แบงก์กรุงเทพฯมอบ1แสนให้สมาคมนักเขียน-ประกาศรางวัลชมนาดครั้งที่8
แบงก์กรุงเทพฯมอบ1แสนให้สมาคมนักเขียน-ประกาศรางวัลชมนาดครั้งที่8 ไร้ผู้ได้รับรางวัล ชี้ขาดคุณภาพด้านวรรณศิลป์
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศผลตัดสินประกวดวรรณกรรม รางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) ครั้งที่ 8 ผลงานประเภท “นวนิยาย” (Fiction-Novel)
โดยรางวัลชมนาด เป็นรางวัลที่ส่งเสริมนักเขียนสตรีทั้งมืออาชีพและมือใหม่ สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ ประเภทนวนิยาย ไม่จำกัดประเภท และมีความประณีตมากพอที่จะแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่สู่สายตาผู้อ่านทั่วโลก
สำหรับผลการตัดสินการประกวดรางวัลชมนาด คณะกรรมการตัดสินฯมีมติร่วมกันว่า ในปีนี้ ไม่มีผลงานวรรณกรรมใดที่เหมาะสมจะได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ จากผลงานที่ผ่านเข้ารอบตัดสิน 6 เรื่อง โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานเตรียมนำเงินรางวัลไปใช้เพื่อพัฒนาวงการนักเขียนหญิงไทยต่อไป
ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล อดีตนายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน ประกาศผลการตัดสินรางวัลชมนาดประจำปี 2562 ว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลชมนาดประจำปี 2562 มีมติเอกฉันท์ว่า ผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้ง6 เรื่องไม่มีนวนิยายเรื่องได้ที่มีคุณภาพด้านวรรณศิลป์สมควรได้รับรางวัล อย่างไรก็ตาม ขอให้กำลังใจผู้ส่งผลงานทุกท่านที่มุ่งหวังจะเป็นนักเขียนให้ฝึกฝนสร้างสรรค์ผลงานต่อไป และอ่านผลงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพเพื่อศึกษากลวิธีทางวรรณศิลป์และพัฒนาการนำเสนอเนื้อหางานเขียนของตนเองต่อไป
“ดิฉันเป็นหนึ่งในกรรมการที่พิจารณาทั้ง6เรื่อง ในเมื่อผลการตัดสินว่าไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัล คณะกรรมการมีความเห็นตรงกันว่า เงินรางวัลในปีนี้จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาวงการวรรณกรรมไทยด้วยการสนับสนุนการอ่านการเขียนผ่านการจัดโครงการค่ายอบรมเสวนาเกี่ยวกับการพัฒนางานเขียนของนักเขียนหญิงให้แก่ผู้สนใจ รวมทั้งผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ด้วย”ดร.ถนอมวงศ์กล่าว
ขณะเดียวกัน คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ บรรณาธิการอดีตนิตยสารสกุลไทย และประธานกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลชมนาด กล่าวถึงภาพรวมของผลงานทั้งหมด 31 เรื่องที่ส่งเข้าประกวดในรอบคัดเลือก ว่า ผลงานมีหลากหลาย กรรมการสามารถแยกได้ 9 ประเภท อาทิ ชีวิตครอบครัว สังคม โหราศาสตร์ สืบสวนสอบสวน ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมเยาวชน วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม
“ภาพรวมจาก31เรื่อง เป็นนวนิยายประมาณ 80% มีพล็อต แก่น ตัวละคร บทสนทนา บรรยาย และอีก 20% เป็นแนวสมัยใหม่ ผลงานบางส่วนใช้เทคนิคศิลปะในการดำเนินเรื่องจนขาดอรรถรส และไม่น่าติดตามเท่าที่ควร เนื่องจากนวนิยายที่ดีควรมีวรรณศิลป์หรือภาษาที่บ่งบอกถึงความคมคายของผู้เขียน จึงทำให้บางเรื่องยังไม่สมบูรณ์
“ขณะเดียวกันบางเรื่องมีการเสนอมิติตัวละครที่ดีผ่านบทสนทนา แต่การดำเนินเรื่องในตอนจบก็คลี่คลายอย่างง่ายดายหรือเฉลยเรื่องราวเสียก่อน หรือนวนิยายประวัติศาสตร์ก็ยังไม่มีความกลมกลืนหรือสมจริงเพียงพอ ทำให้ผู้อ่านไม่เชื่อในตัวละคร”ประธานกรรมการรอบคัดเลือกฯเผยและว่า
หลักในงานเขียนนวนิยาย มีแก่นเรื่อง พล็อตเรื่อง วรรณศิลป์ ตัวละคร และความสมจริง ผลงานบางเรื่องแก่นกระจายออกไป มีตัวละครเรื่องหนึ่งน่าสนใจ กล้านำเสนอตัวละครโดยใช้เหตุการณ์บอก เป็นเรื่องลี้ลับ ผี สยองขวัญ ตามล่าตามฆ่า แต่ใน 5-6 ตอนก่อนจบ กลับดาวน์ลงไป มาเล่าย้อนหลัง เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
“สำหรับผลงานที่เข้ารอบ 6 เล่มสุดท้าย แต่ละเรื่องมีข้อดีและมีจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าผลงานยังไม่ไปถึงจุดที่จะได้รับรางวัล อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการขอเป็นกำลังใจให้นักเขียนที่สร้างผลงานทั้ง 6 เรื่องที่เข้ารอบสุดท้าย”คุณนรีภพกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดครั้งที่ 8 ทั้งหมด 31 ท่าน สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ในการอบรมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยผู้ที่ลงทะเบียนก่อนจะได้รับสิทธิ์ก่อน และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้กับนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในการประกาศผลรางวัลชมนาด คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) มอบเงินสนับสนุนโครงการอบรมนักเขียน จำนวน 100,000 บาท ให้กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยมี คุณกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนรับมอบ
ด้าน ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการบริหาร และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในนามธนาคารกรุงเทพฯ ร่วมสนับสนุนการประกวดรางวัลชมนาดมาหลายปี ปีนี้เป็นปีที่ 8 พบว่ามีพัฒนาการ มีความน่าสนใจเยอะขึ้นมากทีเดียว ปัจจุบันเป็นยุคที่มีการให้บทบาทและสนับสนุนสตรีมากขึ้น ขณะที่รางวัลชมนาดให้ความสำคัญกับสตรีมาก่อนหน้าที่การรับรู้ในสังคมจะแพร่หลายและเกิดเยอะขึ้น ถือเป็นเรื่องน่ายินดี
“นอกจากนี้วงการนักเขียนศิลปินมีการเปลี่ยนแปลงสูง ความสนใจของคนมีทิศทางเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นแนวคิดของประพันธ์สาส์น ที่พยายามทำให้งานเขียนซึ่งไม่ง่าย ได้ฝังรากอยู่ในสังคมไทยและยั่งยืนอยู่ได้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ในยุคสมัยใหม่คนเสพสื่อเร็วขึ้น ความพิถีพิถันความละเอียดอ่อนในการรังสรรค์งานต่างๆ เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรทำให้เกิดขึ้น ขอแสดงความยินดีกับสำนักงานพิมพ์ประพันธ์สาส์นที่เดินทางมาครบปีที่ 8 ธนาคารกรุงเทพฯยินดีที่ได้สนับสนุนงานของประพันธ์สาส์น เรามีความภูมิใจที่ทำให้รากเหง้าของความเป็นไทย ความพิถีพิถันในงานเขียนได้รังสรรค์และเกิดขึ้นสืบต่อไป”ดร.ทวีลาภ กล่าว
ทั้งนี้ ในการประกาศผลรางวัลชมนาด มีการจัดเวทีเสวนา "ชมนาดสั่งสมประสบการณ์ : ก้าวไกลสู่ผู้อ่านใหม่ในต่างเเดน" ที่กล่าวถึงการนำวรรณกรรมไทยไปเผยเเพร่ในต่างประเทศ โดยทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์ มีการจัดโรดโชว์นำผลงานไปจัดเเสดงในต่างเเดนทุกปี ซึ่งเเรกเริ่มเป็นการไปกับพวกพ้องเหล่าสำนักพิมพ์ต่างๆ ทุกวันนี้สิ่งที่สำนักพิมพ์ต้องทำคือการเข้าไปหาผู้อ่านว่าต้องการอะไร เเต่ยังคงมีอุปสรรคในการเเปลภาษา ซึ่งจะต้องมีทักษะใช้ภาษาขั้นดีเลิศ ทั้งผู้เขียนเเละผู้เเปล อีกทั้งการหาคนเเปลที่มีทักษะตรงใจกับนักเขียนนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะคนเขียนกับคนเเปลจะต้องสื่อถึงกัน ชื่นชอบวรรณกรรมนั้นเป็นทุนเดิม ก็จะทำให้เข้าใจบริบท อารมณ์เเละนัยยะที่ซ่อนอยู่ จึงจะทำงานไปด้วยกันอย่างราบรื่นเเละมีความสุขทุกฝ่ายทั้งผู้เขียน ผู้เเปลเเละกองบรรณาธิการ
รวมถึงการเปิดเวทีรางวัลชมนาด ส่งเสริมเเละพัฒนางานเขียนสตรีไทยกับเสวนาประเด็นที่กำลังกับประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในวงการวรรณกรรมอย่าง "รางวัลวรรณกรรมขึ้นอยู่กับผลงานหรือกรรมการ" นำโดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเเละดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล รองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน อดีตนายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ตัดสิน
โดยระบุว่า รางวัลวรรณกรรมขึ้นอยู่กับทั้งสองอย่าง เพราะผลงานเป็นเสรีภาพในการจินตนาการพอเข้ามาก็ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ก็เป็นสิ่งที่ต้องเคารพ แต่เมื่อพิจารณาทั้ง 2 ส่วนประกอบกันกันแล้ว เนื้อหาดีแต่ใช้รูปแบบในการนำเสนอที่มีข้อด้อย ข้อเด่นต่างกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจึงยังไม่มีผลงานที่ถึงมาตรฐานของรางวัลที่เราอยากจะให้เป็น
นอกจากนี้ ผลงานจะต้องเเตะหัวใจ อารมณ์โดนใจคนอ่านด้วย บางเรื่องเเตะหัวใจเเต่วรรณศิลป์ไม่มี ต้องพิจารณาทั้งรูปแบบเนื้อหาเเละกลวิธีนำเสนองดงามเสมอกัน สำหรับปีนี้ผลงานส่วนใหญ่ยังขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องตัดสินโดยยึดหลักการเเละมาตรฐานเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญมากในวรรณกรรมยุคดิจิทัล เล่มไหนได้รับรางวัลเราก็หวังว่าจะมีคนอ่านไปอีกหลายปี รวมถึงการได้เป็นวรรณกรรมตัวอย่างด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการประกวดรางวัลชมนาดครั้งต่อไป ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 ดร.พิสุทธิ เลิศวิไล กรรมการบริหาร สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เปิดเผย ว่า จะมีการเพิ่มเงินรางวัลจาก 70,000 บาท เป็น 100,000 บาท สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้เงินรางวัล 30,000 บาท โดยผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563