ศิลปินสร้างสรรค์ สื่อปลอดภัย
“คุณเห็นอะไร ? (ในภาพนี้)”
ประโยคที่จิตแพทย์จะถามผู้รับการทดสอบหลังจากที่จิตแพทย์ยื่นภาพคราบหมึกรูปทรงประหลาดคลุมเครือให้ดู
‘การทดสอบเชิงจิตวิทยาด้วยคราบหมึกรอชแชช’ (Rorschach Inkblot Test) เป็นเทคนิคที่ใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคทางจิตที่โด่งดังในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีจิตแพทย์ชาวสวิสนามว่า เฮอร์มานน์ รอชแชช (Herman Rorschach, 1884-1922) เป็นผู้คิดค้น
ในการทดสอบแบบนี้ จิตแพทย์จะใช้ภาพคราบหมึกจำนวน 10 ภาพที่เกิดจากเทคนิคหยอดหมึกลงบนกระดาษแล้วพับให้ด้านที่ว่างเปล่าประกบแน่นกับด้านที่มีหมึก เมื่อเปิดแผ่นกระดาษออกจะเกิดภาพคราบหมึกปรากฎบนกระดาษทั้ง 2 ด้าน คราบบนกระดาษจะมีรูปร่างและคราบที่เหมือนกันแต่กลับด้าน คล้ายภาพสะท้อนบนกระจกเงา
ในการทดสอบแบบรอชแชช ผู้รับการทดสอบต้องดูภาพคราบหมึก แล้วตอบว่าเขาหรือเธอ ‘เห็นอะไรในภาพ?’ ผู้รับการทดสอบเห็นเป็นภาพอะไรจะขึ้นอยู่กับว่าผู้รับการทดสอบคิดเชื่อมโยงภาพคราบหมึกที่ดูคลุมเครือนั้นกับอะไรในใจของตนเอง
นายแพทย์รอชแชช เชื่อว่าการทดสอบนี้สามารถทดสอบบุคลิกภาพของบุคคลต่างๆ ได้ การเห็นภาพต่างๆ ในคราบหมึกเป็นการแสดงออกลักษณะบุคลิกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปรารถนาและปัญหาของบุคคลที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ อันจะช่วยให้จิตแพทย์เข้าใจผู้รับการทดสอบและนำไปสู่การเยียวยาบำบัดเขาหรือเธอได้ดียิ่งขึ้น
แม้ว่าการทดสอบเชิงจิตวิทยาด้วยคราบหมึก ‘รอชแชช’ จะถูกวิจารณ์ว่ามีปัญหาในเรื่องความแม่นยำแบบวัตถุวิสัย เนื่องจากการประเมินของผู้ประเมินการทดสอบ ยังอิงกับความเป็นอัตวิสัยของผู้ประเมินอยู่มาก
แต่สำหรับ สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินและอาจารย์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่าการสร้างภาพในลักษณะเงาสะท้อน การตีความการมองและการอ่านภาพที่คลุมเครือเพื่อหาความหมายในแนวทางแบบการทดสอบด้วยภาพคราบหมึกของรอชแชช ยังคงมีเสน่ห์และมีพลังในการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสร้างภาพและการอ่านงานทัศนศิลป์
ในผลงานชื่อ “คุณเห็นอะไร? (คารวะรอชแชช)” สุธีเชิญชวนให้คนดูได้ลองมาเป็นผู้รับการทดสอบด้วยการมองดู (ว่าเห็นอะไร) ในภาพแนว ‘คราบหมึกของรอชแชช’ ซึ่งนำภาพที่เราคุ้นตามาประกอบร่างใหม่จนแปลกตาชวนให้ฉงนสงสัยว่าเป็นรูปอะไร
รูปทรงที่คุ้นเคยถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม แยกออกเป็น 2 ฟาก ทำให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างสิ่งที่ถูกแยกออกเป็น 2 โลก เช่น โลกเก่ากับโลกใหม่ และอื่นๆ ตามแต่ละคนดูจะคิดเห็น
สุธี คุณาวิชยานนท์ เป็น 1 ใน 15 ศิลปินต้นแบบในโครงการ ศิลป์ สร้าง สื่อ โดยสมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดขึ้นโดยมุ่งหวังให้ “ศิลปะ”เป็น “สื่อ”ในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปให้ตระหนักถึงรูปแบบของสื่อที่ “สร้างสรรค์” และ “ปลอดภัย”
นอกจากผลงานศิลปะต้นแบบจาก 15 ศิลปินแล้ว ยังจะมีกิจกรรมจัดฝึกอบรม “ศิลป์ สร้าง สื่อ”ให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจศิลปะ ที่มหาวิทยาลัย 5 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ประธานโครงการศิลป์ สร้าง สื่อ กล่าวว่า
“เราเชื่อว่าศิลปะทำหน้าที่สื่อสารสิ่งเหล่านี้ได้เพราะโดยตัวงานศิลปะเองมันทำหน้าที่สื่ออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความคิด เพียงแต่ตอนนี้เรามีโจทย์เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องที่เราต้องสื่อสารให้ผู้รับมีภูมิต้านทางความเข้าใจ แยกแยะ สื่อดี กับสื่อที่เป็นพิษ ให้รับรู้ถึงสื่อปลอดภัย
วันนี้เองก็เกิดคำถามว่าวาดรูปวิวทิวทัศน์แล้วมันจะสร้างสรรค์ยังไง เราอยากให้เห็นเทคนิค ความคิดของศิลปิน เราจะให้เห็นแบบอย่าง 15 แบบ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ เยาวชนจะได้เห็นตัวอย่าง บางคนอาจสนใจเรื่องวิธีคิด ศาสนา สังคม วัฒนธรรม วิธีการถ่ายทอดความรู้สึก บางทีภาพเขียนชิ้นนี้อาจให้คำตอบเขาไม่ได้ แต่อาจพบคำตอบในผลงานชิ้นอื่นๆ เราคาดหวังว่าศิลปะจะทำหน้าที่อย่างนั้น”
โครงการ ศิลป์ สร้าง สื่อ ยังเปิดพื้นที่ให้สนทนากับศิลปินว่าด้วยเรื่องศิลปะสร้างสรรค์อย่างปลอดภัย ผ่าน Facebook page: ศิลป์ สร้าง สื่อ พร้อมเตรียมจัดทำคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางโซเชี่ยลมีเดียเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ต่อไป
สำหรับศิลปินในโครงการ “ศิลป์ สร้าง สื่อ”ประกอบไปด้วย 2 ศิลปินผู้สร้างแนวทางการสื่อสาร ได้แก่ ไพโรจน์ วังบอน และ ทรงไชย บัวชุม ศิลปินต้นแบบ 15 คน ได้แก่ สุธี คุณาวิชยานนท์ ศักชัย อุทธิโท ประสิทธิ์ วิชายะ อัฐพร นิมมาลัยแก้ว อุตสาห์ ไวยศรีแสง ชัยวุฒิ เทียมปาน มงคล กลิ่นทับ นรากร สิทธิเทศ พรรษา พุทธรักษา ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท วรรณิศา สมบูรณ์ ผดุงพงษ์ สารุโณ รักษ์สุชา ชมภูบุตร ไกรพล กิตติสิโรตม์ และ วุฒิชัย ใจเขียว
ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมฝึกอบรมของโครงการฯได้ทาง Facebook page: ศิลป์ สร้าง สื่อ