'หนองแซง' Along Way Home
"ไม่มีเสียงบ่นลำบากจากปากคู่รักคู่ใด มีแต่แววตาที่เต็มไปด้วยความประทับใจจนเอ่อล้น แม้จะเหน็ดเหนื่อยกันไม่น้อยเลย"
สำหรับนักเดินทางที่อยู่บนพรมแดนระหว่างสายชิลกับสายลุย รถไฟและจักรยานคือยานพาหนะที่เหมาะสมอย่างกับกิ่งทองใบหยก นี่ไม่ใช่การต่อว่าความเนิบช้าของยานพาหนะทั้งสอง แต่จะบอกว่านี่คือคำตอบของคนชอบดื่มด่ำบรรยากาศสองข้างทาง
ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า Along Way Home : 71 วัน ปลายทางคือบ้าน ระหว่างทางคือเรา ของ PAKAPRICHนามปากกาของคู่รักนักเดินทาง ทั้งสองตกลงคบหากันเมื่อเรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นไม่นานการเดินทางกลับบ้านที่ประเทศไทยหลังจากเรียนจบที่น่าจะเป็นการนั่งเครื่องบินกลับตามปกติถูกเปลี่ยนแผนเป็นนั่งรถไฟ 15,000 กิโลเมตร จากนอตทิงแฮมสู่กรุงเทพมหานคร ผ่าน 13 ประเทศ รวมแล้ว 71 วัน
หนังสือ Along Way Home ไม่ใช่แค่บันทึกการเดินทางเท่านั้น แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวความรักความเข้าใจที่มีฉากหลังเป็นการเดินทางสุดหิน ไม่ใช่คู่รักทุกคู่จะทำได้ การต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาบนความยากลำบากเป็นบทพิสูจน์รักแท้
หลังจากการเดินทางนั้นสิ้นสุดลง เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาการเดินทางของ PAKAPRICH เริ่มต้นอีกครั้ง ทว่าคราวนี้มีผู้ร่วมเดินทางอีกหลายคน ในทริปพิเศษ กรุงเทพ-หนองแซง (สระบุรี) ที่ Her Publishing ในเครือโมโนกรุ๊ป ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี จัดขึ้น โดยดึงจุดเด่นของหนังสือที่มีทางรถไฟเป็นเส้นเรื่องหลักเชื่อมโยงกับการปั่นจักรยานท่องเที่ยว
เช้าตรู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ นักปั่นรวมตัวกันเพื่อขึ้นขบวนรถไฟพิเศษนำเที่ยวหนองแซง ใครว่ารถไฟไม่ตรงเวลา ผมเถียงขาดใจ เพราะตามเวลาที่ระบุไว้ว่าเดินทาง 06.40 น. รถไฟก็เคลื่อนออกจากชานชาลา 06.40 น. พอดิบพอดี
หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่พวกเราได้ชื่นชมทิวทัศน์ริมทางรถไฟ อย่างเต็มที่ ช่วงหน้าฝนแบบนี้ไม่ต้องห่วงว่าจะเจอทุ่งหญ้าแห้งๆ เพราะตลอดทางมีแต่ท้องนาสีเขียว
ถึงสถานีหนองแซง ทั้งคนทั้งจักรยานทยอยลงจากตู้รถไฟ แล้วเริ่มปั่นฝ่าแดดสายไปยังร้านบ้านใร่ใบกะเพรา เพื่อแวะจิบกาแฟบ้านใร่ ปลุกความสดชื่นก่อนที่ทริปนี้จะเริ่มต้นอย่างจริงจังและหนักหน่วง
เพราะรู้ว่าเส้นทางท่องเที่ยวหนองแซงสวยงามแต่แฝงความเหนื่อยไว้ คราวนี้จึงได้เห็นหลายคนควงคนรักมาปั่นจักรยานด้วย แน่นอนว่าจะได้เที่ยวด้วยกัน แต่อีกนัยหนึ่งที่คือบทพิสูจน์รักด้วยจักรยาน
สดชื่นตื่นตาด้วยกาแฟหอมกรุ่นแล้วมุ่งหน้าสู่ คลีนฟาร์ม ที่ห่างไปราว 4 กิโลเมตร แค่มาถึงปากทางเข้าก็รู้ทันทีว่าจะได้สัมผัสธรรมชาติแบบออแกนิกเป็นแน่ แล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะที่นี่คือแหล่งปลูกผักปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยกรรมวิธีเฉพาะตัวคือ ‘ปลูกด้วยดินบนแคร่ในโรงเรือน’
