ถ้า...พระเจ้าเหา มีอยู่จริง
ถ้าจะมีคำพูดสักคำที่บอกเล่าถึงความเก่าแก่ของบางสิ่งได้ “ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา” น่าจะเป็นอธิบายที่ดีที่สุด
แอบสงสัยมาตั้งแต่เล็กๆ แล้วว่า ทำไมผู้ใหญ่มักตัดความรำคาญของเด็กๆ เวลาถามถึงเรื่องราวเก่าๆ ด้วยถ้อยความที่ชวนเกาหัวว่า “โอ๊ย มันนานมาก ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาโน่น”
เราก็เก็บความสงสัยไว้จนลืมไปนานแล้ว กระทั่ง อาจารย์อรไท ผลดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าเผ่าไท และอาจารย์ฟาน จูน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไทย-จีน ชวนเดินทางร่วมทริป “โครงการวัฒนธรรมสัญจร เยือนถิ่นกำเนิดของชนชาติไทที่แหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน มณฑลกานสู ประเทศจีน” นี่แหละ เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าเหาจึงย้อนกลับเข้ามาอยู่ในความสงสัยอีกครั้ง
เกี่ยวอะไรกัน ไม่เห็นมีชื่ออะไรที่เชื่อมโยงกันได้เลย อย่าเพิ่งร้อนใจไป เพราะเส้นทางที่เราจะไปในครั้งนี้มีสุสานพระเจ้าเหาและพระเจ้าเหลือง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูลเผ่าไท-จีน รวมอยู่ด้วย
ถ้าพร้อมแล้ว เราไปเจาะเวลาตามหาพระเจ้าเหาที่ว่า “เก๊าเก่า” กันดีกว่า
...................
ฤดูใบไม้ร่วงของซีอานต้อนรับเราด้วยลูกแปะก๊วยสีเขียวๆ ที่กำลังติดผลอยู่เต็มต้นตลอด 2 ข้างทางบนถนนทุกแห่งของซีอาน พาลให้คิดถึงเมนู “แปะก๊วยน้ำขิง” เจ้าอร่อยที่กินอยู่เป็นประจำทันที
ซีอาน เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีน เพราะเคยเป็นเมืองหลวงอยู่นานถึง 13 ราชวงศ์ นอกจากนี้ยังเป็นปลายทางของเส้นทางสายไหมที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 3,000 ปีด้วย ทว่า คนไทยมักจะรู้จักกันดีในแง่ที่เป็น “เมืองมรดกโลก” จากการค้นพบสุสานทหารดินเผาสมัยจักรพรรดิจิ๋นซี หรือ ฉินซื่อหวงตี้ จักรพรรดิผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็น ปฐมกษัตริย์แห่งแผ่นดินจีน ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 221-207 ปีก่อนคริสตกาล
เราตั้งต้นจากซีอานเพราะเป็นเมืองที่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก แต่ก่อนใครจะมาอาจต้องต่อเครื่องกันหลายครั้งหน่อย แต่เดี๋ยวนี้มีสายการบินหลายแห่งให้บริการบินตรงมายังซีอานทันที ทำให้ประหยัดเวลาไปได้เยอะ
แม้จะเคยมาเยือนซีอานครั้งหนึ่งแล้ว แต่พอมาอีกครั้งบอกตรงๆ ว่าแทบจำไม่ได้ มีเพียงกำแพงเมือง หอกลอง และหอระฆังเท่านั้นที่ดูคุ้นๆ ที่เหลือเป็นภาพใหม่ที่เราต้องเก็บใส่กระปุกแห่งความทรงจำ
ซีอานเป็นเมืองหลวงของมณฑลส่านซี ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน เดิมชื่อ “ฉางอาน” ที่แปลว่า ความสงบสุขชั่วนิรันดร์ แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาเรียกว่า “ซีอาน” ที่แปลว่า ความสงบสุขทางตะวันตก แทน
มาถึงซีอาน แต่ไม่ได้ไปเยือนสุสานทหารจิ๋นซีก็ไม่น่าผิดหวังเท่าไร เพราะการเดินทางออกนอกเมืองไป ก็ทำให้เราได้รับความรู้ใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ แหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน ที่เชื่อกันว่ามีความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาบรรพบุรุษชนเผ่าไทแต่โบราณ
แหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน ตั้งอยู่ในเมืองเทียนสุ่ย มณฑลกานซู ที่อยู่ห่างจากซีอานราว 200 กว่ากิโลเมตร แม้ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ของจีนจะเด็ดดวงเพียงใด แต่กฏหมายก็ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีรถบัสคันไหนใช้ความเร็วได้เกินกว่าที่กำหนด การเดินทางมาถึงต้าตี้วานจึงใช้เวลาเกือบค่อนวัน
