'เด็กธรรมดาคือสิ่งที่สวยงาม' กระตุ้นสังคมเปิดพื้นที่ค้นหาศักยภาพตัวเอง

'เด็กธรรมดาคือสิ่งที่สวยงาม' กระตุ้นสังคมเปิดพื้นที่ค้นหาศักยภาพตัวเอง

เปิดแคมเปญ "เด็กธรรมดา...คือสิ่งที่สวยงาม" กระตุ้นสังคมไทยร่วมกันเปิดพื้นที่ให้เด็กธรรมดาค้นหาศักยภาพของตัวเอง


สานต่อโครงการไฟ-ฟ้า (FAI-FAH) ซึ่งเป็นโครงการ “ให้คืน” สังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น ภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปิดตัวแคมเปญ “เด็กธรรมดา…คือสิ่งที่สวยงาม” พร้อมปล่อย Thematic VDO เรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจที่ได้รับการจุดประกายจากศูนย์ไฟ-ฟ้า อีกทั้งกระตุ้นสังคมไทยเปิดโอกาสสร้างพื้นที่ให้เด็กธรรมดา จุดประกายให้มีพลังในการค้นหาตัวเอง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันชุมชนและสังคม ณ ศูนย์ไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียนคอลัมนิสต์ชื่อดัง เข้าร่วมงานและแบ่งปันมุมมองแนวคิดเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน โดยได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับคำว่า “เด็กธรรมดา คือ สิ่งที่สวยงาม” ว่า “สังคมปัจจุบันถือเป็นสังคมที่เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญกับความคาดหวังจากทุกทาง ทั้งความคาดหวังจากพ่อแม่ ครอบครัว สังคม ซึ่งพูดไปแล้วถือเป็นสิ่งที่มีอันตรายมาก หากคาดหวังผิดทางคือการคาดหวังในเชิงสาระที่ไปกำหนดชีวิตของเด็ก ว่าให้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะทำให้เด็กสูญเสียความเป็นตัวเอง ขาดความเป็นภูมิใจในตัวเอง ซึ่งจะส่งผลต่อตัวตนของเด็กในระยะยาว

4_8

ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากที่พ่อแม่จะควบคุมความคิดของลูก ดังนั้นพ่อแม่ควรจะคาดหวังในสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากกว่าคาดหวังเชิงสาระ สิ่งพื้นฐานที่พ่อแม่ควรให้ความสนใจ มี 3 เรื่อง นั่นคือ ทักษะในการช่วยเหลือตัวเอง ทักษะในการเอาตัวรอด และการมีอนาคตที่ใช้ได้ ซึ่งเริ่มจากทักษะในการช่วยเหลือตัวเอง เช่น ทานข้าวเอง ดูแลการบ้านตัวเอง เก็บที่นอนเอง

" สิ่งเหล่านี้อาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้คือความรับผิดชอบพื้นฐานของเด็กที่ควรจะมี อีกทั้งส่งเสริมให้เขาได้ทดลอง เรียนรู้ สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ประเมินได้ เลือกได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีกับชีวิตของเขา ส่งเสริมให้เขาได้เติบโตมีชีวิตอย่างเข้าใจ เรียนรู้ ทดลอง ล้มได้ ลุกเป็น ซึ่งทักษะเหล่านี้หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องสำคัญมากที่พ่อแม่ควรรู้และปลูกฝัง”

แม่คนเก่ง โบว์-แวนด้า สหวงษ์ แบ่งปันแนวคิดในการเลี้ยงดูลูก ว่า “โดยปกติคนเป็นแม่ แค่เรื่องเล็กๆ น้อยที่ลูกทำได้เราก็ชื่นใจแล้ว ซึ่งความคาดหวังในตัวน้องมะลิ ก็เรียบง่ายมาก คือ อยากให้เขาดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งเราไม่อยากไปกดดันเขา อยากให้เขาเติบโตและเรียนรู้ตามวัย มีความสุขกับชีวิตในแบบที่เขาเลือก โดยคนเป็นแม่ก็จะสนับสนุนและมอบโอกาสให้เขาได้เลือกชีวิตด้วยตัวของเขาเอง ในขณะที่สิ่งที่สอนเขาและอยากให้เขามีแนวคิดนี้ติดตัว คือ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต”

6_5

กาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า โครงการ ไฟ-ฟ้า (FAI-FAH) เกิดจากมุมมองที่ทีเอ็มบีต้องการคืนสิ่งดีๆ ให้กับสังคม เพื่อเปลี่ยนให้ชีวิตของคนในสังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นว่าเด็กทุกคนมีพลังและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันชุมชนไปในทิศทางที่ดีได้ จึงก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ของเยาวชนในชุมชนเพื่อเป็นสถานที่ให้เด็กๆ ใช้ในเวลาว่าง เช่น ทำการบ้าน อ่านหนังสือ พบปะเพื่อนๆ ทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับศิลปะและทักษะชีวิต โดยมีมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเปลี่ยนเด็กในชุมชนที่ขาดโอกาส มีต้นทุนติดลบค้นพบศักยภาพของตัวเองแล้วนำไปต่อยอดสร้างอาชีพให้มีชีวิตที่ดีขึ้น นอกเหนือไปจากนั้นปลายทางที่ทีเอ็มบีคาดหวังคือ เมื่อเด็กได้รับโอกาสจากศูนย์แล้ว จะเปลี่ยนเป็นผู้ให้คืนกลับสู่สังคมด้วย