Don’t Multitask!
Multitask กลายเป็นเรื่องปกติที่ต้องพบในชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยเฉพาะยุคดิจิตัลที่เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือไปพร้อมๆ ทำสิ่งอื่นไปด้วย แต่มันคงไม่ดีนัก หากเราไม่สามารถโฟกัสไปกับอะไรได้สักอย่างหนึ่ง
ผมกดหมายเลข 2 เพื่อจะขึ้นลิฟต์ไปห้องพัก มีผู้ชายผมทองคนหนึ่งยืนรออยู่ใกล้ ๆ ท่าทางเหมือนนักธุรกิจระดับผู้นำองค์กร
เขากำลังทำสิ่งที่พวกเราทุกคนทำในยุค Digital นั่นคือ เล่นกับโทรศัพท์
ประตูลิฟต์เปิด ผมก้าวเข้าไป เขาก็ยังยืนกดอะไรง่วนอยู่ กระทั่งประตูเริ่มปิดจึงได้รู้สึกตัว เอื้อมมือมาบล็อคพร้อมกับก้าวเข้ามาด้านใน
ผมยิ้มให้ แต่เหมือนเขาไม่เห็นด้วยซ้ำ เจ้าตัวหยิบคีย์การ์ดออกมาแตะ แล้วกดชั้น 6
เสียงดังติ๊ง ผมก้าวออกจากลิฟต์แล้วเลี้ยวขวาไปทางห้องของผม ซึ่งอยู่ไกลออกไปพอสมควร
เดินมาสักพัก ได้ยินเสียงฝีเท้าจากด้านหลัง ประหลาดใจนิดหน่อย เพราะจำได้ว่าเค้าคือคนเดียวกับที่อยู่ในลิฟต์กับผมตะกี้ ถ้าอยู่ใกล้กันอีกสักนิด ผมอาจจะชวนคุย ซึ่งไม่รู้เค้าจะคุยกับผมหรือเปล่า เพราะทั้งสองมือก็ยังถือโทรศัพท์อยู่ หน้าก็ยังก้ม และนิ้วยังพิมพ์อะไรอยู่
ผมหยุดหน้าห้อง เอาการ์ดออกมาเสียบ ประตูเปิดแล้ว แต่สมองยังแอบสงสัยคนที่เดินตามมา จึงรีรออยู่ไม่ก้าวเข้าห้อง ฝรั่งคนนั้นเดินเลยผมไปสักสองสามห้อง แล้วหยิบการ์ดออกมาเสียบบ้าง เขาทำหน้าฉงน ดึงออกแล้วเสียบใหม่อีกครั้ง ไฟหน้าประตูก็ยังแดง
เจ้าตัวจุ๊ปากจึ๊กจั๊กอย่างหงุดหงิด ล้วงกระเป๋าออกมาหยิบการด์อีกใบมาลอง ก็ยังไม่สำเร็จ
คุณผู้อ่านคงทราบแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ผมยังอดปากไม่ได้
"Excuse me. Are you on the right floor?" ผมชะโงกหน้าออกไปถามเขา
"No! I'm on the wrong bloody floor!" ห้องผมไม่ได้อยู่ชั้นนี้ นั่นคือเหตุผลที่การ์ดของเขาไม่เวิร์ค
ผมเคยเห็นอาการเหวออย่างนี้จากคนอื่น ๆ มาบ้าง เช่นก้าวออกจากลิฟต์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือเลี้ยวไปห้องผิดทางเพราะใจลอย กับตัวเองก็ทำบ่อย
แต่เลยเถิดขนาดชายคนนี้ ไม่เคยเจอมาก่อน
How did it happen? คำตอบง่ายมาก Multitasking
- ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง
1. Multitask is a myth สิ่งที่ทำให้ผู้นำสมองจี๊ดในใจคือเวลาผู้บริหารหรือ HR บอกให้คนในองค์กรทำงานหลาย ๆอย่างในเวลาเดียวกัน การเปิดอีเมล์พร้อมกันครั้งละ 20 tab ไม่ได้แปลว่าเรากำลังทำทุกอย่างพร้อมกัน สิ่งที่เราเรียกว่า Multitask จริง ๆ คือการ Switch Task ต่างหาก เราแค่เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนโฟกัสกลับไปกลับมา จากเมื่อก่อนครึ่งชั่วโมงครั้ง ก็ขยับเป็นห้านาทีครั้ง จนเดี๋ยวนี้ในยุคแห่งดิจิตัล ผมว่าเราน่าจะหยิบมือถือมาดูเป็นรายวินาทีได้
2. Autopilot สมองมนุษย์ไม่สามารถคิดสองอย่างในเวลาเดียวกันได้ พอเรามีเรื่องหนึ่งให้คิด งานที่เหลือก็ต้องทำโดย ‘ไม่คิด’ ไปโดยปริยาย ดังเหตุการณ์ข้างต้นคือพอคุณฝรั่งคนนั้นแก engrossed ในการเล่นมือถือ พลังงานสมองทั้งหมดจึงโฟกัสไปที่นั่น จนไม่สามารถสังเกตหรือสนใจได้เลยว่าลิฟต์ถึงชั้นไหนแล้ว พอประตูเปิดความคุ้นชินก็บอกให้ก้าวออก ยิ่งมีผมเดินนำยิ่งง่ายใหญ่ คุณไปไหนผมไปด้วย จนเลี้ยวตามกันไปถึงหน้าประตูห้อง จนหยิบกุญแจออกมาไข สมองก็ยังไม่สามารถคำนวณได้ว่าเฮ้ย นี่ไม่ใช่ห้องเรา ผมแอบคิดขำ ๆ ว่าถ้าเกิดแกไขเข้าไปได้ หรือหากห้องบังเอิญไม่ได้ล็อค เขาอาจเข้าไปอาบน้ำอาบท่า ขึ้นเตียงนอนก่อนเจ้าของห้องตัวจริงจะกลับมาก็ได้
3. Increase your strength to switch task ผมได้รับเกียรติให้ไปร่วมแชร์เรื่อง The Future of Leadership in The Digital World ในงาน CLMVT Leadership Programme หลังจากพูดจบมีโอกาสนั่งฟังท่านผู้ว่าแบงค์ชาติ ดร.วิรไท สันติประภพ พูดกับผู้ร่วมงาน ซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งแบงค์และสื่อต่าง ๆ เต็มห้อง มีผู้ฟังคนหนึ่งถามคำถาม (อันยาวเหยียดและหลายชุดรวมกัน) พอท่านผู้ว่าให้คำตอบเสร็จ Moderator ก็เตรียมจัดแจงกล่าวปิดงาน แต่ ดร.วิรไท เรียกไว้ให้หยุดก่อน แล้วบอกว่า I haven’t answered her second question yet
ผมทึ่งมากเพราะเวลานั้นร่วมสองทุ่มแล้ว และทุกคนล้วนเหน็ดเหนื่อยสมองล้าจากการประชุมมาทั้งวัน พิธีกรเองก็ลืมแล้วว่าคำถามยังตอบไม่ครบ คนฟังก็ลืมแล้ว กระทั่งคนถาม ผมว่าเผลอ ๆ ก็ลืมแล้วว่าตัวเองได้ถามไว้ แต่ท่านผู้ว่าไม่ยักลืม นอกจากท้วงไว้แล้วยังตามกลับมาตอบได้จนครบ แสดงถึง Resiliency ของสมองท่านในการรับมือกับ Task Switching อันหนักหน่วง
ส่วนใครอยากรู้ว่าต้องฝึกสมองอย่างไรจึงจะแข็งแกร่งเช่นนั้น ให้ยกมือถามท่านได้เลยในโอกาสหน้าครับ!
----------
*หมายเหตุ เนื้อหาจากคอลัมน์ Leading Out of Thailand โดย ดร.ธัญ ธำรงนาวาสวัสดิ์ *