หากใครเคยอ่านงานของอาจารย์อรไท ผลดี จะทราบดีว่าท่านติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการค้นหารากเหง้าและบรรพบุรุษไทผ่านงานวิจัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการวิจัยของอาจารย์ก็ทำให้ได้ข้อสรุปส่วนหนึ่งว่า ต้นกำเนิดบรรพบุรุษไทอาศัยอยู่บริเวณต้นแม่น้ำ 4 สายบริเวณที่ราบสูงทิเบต คือ แม่น้ำฮวงโห แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำโขง และแม่น้ำคง(สาละวิน) โดยอาศัยมาไม่ต่ำกว่า 20,000 ปี เพราะมีแหล่งโบราณคดีที่มีหลักฐานชี้ชัดหลายอย่าง
สำหรับแหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน เป็นแหล่งวัฒนธรรมโบราณที่อยู่ในบริเวณแม่น้ำเว่ย ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำฮวงโห โดยพบหลักฐานมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่มาแล้วไม่ต่ำกว่า 60,000 ปี ผ่านจากยุคการเด็ดพืชผลและล่าสัตว์ด้วยเครื่องมือหินละเอียดและใช้เครื่องปั้นดินเผาเมื่อ 20,000 – 13,000 ปี
ต่อมาในสมัยหินใหม่ 13,000-7,000 ปี เริ่มรู้จักใช้หม้อหุงข้าวสามขาเพื่อให้ข้าวสุกเร็วขึ้น รู้จักสร้างงานศิลปะบนเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมที่บ้านเชียง รู้จักการใช้เครื่องหมายขีดบนเครื่องปั้นดินเผา และรู้จักวาดภาพบนพื้น รู้จักการทำเครื่องดนตรีคือขลุ่ยเมื่อ 7,000-5,000 ปี อันเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมที่บ้านโพและหยางเซา
เมื่อได้เข้าชมแหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน จะพบว่า ที่นี่มีความเป็นที่สุดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีที่เก่าแก่ที่สุด ตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุด การเกษตรที่เก่าแก่ที่สุด(จากเมล็ดพืชสตัฟฟ์) เทคนิคการก่อสร้างที่สูงที่สุด(ยุคก่อนประวัติศาสตร์) การทำพื้นคอนกรีตที่เก่าแก่ที่สุด ภาพวาดที่เก่าแก่ที่สุด เครื่องชั่งตวงวัดและทศนิยมที่เก่าแก่ที่สุด นับว่ามีความเป็นที่สุดเยอะมากจริงๆ
ต้าตี้วานมีชั้นวัฒนธรรมที่มีความหนาประมาณ 1-4 เมตร จากการขุดค้นพบซากบ้านเรือน 240 หลัง เตาไฟ 98 แห่ง รวมถึงหลุมขี้เถ้าและโรงเผาอีก 325 แห่ง สำหรับเครื่องปั้นดินเผาที่พบนั้นมีจำนวนมากถึง 4,147 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องหินและหยก 1,931 ชิ้น เครื่องมือจากกระดูกสัตว์ เขี้ยว หอย เขาสัตว์ 2,218 ชิ้น ไม่รวมกระดูกสัตว์อีกกว่า 1 หมื่นชิ้น
สิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจคือภาชนะดินเผาเขียนลายที่มีรูปแบบคล้ายกับเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีที่สุด นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยยืนยันและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชาวไทยในเมืองไทยและเมืองจีน
ในบริเวณนี้พบว่าเดิมมีคลองอยู่ถึง 12 ช่วงด้วยกัน แต่มีการขุดให้ชมเพียง 9 ช่วง ซึ่งการค้นพบนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อการกำเนิดวัฒนธรรมยุคหินใหม่ในลุ่มแม่น้ำเหลือง(ฮวงโห)
การค้นพบที่ยิ่งใหญ่อีกสิ่งหนึ่งคือ ห้องแบบพระราชวังขนาด 420 ตารางเมตรที่เทพื้นด้วยปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า บริเวณต้าตี้วานเป็นที่ตั้งของนครลุง เมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดของคนไทบริเวณแม่น้ำเว่ยเหอ โดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี
และเรื่องนี้เองที่จะเกี่ยวข้องกับ “ชนเผ่าไท” รวมถึง “พระเจ้าเหา” ที่เราตามหา
........................
อาจารย์อรไท บอกว่า ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บันทึกไว้ว่า เมื่อประมาณ 5,000 ปี ปฐมกษัตริย์ของบรรพชนไทคือ พ่อขุนไทหาว ปกครองอยู่บริเวณแม่น้ำเว่ยเหอ พระองค์เป็นต้นตระกูลของคนไท ครองราชย์ราว 2,410 ปีก่อนพุทธศักราช และสำนวนไทยที่ช่วยยืนยันว่าพระองค์เป็นต้นตระกูลไท คือ “น๊านนาน หรือ เก๊าเก่า...ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าเหา” นั่นเอง
อาจารย์ฟาน อธิบายเพิ่มเติมถึงพระเจ้าเหาว่า ในประวัติศาสตร์จีน พระเจ้าเหาหมายถึงพระเจ้าเหยียนตี้ ที่อยู่ในยุคห้ากษัตริย์ หรือราชวงศ์เสินหนง ราชวงศ์สุดท้ายในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพระเจ้าเหยียนตี้เป็นประมุขทางเผ่าเสินหนง ใครๆ จึงรู้จักพระองค์ในฐานะ “บิดาแห่งการเกษตร” (เสิน แปลว่า เทพเจ้า หนง แปลว่า การเกษตร)
ไม่เพียงเท่านั้น พระเจ้าเหายังเป็นบิดาแห่งสมุนไพรและการแพทย์แผนโบราณ บิดาแห่งการค้าขาย บิดาแห่งดนตรี ซึ่งทางการจะจัดการไหว้บวงสรวงพระเจ้าเหยียนตี้ในทุกวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี ณ ศาลเจ้าพระเจ้าเหา ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาหยางซาน ในเมืองเป่าจี มณฑลส่านซี
การเดินทางมาที่นี่ไม่ได้ยากเย็นอะไร แต่การจะเดินทางขึ้นไปสักการะสุสานพระเจ้าเหานี่แหละที่อาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะคนที่ข้อเข่าไม่ค่อยดี เพราะสุสานตั้งอยู่บนยอดเขาหยางซาน จึงต้องเดินขึ้นบันไดกว่า 300 ขั้นขึ้นไปเพื่อไหว้สักการะ แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ด้านล่างก็จะมีทั้งอนุสาวรีย์พระเจ้าเหาที่มีลักษณะคล้ายคนมีเขาถือรวงข้าวอยู่ และแผ่นหินแกะสลักเป็นรูปพระเจ้าเหาตามจินตนาการ ซึ่งอาจจะดูไม่ได้มีรูปร่างใกล้เคียงกัน นั่นก็เพราะพระเจ้าเหานั้นเป็นบุคคลในตำนานที่เล่าขานต่อกันมานั่นเอง
ร่วมสมัยกันกับพระเจ้าเหา หรือพระเจ้าเหยียนตี้ ยังมี “พระเจ้าเหลือง” หรือพระเจ้าหวงตี้(อึ่งตี้) ที่ว่ากันว่าเป็นผู้พิชิตราชวงศ์เสินหนง โดยมีอายุอยู่ในช่วง 2,154-2,055 ปีก่อนพุทธศักราช
จากประวัติเมื่อรบชนะพระเจ้าเหยียนตี้แล้วก็ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์(แต่บางตำราก็ว่า พระเจ้าเหยียนตี้และพระเจ้าหวงตี้เจรจาศึกกัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ และก่อสร้างประเทศร่วมกันในฐานะ “เหยียนหวง”) เมื่อพระเจ้าหวงตี้ทรงรวบรวมประเทศจีนแล้วก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งดาราศาสตร์ ทรงปรับปรุงปฏิทินและตัวอักษร รวมถึงประดิษฐ์รถชี้ทิศ
ส่วน “เลงสี” ที่เป็นมเหสีของพระเจ้าเหลืองก็เป็นผู้ค้นพบตัวไหม และเรื่องราวสำคัญที่ชวนคลี่คลายก็มาอยู่ตรงพระราชโอรสของพระองค์ นั่นคือ พระเจ้าเสียวเหา หรือพระเจ้าเหาน้อย ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายต้นตระกูลไทอีกคน
ดูเหมือนว่าคนจีนจะให้ความสำคัญกับพระเจ้าเหลืองมากกว่าพระเจ้าเหา สังเกตุได้จากการจัดพิธีบวงสรวง ซึ่งที่ศาลเจ้าพระเจ้าเหาจะมีผู้ว่าการมณฑลเป็นคนทำพิธี แต่ที่ศาลเจ้าพระเจ้าเหลือง นายกรัฐมนตรีของจีนจะเดินทางมาประกอบพิธีเอง โดยพิธีบวงสรวงพระเจ้าเหลืองจะจัดขึ้นในวันเชงเม้งของทุกปี
สำหรับศาลเจ้าพระเจ้าเหลือง และสุสานพระเจ้าเหลือง ตั้งอยู่บนภูเขาเฉียวซาน ในเมืองยานอาน ที่อยู่ห่างจากซีอานไปราว 170 กิโลเมตร ที่นี่ร่มครึ้มไปด้วยไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นสนที่ถูกเรียกว่า “ป่าสนโบราณ” เพราะมีต้นสนทั้งเก่าใหม่อยู่ร่วมกันมากมายเกือบ 1 แสนต้น
และที่บริเวณหน้าทางเข้าศาลเจ้าพระเจ้าเหลืองก็มีสนต้นหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นต้นสนที่พระเจ้าเหลืองทรงปลูกด้วยพระองค์เอง โดยมีอายุกว่า 5,000 ปี ได้รับการขนานนามว่า “ต้นสนที่หนึ่งใต้หล้า” ซึ่งจากการสำรวจต้นสนแทบทั้งหมดบนภูเขาลูกนี้ พบว่ามีต้นสนโบราณอายุมากกว่า 1,000 ปี มากมายกว่า 3,000 ต้นเลยทีเดียว
การเดินทางมาเยือนต้าตี้วาน เจาะเวลาหาพระเจ้าเหาและพระเจ้าเหลือง ซึ่งว่ากันว่าเป็นต้นกำเนิดบรรพบุรุษเผ่าไทนั้น ทำให้เราได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับความเป็นไทยในแผ่นดินสยามได้หลายเรื่อง ทั้งจากหลักฐานที่เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่า รวมถึงโบราณวัตถุ โบราณสถานต่างๆ ที่พบในแหล่งโบราณคดี
แม้จะยังไม่มีใครยืนยันว่าคนไทยมาจากไหน แต่อย่างน้อยๆ เราก็ได้เห็นเส้นทางและแหล่งอาศัยของผู้คนเผ่าไท ที่กระจัดกระจายอยู่ในสถานที่สำคัญหลายแห่งของโลก โดยเฉพาะบนแผ่นดินมังกรอย่างเมือง “จีน” ช่างน่าภูมิใจจริง
และถ้าต่อไปมีใครถามว่า “พระเจ้าเหา” มีตัวตนจริงๆ มั้ย ให้ตอบไปดังๆ ได้เลยว่า มีจริง และเป็นต้นตระกูลเผ่าไทเรานี่เอง
...............
การเดินทาง
ทริปนี้เกิดจากความสนใจเฉพาะด้านของผู้ร่วมเดินทาง จึงไม่ได้อยู่ในโปรแกรมทัวร์ปกติทั่วไป หากนักท่องเที่ยวสนใจเส้นทางดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท Sino Tour โทรศัพท์ 0 2136 1949 หรือ 08 1824 8989.