ของกินขึ้นชื่อแห่งมาเก๊า : Cafe Sab8, Lord Stow's Bakery, Nga Tim Cafe
พาชิม 3 ร้านอาหารตัวแทน ‘อาหารมาเก๊า’ : Cafe Sab8 อาหารแมคกานีสต้นตำรับ, Lord Stow's Bakery ตำนานทาร์ตไข่เจ้าแรกแห่งมาเก๊า, Nga Tim Cafe อาหารทะเลแมคกานีส
ตั้งแต่อดีตเมื่อ 400 ปีมาแล้วที่ชายชาวโปรตุเกสเดินทางไปใช้ชีวิตที่ มาเก๊า (Macau) และแต่งงานกับสาวจีน เมื่อมีทายาท ทำให้เกิดลูกครึ่งสองเชื้อชาติ เรียกว่า Macanese (แมคกานีส) คือหน้าตามีความเป็นฝรั่งแบบชาวตะวันตก ผิวเหลือง มีความสามารถสื่อสารภาษาโปรตุเกส อังกฤษ จีนกวางตุ้ง (ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดู-การศึกษา) และสร้างรูปแบบอาหารการกินขึ้นมาใหม่เป็นของตนเอง มีชื่อเรียกเฉพาะเป็นสากลว่า Macanese cuisine (อาหารแมคกานีส)
อาหารแมคกานีส เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมการปรุงอาหารจีนทางตอนใต้ หลักๆ คืออาหารจีนกวางตุ้ง เข้ากับการวัฒนธรรมอาหารแบบโปรตุเกส เกิดจากการที่แม่บ้านชาวจีนซึ่งมักเป็นภรรยาของทหารเรือชาวโปรตุเกส ตั้งใจทำอาหารยุโรปให้สามีรับประทาน แต่ไม่มีเครื่องปรุงครบตามตำราอาหารยุโรป เธอจึงทดแทนด้วยการใช้วัตถุดิบ-สมุนไพรท้องถิ่นซึ่งเป็นของจีน กับบางส่วนที่มาจากแอฟริกา อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ขมิ้น กะทิ อบเชย ปลาเค็ม กับวัตถุดิบทางอาหารอีกส่วนที่ชาวโปรตุเกสนำมาซึ่งคนจีนมาเก๊าในอดีตไม่เคยใช้มาก่อน เช่น ใบกระวาน มะพร้าวแห้ง ถั่ว ครีม นม บิสกิต กลายเป็น ‘อาหารแมคกานีส’ ที่มีลักษณะเฉพาะของมาเก๊า
หน้าร้าน Cafe Sab8
Cafe Sab8 : แมคกานีสต้นตำรับ
หากเดินชมซากประตูโบสถ์เซนต์ปอลและชอปปิงบริเวณเซนาโดสแควร์อิ่มอกอิ่มใจแล้ว ลองมองหาถนนโปรตุเกส (Portuguese Street) แล้วเดินลงบันไดไป ผนังตึกด้านซ้ายมือตรงบันไดประดับกระเบื้องลวดลายสวยงามสีขาว-น้ำเงินเห็นเด่นชัด เหมาะกับการถ่ายรูปอย่างยิ่ง
เดินไปสักระยะจะเห็นซอย Patio de Chon Sau ทางขวามือ ระหว่างอาคารในซอยนี้ประดับร่มสีแดงมากมาย ถูกใจคนชอบเก็บภาพอีกเช่นกัน ของประดับในซอยนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามฤดูหรือเทศกาล
ซอยหน้าร้าน Cafe Sab8 เป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายรูปของเมือง
ในซอยนี้มีร้านอาหารเล็กๆ ดูเรียบง่าย ชื่อ Cafe Sab8 (คาเฟ่ สับเอท) ภาษาจีนแปลว่า ‘คาเฟ่สิบแปด’ เลข 18 มีความหมายมงคลว่าร่ำรวย ร้านเปิดมาแล้ว 3 ปีโดย เชฟแซนดรา (Sandra Niza Barros) ซึ่งเกิดที่มาเก๊าในครอบครัวผู้เชี่ยวชาญการทำอาหารและทำเบเกอรี่ระดับมืออาชีพ เชฟแซนดราเป็นเชฟรุ่นที่ 3 ของตระกูล
