์ทะเลรวมถึงปลา กำลังจะหมดไปจากทะเลไทย จริงๆ


น่าแปลกที่ปลาน้อยลง แต่ไทยกลับเป็นผู้ส่งออกสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลก นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการจับปลาเกินขนาด (overfishing) และลากยาวออกไปจากน่านน้ำไทย ซึ่งนักนิเวศวิทยาทางทะเลระบุว่า มหันตภัยของระบบนิเวศทางทะเลคือการทำประมงเกินขนาด ความต้องการสัตว์น้ำของมนุษย์พุ่งเกินกว่าระดับสมดุลที่มหาสมุทรหรือทะเลจะให้ได้ และความต้องการในการจับสัตว์น้ำแบบ “สวาปาม” นั้นก็นำไปสู่การทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม ซึ่งกินเวลามายาวนานหลายทศวรรษ


เพลิดเพลินกันมานานจนกระทั่งสหภาพยุโรปลงดาบประเทศไทยด้วยการยื่น “ใบเหลือง” ให้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 เมษยน 2558 กิจการประมงไทยก็ระส่ำระสาย เพราะนั่นหมายความว่า ประเทศไทยอาจถูกบอยคอตสินค้าอาหารทะเลได้ ถ้าไม่เร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตามมาตรการ IUU Fishing (Illegal, Unregulated and Unreported Fishing)


ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกสั่งสมมานาน แต่ดูเหมือนว่าประชาชนชาวไทยเพิ่งจะมาตื่นรู้เมื่ออียูแจ้งเตือนด้วยการยื่นใบเหลืองนี่เอง


ในฐานะคนทำงานที่คลุกคลีอยู่กับวงการประมงไทยมาตลอด บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประมงไทยมีทั้งยุครุ่งเรืองและล่มสลาย ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้อาชีพประมงอยู่ไม่ได้คือการลดลงอย่างรวดเร็วของสัตว์น้ำ ซึ่งต้นตอสำคัญมาจากการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เช่น อวนลาก อวนรุน อวนล้อมเรือปั่นไฟ และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ใช้ “ปลาเป็ด” เป็นส่วนประกอบ (ปลาเป็ด หรือ Trash Fish คือ ปลาที่ไม่นิยมบริโภค และไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ลูกปลาทู ลูกปลาอินทรี ปลากะตัก ปลาข้าวสาร ลูกจับก่อนโตก็จะเป็นปลาเป็ด)


“วิกฤตเริ่มมาตั้งแต่ปี 2523 ตอนนั้นประเทศไทยมีการทำประมงเกินศักยภาพของทะเล จริงๆ เริ่มตั้งแต่ปี 2504 ที่มีการนำเครื่องมืออวนลากจากเยอรมันเข้ามา ทำให้ทะเลพัง ต่อมากรมประมงเลยเสนอให้หยุดเครื่องมือที่เห็นว่าเป็นตัวทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ คือ อวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟ เพราะมีงานวิจัยของกรมประมงที่ชี้ชัดว่า การจับปลาด้วยเครื่องมือประมงผิดกฎหมายจะทำให้ได้ปลาที่เป็นอาหารจริงๆ แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์เข้าโรงงานปลาป่น เพราะมันเล็กมาก เป็นลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกปู มันเลยเกิดภาวะ overfishing


ใช้อวนจับเยอะๆ แล้วไปไหน ก็ไปโรงงานปลาป่น ผมเคยไปลองซื้อลูกปลาทูที่ประจวบ 1 กิโล 100 บาท เอามานับได้ประมาณ 1,200 ตัว ผมจ่ายแค่ 100 บาทเองนะ แต่ถ้ามันได้เติบโต ขนาดสัก 13-15 ตัวต่อกิโล เอามาขายกิโลละ 100 บาท ในถุงนั้นจะมีมูลค่า 8,000-10,000 บาทเลย อันนี้คือวิกฤตทะเลไทยที่ไม่เกี่ยวกับ IUU เลยนะ เราไม่สามารถจัดการกับเครื่องมือทำลายล้างให้หมดไปจากประเทศไทยได้ นี่คือภาพกว้างๆ ของทะเลไทย”


ระยะเวลา 6 เดือนเหมือนเป็นเส้นตายที่ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนจากใบเหลืองเป็นใบเขียวให้ได้ เพราะถ้าเกิดเรื่องเลวร้าย ผิดพลาดจนได้ “ใบแดง” ประเทศไทยจะต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยายามหาแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะรัฐบาล ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่งให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ขึ้นเป็นศูนย์เฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับมาตรฐานการประมงของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จนเกิดเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหา พร้อมกฎหมายใหม่ล่าสุด “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558” ที่จะมาช่วย “หยุดวงจรอุบาทว์” ในการทำประมงแบบผิดกฎหมายให้หมดไป


“วันนี้รัฐบาลหยุดอวนลากอวนรุนแล้ว ทีนี้ก็เหลือเรือปั่นไฟที่จับลูกปลาทูเล็กๆ ลูกปลาอินทรี ลูกกุ้ง ปลากะตัก ซึ่งเรือปั่นไฟแบบนี้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ ถ้าหยุดเรื่องนี้ได้ผมว่าประเทศไทยจะมีสัตว์ทะเลที่สามารถเลี้ยงคนได้ทั้งประเทศ” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ยืนยัน