ที่บอกว่าปลูกบนแคร่ก็เพื่อหนีโรควัชพืชและแมลงศัตรูพืชที่มาจากพื้นดิน ดินบนแคร่จะระบายอากาศและความร้อนได้ดี ทั้งยังช่วยประหยัดน้ำและประหยัดปุ๋ยได้ด้วย
นอกจากชมฟาร์มแล้วห้ามพลาดชิมและช้อปผักที่นี่ เพราะทั้งสะอาด กรอบ อร่อย
ถัดไปอีก 5 กิโลเมตร คือ วัดหนองสีดา วัดที่อยู่คู่อำเภอหนองแซงมาตั้งแต่โบราณ ใครใคร่กราบพระเพื่อสิริมงคลก็ดี ใครใคร่ชมความมหัศจรรย์ของฝูงค้างคาวแม่ไก่ก็ได้
ค้างคาวแม่ไก่คือค้างคาวที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตามต้นไม้ภายในวัดหนองสีดา มีค้างคาวชนิดนี้เกาะอาศัยอยู่แน่นขนัดนับหมื่นตัว ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ขึ้นทะเบียนค้างคาวแม่ไก่เป็นสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ห้ามล่าหรือทำร้าย
ไหว้พระและชมค้างคาวเสร็จ ปั่นไปอีก 14 กิโลเมตร ท่ามกลางแดดใกล้เที่ยงคือช่วงเวลาที่หลายคนอยากยอมแพ้ แต่ถ้าอดทนไม่กี่อึดใจก็จะมาถึงจุดพักผ่อนชั้นเลิศ ทั้งแง่บรรยากาศและคุณค่า ที่นี่คือ หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไท-ยวน
โดยเราพักกินข้าวกลางวันกันที่นี่ แต่พอเห็นอาหารก็ต้องสงสัยว่าเหตุใดที่สระบุรีประตูสู่อีสานจึงมีขันโตกเหมือนภาคเหนือ
ถามไถ่ อ.ทรงชัย วรรณกุล เจ้าของสถานที่ จนได้ความว่านี่เป็นวัฒนธรรมของแคว้นโยนก รัฐของชาวไท-ยวนที่ตั้งอยู่แถบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณ เช่น เมืองเชียงแสน ต่อมาชาวไท-ยวนได้อพยพมาตั้งรกรากที่นี่ แต่วัฒนธรรมประเพณีค่อยๆ สูญหายไป อ.ทรงชัยจึงต้องรักษาไว้ภายใต้รูปลักษณ์ของหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไท-ยวนแห่งนี้
กินข้าวรสชาติพื้นถิ่นแสนอร่อย เคล้าบรรยากาศริมแม่น้ำที่มีเงาไม้ร่มเย็น หากมีเวลามากกว่านี้คงต้องนอนพักคืนสองคืน เพราะที่นี่เปิดให้พักทำนองเดียวกับโฮมสเตย์ด้วย
หลังจากใช้เวลายาวนานเพื่อพักผ่อนจนหายเหนื่อย ก่อนจะกลับไปให้ทันเวลารถไฟกลับกรุงเทพตอน 16.00 น. เราต้องปั่นไกลเกือบ 20 กิโลเมตรฝ่าเปลวแดดบ่ายแก่ๆ อีกหน เพื่อไปยัง พิพิธภัณฑ์บ้านใร่กาแฟ เพื่อเรียนรู้ความเป็นมาของตำนานกาแฟไทยที่เราได้ลิ้มลองไปเมื่อตอนสายๆ
อาคารพิพิธภัณฑ์กำเนิดตำนานบ้านใร่กาแฟ คือ สถานที่แสดงความเป็นมาของการเกิดตำนานบ้านใร่กาแฟ รวมรวบอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดบ้านใร่กาแฟในยุคแรก (ปลายปี 2540)
ตั้งแต่เช้าจรดเย็น จากสถานีกรุงเทพถึงหนองแซง ตลอดเส้นทางปั่นจักรยานเที่ยวกว่า 40 กิโลเมตร ทุกอย่างกำลังย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ขบวนรถไฟพิเศษฯกำลังพาทุกคนกลับบ้าน ไม่มีเสียงบ่นลำบากจากปากคู่รักคู่ใด มีแต่แววตาที่เต็มไปด้วยความประทับใจจนเอ่อล้น แม้จะเหน็ดเหนื่อยกันไม่น้อยเลย แต่นี่แค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง