ปราชญ์นักทดลอง ครูบาสุทธินันท์
เกษตรกรวัย 68 ปี ใช้สื่อออนไลน์คล่องแคล้ว โพสต์ทุกวัน รู้ว่าภูมิปัญญาไทยมีดีตรงไหน เชื่อมโยงกับโลกยังไง...
“ตอนแรกเผาถ่านธรรมดาส่งไปญี่ปุ่น ทำแบบนั้นเกือบสิบปี แต่ตอนนี้ไม่ได้ส่งออกแล้ว หันมาทำเรื่องถ่านไบโอชาร์ ทดลองทำเตาเผาเล็กๆ ทำจนประสบความสำเร็จ แต่ต้องพัฒนาอีก ถ่านไบโอชาร์แก้ดินเสียได้ดี”
เรื่องที่ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ กล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ปราชญ์ชาวอีสานคิดและลงมือทำ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เขาทำในพื้นที่บ้านเกิด 600 ไร่ในอ.สตึก จ.บุรีรัมย์ โดยหลายสิบปีที่แล้ว เขาเป็นผู้ริเริ่ม มหาชีวาลัยอีสาน และสี่สิบกว่าปีพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ ทั้งเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ นักบริหาร เกษตรกร ฯลฯ แวะเวียนมาหาเขาอยู่เนื่องๆ
ถ้าอย่างนั้น หากจะกล่าวว่า ครูบาสุทธินันท์ เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศและคนต่างชาติที่สนใจเรื่องการเกษตร ภูมิปัญญาและการพัฒนาชุมชน คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย
“ผมเป็นนักเรียนตลอดชีวิตครับ” ครูบาสุทธินันท์ เล่าอย่างอารมณ์ดี ซึ่งในวันที่เจอกัน เขาใส่เสื้อผ้าฝ้ายย้อมครามที่งดงาม เขาบอกว่า “คนย้อมครามที่สกลนคร จะทำแค่แบบเดียวตัวเดียวเท่านั้น”
และสิ่งที่เขาและลูกสาวกำลังทำตอนนี้ ก็คือ ใช้ขี้แพะและแก่นไม้ต่างๆ ย้อมผ้าฝ้ายแทนคราม
1.
ถ้าอย่างนั้น เก็บความสงสัยเรื่อง “ขี้แพะ”ไว้ก่อน
ย้อนไปถึงชีวิตครูบาสุทธินันท์สักนิด เขามาจากครอบครัวเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดียวแล้วไปไม่รอด จึงคิดใหม่ ทำใหม่ หันมาทำการเกษตรผสมผสาน ปลูกไม้ผล ไม้ใช้สอย สวนป่า เลี้ยงกบ แพะ หมู และไก่ ฯลฯ แต่สิ่งที่เขาทำและคิดมีมากกว่าเกษตรกรทั่วไป ก็คือ การทดลอง โดยเพียรพยายามทำด้วยตัวเองก่อน ถ้าไม่รู้ก็ไปขอความรู้จากผู้รู้หรือนักวิจัยด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ได้รางวัลมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และถูกรับเชิญไปพูดเรื่องการพัฒนาชุมชนและการเกษตรในหลายประเทศ จนเขาบอกว่า
“หล่อเลือกได้ ไปต่างประเทศจนขี้เกียจไปแล้ว”
เพราะเขาเชื่อว่า การเรียนรู้และการทดลองไม่มีวันจบสิ้น จากต้นยูคาลิปตัสที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมตัดขายเป็นท่อนๆ แต่เขาทดลองปลูกผสมผสานกับไม้ยืนต้นพันธุ์อื่นๆ พัฒนาสายพันธุ์ให้ใหญ่ สร้างมูลค่าเพิ่มได้แม้เกษตรกรจะบอกว่า ปลูกยูคาฯทำให้ดินเสีย แต่เขาสามารถทำให้ใต้ต้นยูคาฯ ปลูกพืชอื่นๆได้ด้วย นอกจากนี้เขายังเคยทำระบบน้ำหยด พัฒนาดินเลวให้กลายเป็นดินดำ ทำป่าให้อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ถ้าไม้ใช้สอยโตพอที่จะตัดได้ ก็ตั้งโรงเลื่อยและเผาถ่านไบโอชาร์ (ถ่านที่ใช้ประโยชน์เพื่อกักเก็บคาร์บอนลงดินและปรับปรุงดิน) ถ่านพวกนี้นำมาใส่ในดินบำรุงดินให้มีความชื้น ซึ่งเป็นวิธีการบำรุงดินที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ
“ผมทดลองอยู่ 6-7 ปีจึงทำสำเร็จ ถ่านไบโอชาร์ใช้บำรุงดินได้ดีมาก ส่วนไม้ใหญ่ๆ ที่ผมปลูกก็ให้เป็นไม้ติดแผ่นดินไว้ เราจะตัดทำไม ทำแค่มีอยู่มีกินก็พอแล้ว”
ครูบาสุทธินันท์ นอกจากเป็นนักทดลองตัวจริง ยังเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง รู้คุณค่าของสิ่งที่ใช้ เขาบอกว่า เวลาพูดถึงโลกร้อน พวกฝรั่งคิดกันยกใหญ่ เรื่องนี้ถ่านไบโอชาร์ช่วยในเรื่องกำจัดคาร์บอนได้
“พอมาเจอไบโอชาร์ ทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งก็สนใจ แต่ในเมืองไทยเพิ่งจะเริ่ม ผมทดลองจนหาวิธีเผาถ่านไบโอชาร์ของเราเอง ไม่แพ้ต่างประเทศ เราทำเตาขนาดใหญ่ เผาด้วยความร้อนสูงกว่าเตาเผาถ่านธรรมดา ”
2
อย่างที่กล่าวมา ครูบาสุทธินันท์เป็นนักทดลองตัวยง เมื่อมีโอกาสเดินทางเยอะ ก็เห็นโลกเยอะกว่าคนอื่น เขาเคยไปเห็นคนญี่ปุ่นเอาเบียร์เลี้ยงวัว แต่บ้านเราใครจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อเบียร์มาเลี้ยงวัว เขาก็เลยเอาพืชบางชนิดมาหมักคล้ายๆ ไวน์
“ปรากฎว่าทั้งลูกน้องผมและคนเลี้ยงวัว ไม่ยอมให้วัวกิน ชิมแล้วติดใจ พอทดลองแล้ว เราก็พัฒนาเป็นเรื่องอื่นได้ ผมเป็นนักเรียน บางเรื่องที่ทำก็เชื่อมโยงกับนักวิจัยและผู้รู้ได้ ความรู้ต้องโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทำงานร่วมกับนักวิจัย ก็ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านลิขสิทธิ์ทางปัญญาได้ อย่างเรื่องการหมักพืชผัก ส่วนการทำให้ป่าคืนมา มันยากมาก ถ้าจะให้ป่าอุดมสมบูรณ์ คงใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี”
เมื่อเขารู้ว่า ต้องใช้เวลานาน เขาก็เลยเริ่มปลูกไม้ยืนต้นตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ ป่าก็ค่อยๆ ฟื้นตัว มีพันธุ์ไม้แปลกๆ ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ผมอยากให้คนไทยมีนิสัยอย่างผม อยากรู้ อยากลองทำ ผมมีเพื่อนทุกระดับในหลายองค์กร ตอนนี้ผมกำลังทำงานถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ทรงส่งนักศึกษาที่เป็นผู้บริหารมาเรียนกับผม”
เมื่อถามถึง การทำให้ป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ครูบาสุทธินันท์ บอกว่า ในป่า มีต้นไม้ มีสัตว์ป่า เราก็จำลองธรรมชาติ เพิ่มพรรณไม้เข้าไป
“ทำแล้วมีแต่ได้ ได้เรียนรู้ ได้ชุดความรู้ใหม่ เห็นเลยว่า พระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องพออยู่พอกิน ถ้าลงมือปฎิบัติก็จะเห็นผล ถ้าเราเอาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างก็แก้ปัญหาได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็ได้แต่ทำลายป่า ปลูกอ้อย ปลูกมัน ไม่ได้ทำให้ดินดีขึ้นเลย”
3.
วัย 68 ปีของครูบาสุทธินันท์ ไม่เคยหยุดเรียนรู้เลยสักวัน เขารู้จักใช้เทคโนโลยี และมีเพื่อนหลายชาติ หลายภาษา หลายเครือข่าย ปกติเขาจะเขียนเฟสบุ๊คเรื่องราวต่างๆ วันละสามเรื่อง
“เรื่องการใช้เทคโนโลยี ตอนแรกๆ ก็ให้คนสอน จำได้ว่า ผมเคยไปประกวดการใช้ไอทีพัฒนาชนบทในต่างประเทศ ผมชนะด็อกเตอร์กว่าสองร้อยคน เพราะคนอื่นได้แต่อวดเรื่องการใช้เทคโนโลยี และการใช้โปรแกรมแต่ผมบอกว่า ถ้าคุณจะพัฒนา ต้องทำทั้งเครื่องรับและเครื่องส่ง ถ้าทำแต่เครื่องส่งไม่มีเครื่องรับก็ไม่มีประโยชน์ คุณต้องพัฒนาให้ชาวบ้านทำเป็นด้วย แม้ผมจะพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น แต่ผมคุยได้ทั่วโลก ผมมีลูกสาวเป็นล่าม เคยมีคนบอกว่า บ้านเรามีใบไม้เยอะ ทำไมไม่ผลิตเป็นจานใบไม้ ความรู้แลกเปลี่ยนกันได้ อันไหนผมไม่รู้ เขาก็แนะนำ ทำให้ความรู้เชื่อมโยงกัน อย่างผมเป็นคนปลูกต้นไม้ จะปลูกต้นอะไร กี่ปีเอามาใช้ประโยชน์ได้ ผมก็ลองผิดลองถูก ทุกเรื่องที่ทำเป็นเรื่องที่ต้องเรียน ผมไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ"
หากมีใครถามเขาว่า วันนี้เขาประสบความสำเร็จหรือยัง เขาตอบว่า
“ผมไม่มีอะไรที่เป็นความสำเร็จ มีแต่ทดลองไปเรื่อยๆ เราทดลองจนปลูกต้นยูคาลิปตัสที่ใหญ่ยักษ์ได้ ที่ผ่านเราปลูกเล็กๆ แล้วไปทำเยื่อกระดาษ เราไม่เคยทำให้มันใหญ่ โรงเรือนถ่านไบโอชาร์ ถ้าทำเป็นโครงเหล็กต้องใช้เงินห้าแสนบาท แต่ผมตัดต้นยูคาฯหกต้น ได้เสาแข็งแรงเหมือนเหล็ก ซึ่งการคิดแบบนี้ทำให้เราพบความรู้ใหม่และได้เจอเรื่องดีๆ ผมเรียนจากสิ่งรอบตัว อย่างการเลี้ยงปลา ขุดบ่อสามสี่เดือนก็จับปลาได้ แทนที่จะขายปลาตัวเป็นๆ ก็เอามาแปรรูป ผมทำเรื่องง่ายๆ ที่เหมาะกับคนจน"
โดยเฉพาะเรื่องล่าสุด ผ้าฝ้ายนาโนจากขี้แพะ เขาบอกว่า แพะกินใบไม้ ขี้ออกมาก็เอามาย้อมผ้าได้ เพราะเวลาเราย้อมผ้าก็ใช้ใบไม้ และยังสามารถพลิกแผลงเอาแก่นไม้ต่างๆ มาเพิ่มสี
“ถ้าจะย้อมผ้าฝ้ายด้วยคราม แค่นั้นยังไม่พอ ผมลองเอาขี้แพะมาย้อมผ้าฝ้าย ผมชอบทดลอง ทำเป็นผ้าฝ้ายนาโน ต่างจากที่อื่น อย่างลูกสาวคนทำผ้าย้อมครามที่สกลนคร พ่อแม่ก็ส่งลูกไปเรียนออกแบบที่ญี่ปุ่น กลับมาทำเสื้อผ้าย้อมครามไม่เหมือนกัน ทำแค่ตัวเดียว แบบเดียว คนใส่ก็ภูมิใจ”