ซาร์ดีน ทาร์ต ชิ้นละ 18 เหรียญมาเก๊า, บาคัลเยา ทาร์ต ชิ้นละ 20 เหรียญมาเก๊า
ร้านนี้ให้บริการอาหารแมคกานีสต้นตำรับ แต่ทำรูปแบบให้ร่วมสมัย กินง่าย และน่ารับประทาน เมนูต้องชิมคือ Bacalhau Tart (บาคัลเยา ทาร์ต) ดัดแปลงมาจากเมนู บาคัลเยา พาย (Bacalhau Pie) ของโปรตุเกสที่มีขนาดใหญ่ ชิ้นเดียวกินกันได้ 4-5 คน แต่เชฟแซนดราทำให้เล็กลงเป็นทาร์ตขนาดราวๆ ทาร์ตไข่
บาคัลเยา ในภาษาโปรตุเกสคือ ปลาค็อด (cod) ชาวโปรตุเกสนำปลาค็อดไปดองเกลือแล้วตากแห้ง ทำเป็นปลาเค็ม นำมาผัดปรุงรสกับหอมใหญ่ ต้นกระเทียมยักษ์ กระเทียม น้ำมันมะกอก ครีม นม เกลือ พริกไทย เป็นอาทิ ใส่ลงในกระทงแป้งทาร์ตแล้วนำไปอบ
ตัวไส้ของ ‘บาคัลเยา ทาร์ต’ จึงออกรสเค็มๆ เหมาะกินกับแป้งทาร์ต ให้ความรู้สึกเป็นของกินประเภทอาหารคาว คล้ายๆ กับ Sardine Tart (ซาร์ดีน ทาร์ต) ที่ใช้เนื้อปลาซาร์ดีนปรุงเป็นไส้ทาร์ต
Samosa Pork, Macanese Shrimp Toast
ยังมี Macanese Shrimp Toast (12 เหรียญมาเก๊า/ชิ้น) กุ้งสับปรุงรส ห่อด้วยขนมปังตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนำไปทอดจนสุกเหลืองสวย และ Samosa Pork (10 เหรียญมาเก๊า/ชิ้น) หมูสับผสมมันฝรั่ง หอมใหญ่ ถั่ว เครื่องเทศ ห่อด้วยแผ่นแป้ง คล้ายๆ กินปอเปี๊ยะ
เดินเหนื่อยๆ มานั่งพักชิมอาหารแมคกานีสชิ้นเล็กๆ แกล้มกับเครื่องดื่มก็มีให้เลือกทั้ง กาแฟ ชา ช็อกโกแลต นม ซอฟต์ดริ้งค์ ไปจนถึงแอลกอฮอล์ประเภทไวน์และเบียร์
มินจิ, 65 เหรียญมาเก๊า
หรืออยากชิมแบบอิ่มท้อง ก็มีอาทิ Minchi (มินจิ) เป็นอาหารแนะนำอีกหนึ่งรายการสำหรับการชิมอาหารแมคกานีส วัตถุดิบหลักคือ หมูสับ (หรือเนื้อสับ) ผัดกับมันฝรั่งหั่นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เครื่องเทศ กระเทียม หอมแดง ซอสเปรี้ยว ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ ราดบนข้าวสวยแล้วโปะด้วยไข่ดาว ลูกครึ่งแมคกานีสล้วนได้กินทุกบ้าน รสชาติคล้ายผัดกะเพราบ้านเรา แต่ไม่เผ็ด
อาหารแมคกานีสในร้าน Cafe Sab8 เป็นสูตรประจำบ้านของเชฟแซนดราซึ่งคุณแม่ทำให้รับประทานมาตั้งแต่เธอเป็นเด็ก
ร้าน Lord Stow's Bakery ทาร์ตไข่ร้านแรกของมาเก๊า
Lord Stow's Bakery : ตำนานทาร์ตไข่เจ้าแรกแห่งมาเก๊า
ไปมาเก๊า..โดยเฉพาะคนไปมาเก๊าครั้งแรก ถ้าไม่ได้กิน ทาร์ตไข่(Egg Tart) ร้าน Lord Stow's Bakery (ลอร์ด สโตว'ส เบเกอรี่) เหมือนไปไม่ถึงมาเก๊า