ด้าน ศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนานโยบายการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และ IUU ในกิจการประมงทะเลอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ปัจจุบันมีเรือประมงพื้นบ้านที่ได้รับใบอนุญาตแล้วราว 40,000 ลำ ส่วนเรือประมงพาณิชย์อยู่ที่ราว 11,000 ลำ ถ้าบริหารจัดการไม่ดีก็จะเกิดกรณีซ้ำๆ เดิมๆ นั่นคือ การสวมทะเบียนและการทำประมงผิดกฎหมาย


“ตอนนี้ยังมีเรือที่มีใบอนุญาตแต่ยังไม่ได้รับ licence อีก 2,000 กว่าลำ เรือประมงพาณิชย์ที่โดนถอนทะเบียนอีก 500 กว่าลำ เราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาให้ครบวงจร ต่อไปนี้เรือพวกนี้จะต้องทำสัญลักษณ์ไว้ และถ้าเรือนี้ไปโผล่ที่ไหนอย่างน้อยเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนก็จะสามารถรับรู้และตรวจสอบได้


ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบเป็นระยะๆ จะมีค่าปรับที่ค่อนข้างแพง ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายได้ครบวงจร ก็จะทำให้การประมงของไทยเป็นการประมงที่ยั่งยืน ซึ่งเมื่อก่อนการบริหารจัดการค่อนข้างจะเรียกว่าล้มเหลว ตอนนี้ในการทำประมงทั่วโลกเขาต้องการให้มีการตรวจสอบว่ามีการทำผิดกฎหมายหรือเปล่า เลยมีการทำอัตลักษณ์ขึ้นมา ซึ่งการทำอัตลักษณ์ของเรือประมงนั้นจะเกี่ยวข้องกับการทำการประมงที่ยั่งยืน”


ในส่วนของ ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการประเมินโดยภาพรวม เรือประมงยังคงมีจำนวนมากกว่าทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย จึงอยู่ในระหว่างการหาแนวทางทำอย่างไรให้มีจำนวนเรือประมงในปริมาณที่สอดคล้องกัน รวมทั้งจะเร่งสร้างความเข้าใจกับชาวประมงและผู้ประกอบการเรือประมงเพื่อให้ปฏิบัติตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และร่วมมือกันแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing)


แม้ระยะเวลา 6 เดือนที่เป็นเส้นตายของสหภาพยุโรปจะหมดไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา แต่เพราะการจัดการปัญหาที่มีแนวโน้มไปในทางที่ดี ทำให้ยังไม่มีการตัดสิทธิ์หรือให้ใบแดงตามมาตรการ IUU Fishing ซึ่งระหว่างนี้ก็มีคณะกรรมการจากสหภาพยุโรปเดินทางเข้ามาตรวจสอบอยู่เป็นระยะๆ ล่าสุด พลเรือเอกบงสุช สิงห์ณรงค์ หัวหน้าคณะทำงานด้านแรงงานและการค้ามนุษย์ในภาคประมง ศูนย์บัญชาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) แย้มว่า ทิศทางในการพิจารณาน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า สดใส


“เขา(อียู)คงพอใจขึ้นเป็นลำดับๆ และผมคิดว่าประเทศไทยคงจะได้รับข่าวดีในเรื่องที่ว่า เราอยู่ในสเตจไหนของอียู โดยเขาจะมาประเมินเราในต้นปีหน้า(2560) เขาไม่ได้ชี้แจงเรื่องสถานะว่าเราใบแดง ใบเหลือง ใบเขียว เพียงแต่มาเสนอแนะในการที่จะดำเนินการเรื่องต่างๆ”


อย่างไรก็ดี แม้จะมีความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาตามมาตรการ IUU Fishing แต่ ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การพัฒนาท้องทะเลไทยให้ยั่งยืนต้องมีหลายองค์ประกอบควบคู่กันไป


“ประเทศไทยเรามีพื้นที่ทะเลอยู่ 2 ใน 3 ของประเทศ และสิ่งที่น่าสนใจคือเรามีความหลากหลายของทรัพยากร แต่สมัยก่อนเรามองมาตรการในการใช้ประโยชน์แบบผิดๆ ใช้จนเกินความสามารถของทรัพยากรในการผลิต เลยทำให้เกิดการลดทั้งปริมาณและคุณภาพ ทีนี้เราจะมาพูดว่าอนุรักษ์อย่างเดียวก็คงไม่ได้ เราต้องมีมาตรการในการจัดการเรื่องการใช้ด้วย คือต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพราะทุกวันนี้เราใช้ประโยชน์จากทะเล เราต้องมีมาตรการจัดการเรื่องการใช้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการสร้างใหม่เพื่อให้เกิดความสมดุล”


ระหว่างใจเต้นรอลุ้นผลจากสหภาพยุโรปในต้นปีหน้า สิ่งที่ประชาชนคนไทยทั่วไปจะช่วยกันได้ในวินาทีนี้ก็คือ หยุดบริโภคปลาเล็กปลาน้อยจากทะเล ทั้งปลาข้าวสาร-ปลาสายไหม(ลูกปลากะตัก) ปลาฉิ้งฉ้าง ลูกปลาทู ฯลฯ เพราะแม้จะมีการโฆษณาว่ามีแคลเซียมสูง เหมาะสำหรับคนที่ดูแลสุขภาพ แต่...ทั้งหมดนั้นได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมายทั้งสิ้น


ไม่ใช่เรื่องยากที่จะช่วยกันยืดเวลา ก่อนที่ทะเลไทยจะเดินทางไปถึง “ตอนอวสาน”