4
นอกจากไม่ปล่อยให้ขี้แพะเป็นแค่ปุ๋ย เขายังทนดูลูกมะสังร่วงหล่นจากต้นโดยไร้ประโยชน์ไม่ได้
“คนไทยเอามะสังไปตำน้ำพริก ดอกใบกินกับลาบ นั่นเป็นมุมชาวบ้าน แต่ผมเห็นมันร่วงเต็มพื้นก็เลยเอาไปให้นักวิจัยทดลอง พบว่ามีสารบางอย่าง ผิวมีน้ำมัน ตัวยาใช้รักษามะเร็งได้ อีกเรื่องที่ผมทำคือ การเลี้ยงกบ คิดว่าจะเลี้ยงเพื่อส่งเสริมอาชีพ เลี้ยงไปเลี้ยงมา กบกับผมกลายเป็นเพื่อนกัน ผมไม่กล้ากินมัน ก็ดูแลกันไป มีความสุข กบส่งเสียงร้องทุกวัน ก็คุ้มแล้ว”
อีกอย่างที่เขานำมาโชว์คือ ผักไชยา คะน้าเม็กซิกัน คุณค่าทางอาหารสูง ปลูกง่าย เขาคิดว่าจะสนับสนุนให้คนไทยปลูกทั้งประเทศ
“ผักไชยา มาจากชนเผ่ามายา คนไม่ค่อยสนใจ ผักตัวนี้ ไม่มียาฆ่าแมลง วิตามินเยอะ ผมเคยทำราดหน้าเลี้ยงฝรั่ง ตอนนี้เพิ่งปลูกสองสามไร่ จะปลูกเป็นสิบไร่ เพื่อเป็นต้นพันธุ์ให้คนไทยปลูกทั่วประเทศ เป็นผักที่มีไว้ในครัวเรือนก็ดี ผักชนิดนี้อร่อยกว่ากระหล่ำปลีและคะน้าหลายเท่า เป็นผักเย็นๆ กรอบๆ เป็นของดี”
เมื่อพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน นักคิด นักวิชาการ ทั้งประเทศ บอกว่า เมื่อโลกเปลี่ยน ก็ต้องใส่ใจเรื่องเทคโนโลยี ขณะที่คนอื่นได้แต่พูด แต่ครูบาสุทธินันท์ลงมือทำแล้ว
“ผมมีเครือข่ายเยอะ เพื่อตามหาความรู้ คนไหนเก่งๆ ผมก็จีบมาเป็นเพื่อน แม่ใหญ่คนหนึ่งมากราบพระบรมศพ กลับไปบ้านร้องไห้ ผมก็ถามว่า ร้องไห้แล้วทำยังไงต่อ แม่ใหญ่บอกว่า จะไปปลูกต้นไม้ เพราะพระองค์ท่าน ทรงทำคุณให้แผ่นดินมากมาย อีกอย่างเวลาผมไปพูดบนเวทีไหน พูดเฉยๆ ไม่พอ ผมนำสิ่งที่ทำไปให้ดู อย่างผักไชยา ก็เอาไปแจกให้ปลูกกัน เราออกแบบไม่เหมือนใคร ”
และนี่คือวิธีคิดแบบปราชญ์ที่ด็อกเตอร์หลายร้อยหลายพันคนเข้ามาเรียนรู้กับเขา โดยพื้นที่ 600 ไร่ส่วนใหญ่เป็นสวนป่า
“ทำกินแค่สิบไร่ก็เหนื่อยแล้ว สำหรับผมความสุขสำคัญกว่าความรวย ความรวยเป็นเรื่องขี้ผง แค่ต้นยูคาลิปตัสยักษ์ต้นเดียวก็ห้าหมื่น ผมสนุกกับทุกเรื่องที่ทำ มีเรื่องให้ทำเยอะแยะ จะไปทุกข์ทำไม” ครูบาสุทธินันท์ กล่าว