ส่วนตัวผู้เขียนชิมแล้วสมคำร่ำลือ ตัวทาร์ตที่ดูเหมือนหนาหนัก จริงๆ เป็นแป้งแผ่นบางๆ เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ด้วยความบางกริบ กัดคำแรกจึงมีความกรอบ ความกรอบของแป้งที่เรียงซ้อนกันกลายเป็นความเบาและนุ่ม สิ่งที่เป็นน้ำหนักของทาร์ตไข่กลับเป็นไส้คัสตาร์ดเนื้อเนียนละเอียด-รสชาติเข้มข้นแต่ไม่หวานจนเกินไป ใส่มาให้เยอะมาก ไม่แปลกใจเลยที่พอบอกใครว่าจะไปมาเก๊า ก็มักให้ซื้อทาร์ตไข่มาฝากด้วย
ทาร์ตไข่ร้าน Lord Stow's Bakery ทาร์ตไข่เจ้าแรกของมาเก๊า
ความจริงผู้ก่อตั้งร้าน ลอร์ด สโตว'ส เบเกอรี่ เป็นชาวอังกฤษ ชื่อ มร.แอนดรูว์ สโตว (Andrew Stow) เรียนมาทางด้านเภสัชศาสตร์ เดินทางไปมาเก๊าเพื่อทำงานเป็นเภสัชกรที่ปฏิบัติงานด้านเภสัชกรรมอุตสาหการในปีพ.ศ.2522
5 ปีต่อมา มร.แอนดรูว์เริ่มทำธุรกิจของตัวเอง โดยปิดบริษัทขายอาหารเพื่อสุขภาพเขตร้อนชื้น ระหว่างนั้นเขาพบว่าบริษัทกลับต้องนำเข้าอุปกรณ์และวัตถุดิบมากมายเพื่อทำขนมปัง แสดงว่าคนมาเก๊านิยมกินขนมอบแบบตะวันตก
ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจเปิดร้านเบเกอรี่บนเกาะโคโลอาน (Coloane Island) ของมาเก๊า ทำขนมเค้กและขนมปังแบบยุโรปขาย โดยตั้งชื่อร้านว่า 'ลอร์ด สโตว'ส เบเกอรี่' เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2532 ตามชื่อที่ชาวโปรตุเกสในมาเก๊าเรียกขานเขาว่า 'ลอร์ด สโตว' เนื่องจากในเวลานั้นเขาเป็นชาวอังกฤษเพียงคนเดียวที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ธุรกิจเบเกอรี่ก็ไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งเขาคิดอยากเพิ่ม ทาร์ตไข่โปรตุเกส (Portuguese Egg Tart) หรือ Pastel de Nata เข้ามาจำหน่ายในร้าน แต่ไม่มีสูตร จึงทดลองสูตรด้วยตัวเอง หลังจากลองผิดลองถูกอยู่ 5 ครั้ง ก็สามารถคิดสูตร ทาร์ตไข่ เป็นของเขาเองได้สำเร็จ
ทาร์ตไข่สูตรมร.แอนดูรว์ ตัวทาร์ตเป็นแบบโปรตุเกส แต่ไส้คัสตาร์ดดัดแปลงมาจากคัสตาร์ดแบบอังกฤษ
เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากๆ เพียงวางจำหน่ายไม่กี่เดือน ชาวจีนท้องถิ่นของมาเก๊าพากันไปรอเข้าแถวหน้าร้านเพื่อซื้อทาร์ตไข่ บรรดาสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มเขียนถึงมร.แอนดูรว์ และเบเกอรี่ของเขาก็กลายเป็นหนึ่งในแผนที่ท่องเที่ยวมาเก๊าในปีพ.ศ.2533
แค่เพียงปีเดียวที่เปิดร้าน ทาร์ตไข่ของ Lord Stow's Bakery ก็โด่งดังมาจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 30 ปีแล้ว
นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาซื้อทาร์ตไข่หน้าร้าน Lord Stow's Bakery ร้านแรกของมาเก๊าตลอดทั้งวัน
หลายคนคงอยากรู้ ทาร์ตไข่ร้านลอร์ด สโตว'ส เก็บได้นานกี่วัน หิ้วขึ้นเครื่องบินกลับมาแล้วยังอร่อยหรือไม่
ข้อมูลของร้านระบุว่า ทาร์ตไข่ของเขาจะอร่อยที่สุดหากกินภายใน 6 ชั่วโมงหลังซื้อไปแล้ว เนื่องจากไม่ใส่สารกันบูดจึงเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 3 วัน และแม้หยิบออกจากตู้เย็นแล้วกินทันทีก็ยังอร่อย (ผู้เขียนลองแล้ว อร่อยจริงแบบเย็นๆ ตัวแป้งทาร์ตไม่แห้งแข็ง) ดังนั้นซื้อแล้วหิ้วขึ้นเครื่องบินกลับมาเป็นของฝากคนทางบ้านได้แน่นอน
แต่ถ้าอยากอุ่นให้ร้อน แนะนำให้ใช้ ‘เตาอบ’ ตั้งความร้อน 200 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 3-4 นาท่ี ห้ามอุ่นในไมโครเวฟ
บรรยากาศภายในร้าน Lord Stow's Bakery ร้านแรก, ขายอย่างเดียว ไม่มีที่นั่งรับประทาน ด้านในร้านเป็นพื้นที่อบขนม
ร้าน ลอร์ด สโตว'ส เบเกอรี่ สาขาแรกบนเกาะโคโลอานยังคงเปิดบริการ หน้าร้านคับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยว ร้านเป็นตึกแถวแคบๆ ไม่มีที่นั่ง นักท่องเที่ยวนิยมซื้อ ถ่ายรูป..แล้วกินที่หน้าร้านเพื่อให้ได้บรรยากาศ และซื้อใส่ถุงกลับบ้าน
หากไม่มีเวลาไปเกาะโคโลอาน ร้านลอร์ด สโตว'ส เบเกอรี่ ก็ยังมีสาขาอยู่ใน เดอะ เวเนเชียน มาเก๊า (The Venetian Macao) กับถนนคุนย่า (Cunha) ถนนสายอาหารในเขตไทปา (Taipa)
บรรยากาศโต๊ะนั่งบริเวณทางเดินข้างร้าน Nga Tim Cafe
Nga Tim Cafe : อาหารทะเลแมคกานีส
อาหารทะเลก็สามารถนำมาปรุงเป็นสไตล์อาหารแมคกานีสได้เช่นกัน หนึ่งในร้านที่ปรุงอาหารทะเลสไตล์แมคกานีสที่มีชื่อเสียงของมาเก๊าคือร้าน Nga Tim Cafe (หง่า ทิม คาเฟ่) ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่าริมทะเลของมาเก๊าบนเกาะโคโลอาน ตัวร้านมีลักษณะเป็นตึกแถวโบราณอยู่ด้านซ้ายมือทางเดินเข้าโบสถ์เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ เดินมาได้ไม่ไกลจากร้านทาร์ตไข่ ลอร์ด สโตว’ส เบเกอรี่
ที่นั่งมีทั้งแบบในห้องและริมระเบียงทางเดินมีหลังคา บรรยากาศคล้ายนั่งกินร้านข้าวต้มกุ๊ยย้อนยุคบ้านเรา
Sauna Prawns ร้าน Nga Tim Cafe
อาหารจานเด็ดที่ ‘การท่องเที่ยวมาเก๊าประจำประเทศไทย’ แนะนำคือ Sauna Prawns (188 เหรียญมาเก๊า) พ่อครัวนำกระทะร้อนที่มีก้อนกรวดกลมสีดำวางเรียงเต็มก้นกระทะไปอบจนร้อนฉ่า วางกุ้งทะเลบนก้อนกรวด แล้วเทน้ำซุปผสมเหล้าจีนลงไป ความร้อนของตัวกระทะและก้อนกรวดทำให้น้ำซุปเดือดพล่านทันที สมชื่อเมนู ‘กุ้งซาวน่า’ พ่อครัวปิดกระทะร้อนด้วยฝาที่ทำจากกระดาษฟอยด์ รอจนน้ำซุปเดือดระเหยไปหมด เปลือกกุ้งสีขาวเปลี่ยนเป็นสีส้มสดใส บริกรยกมาเสิร์ฟทั้งกระทะร้อน ชิมแล้วเนื้อกุ้งสุกกำลังดี กุ้งสดเนื้อสุกหวาน มีกลิ่นหอมเหล้าจีนนิดๆ
Crispy and Spicy Crab
ตามด้วย Crispy and Spicy Crab (ราคาตามน้ำหนักปู) ปูทะเลตัวโตหั่นชิ้น่โตๆ คั่วกระทะมาแบบแห้งๆ กับเครื่องเทศหลายชนิด อาทิ กระเทียมเจียวจำนวนมาก หอมใหญ่ พริก ต้นหอม จานนี้เนื้อปูสดหวาน หรือแค่ตักเครื่องเทศในจานกินกับข้าวสวยก็อร่อยแล้ว
อาหารจานปลาก็มี Baked Perch Portuguese Style (120 เหรียญมาเก๊า) ปลาเพิร์ชยุโรปเนื้อสีขาวนึ่งซีอิ๊วแบบจีน เนื้อปลานุ่ม ซีอิ๊วปรุงรสในจานก็อร่อย แม้แต่ใบต้นหอมจำนวนมากที่รองตัวปลา ก็นุ่มและรสชาติดี กินได้ไม่เผ็ดลิ้น
หมี่เหลืองผัดเนื้อ
อาหารจีนขึ้นชื่อด้านอาหารประเภทเส้น ไม่ผิดหวังเช่นกันสำหรับ หมี่เหลืองผัดเนื้อ (80 เหรียญมาเก๊า) หมี่เหลืองเส้นกลมผัดกับเนื้อเทนเดอร์ลอยน์สไลซ์ผัดซอสพริกไทยดำ เนื้อนุ่ม รสชาติเข้มข้น
ผักบุ้งผัดกระเทียม
หอยกาบผัดเต้าเจี้ยว
'หง่า ทิม คาเฟ่' ยังมีอาหารให้เลือกอีกหลายอย่าง เช่น ผัดผักบุ้ง (45 เหรียญมาเก๊า) เป็นผักบุ้งสายพันธุ์ Water Spinach สั่งมาจากเมืองจีน แค่ผัดกับกระเทียมใส่น้ำซุป ก็อร่อยแล้ว พ่อครัวผัดได้นุ่มมาก รสชาติไม่เค็มจนเกินไป, หอยกาบผัดเต้าเจี้ยว (98 เหรียญมาเก๊า) คล้ายๆ หอยลายบ้านเรา แต่ตัวใหญ่กว่าเล็กน้อย ผัดกับเต้าเจียวใส่พริกนิดหน่อย
อาหารจานใหญ่ เหมาะสำหรับไปกันหลายคน, (ภาพขวา) บริกรรินเครื่องดื่ม ‘แซงเกรีย’
เครื่องดื่มเด่นๆ ยกให้ แซงเกรีย(sangria) ไวน์แดงโปรตุเกสแล้วหั่นผลไม้ตามฤดูกาลลงไป ทำเป็นไวน์พันช์, กับ น้ำอ้อย คั้นสดๆ รสชาติเป็นธรรมชาติไม่หวานมาก เพราะไม่ได้เติมน้ำตาล เหมาะกับอากาศร้อนๆ ต้นเดือนกันยายนของมาเก๊า
------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :-
ขอบคุณ ‘การท่องเที่ยวมาเก๊าประจำประเทศไทย’ www.macaotourism.gov.mo
Cafe Sab8 ตั้งอยู่เลขที่ 10 R/C A, ซอย Patio de Chon Sau ถนนโปรตุเกส, เวลาเปิดบริการ 12.00-20.00 น. ปิดทุกวันจันทร์ www.facebook.com/Cafesab8
Lord Stow's Bakery ร้านแรกตั้งอยู่เลขที่ 1 Rua do Tassara จัตุรัสเมืองโคโลอาน เกาะโคโลอาน www.lordstow.com
Nga Tim Cafe ตั้งอยู่เลขที่ 8, Rua Caetano หมู่บ้านโคโลอาน เวลาเปิดบริการ 12.00-01.00 น. โทร.+853 2888 2086