'T-POP' สู่ท็อปชาร์ต ยุทธศาสตร์ชาติ(นี้)?
สำรวจกระแสละครไทยในต่างประเทศ กับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่รอคอย
การไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างชาติผ่านยุทธศาสตร์การส่งออกทางวัฒนธรรมที่วางแผนมาอย่างดี ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเข้มข้นของประเทศเกาหลี ทำให้ กระแส K-Pop แทรกซึมเข้ามาจับใจวัยรุ่นไทย เกิดเป็นแฟนคลับกลุ่มใหญ่ผ่านช่องทางละคร นักแสดง และสื่อบันเทิง ความหลงใหลคลั่งไคล้จะพุ่งสูงสุดทุกครั้งที่มีศิลปิน K-Pop เดินทางเข้ามายังประเทศไทย นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นการวางแผนอย่างเป็นระบบ และถ้าถือว่านี่คือ Soft Power รูปแบบหนึ่ง บันเทิงไทยจะสร้าง Thai Wind หรือ "T-pop" ได้บ้างหรือไม่
- ละครไทยในอาเซียน
ในแวดวงคนทำละคร เป็นที่รู้กันว่าประเทศเพื่อนบ้านนิยมชมชอบละครไทยมาก ถึงกับเอาไปแปลเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี มีทั้งละครไทยพากย์เสียงไทยใหญ่ในพม่า พากย์เสียงม้งในลาวแล้วส่งต่อไปให้คนม้งในประเทศอเมริกาด้วย บ้านหลังหนึ่งในรัฐฉานถึงกับปรับปรุงให้เป็นโรงหนังฉายละครไทยแล้วเก็บค่าเข้าชมคนละ 2-3 บาท นอกจากนี้ละครไทยยังถูก Copy เป็น CD จำหน่ายอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการจัดการ
"ละครไทยกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของเพื่อนบ้าน เหล่านี้คือตลาดแบบเก่า อัดกันเอง ดูกันเอง การไหลออกไปของละครไทยเกิดขึ้นมาอย่างบังเอิญ ไม่มีการวางแผนใดๆ กระแสบริโภคละครไทยต่างกันไปภายใต้บริบทของสังคมแต่ละประเทศ แต่ละวัฒนธรรมและค่านิยมของประเทศนั้นๆ
ในเวียดนามช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา นำเข้าละครไทยมากขึ้น จากเดิมมีแต่ เอ็กแซ็กท์ ช่อง One ในช่วง 4-5 ปีหลังเริ่มมีช่อง 3 ช่อง true4u นำไปฉายช่วงไพร์มไทม์และรีรัน 10 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น คนเวียดนามจะดูแต่ดาราที่เขาชอบ เช่น ป้อง ณวัฒน์, บี น้ำทิพย์, พุฒิชัย, ออม สุชาร์
อินโดนีเซีย มีเพียงบริษัทเดียวที่ส่งนักแสดงไปโปรโมทต่างประเทศ คือ GDH ทำให้มีแฟนคลับอินโดฯเยอะมาก ทั้งที่มีละครไทยเพียง 2 เรื่องที่เคยไปฉาย นั่นคือ ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น และเอทีเอ็ม2 คู่เวอร์ เออเร่อ เออรัก ความดังเริ่มต้นจากแฟนคลับเอาไปแปล เมื่อนำเข้าอย่างถูกลิขสิทธิ์ก็ถูกเซ็นเซอร์จนเนื้อเรื่องขาดหาย อินโดฯมีการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดมาก
ในประเทศจีน ยุคทองละครไทยปี 51-54 ได้จบลงแล้ว ช่วงนั้นฉายละครไทย 10 เรื่องต่อ 1 ปี รีรัน 3-4 รอบ มาปี 55 ละครไทยทางทีวีก็หมดยุคลง เพราะจีนมีนโยบายปกป้องอุตสาหกรรม มีการจำกัดโควตาละครไทย และว่าละครไทยมีเนื้อหาซ้ำๆ ไม่มีการพัฒนา อีกทั้งจีนมีการเซ็นเซอร์มากมาย ไม่ว่าเรื่องความเชื่อ ศาสนา ภูตผีวิญญาณ ไสยศาสตร์ เพศที่สาม การเมือง สลับร่าง ข้ามภพข้ามชาติ ระยะหลังละครไทยถูกย้ายเวลาไปฉายตอนเที่ยงคืนจึงไม่มีคนดู มาปี 61 ละครก็เปลี่ยนไปแพร่ภาพทางอินเตอร์เน็ทอย่างเดียว
ส่วนฟิลิปปินส์ เพิ่งเปิดรับละครไทย 2 เรื่อง เกิดจากแฟนคลับเอาไปแปลกันเอง เรื่อง พรหมไม่ได้ลิขิต ยูอาร์มายเดสตินี่ และ เรื่องวุ่นๆ เจ้าหญิงจอมจุ้น มีเรทติ้งสูงกว่าละครเกาหลีที่ฉายในเวลาเดียวกัน" ผศ.ดร.อัมพร จิรัฐติกร ผู้วิจัยศึกษาการบริโภคละครไทยในประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนาม กล่าว ในงานระดมสมองหัวข้อ 'แนวทางการส่งเสริมละคร สื่อบันเทิง และนักแสดงไทยไปสู่สากล' พร้อมเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล ทำให้มีการร่วมมือกันผลิตและออกอากาศทาง Line TV แพร่ภาพทางอินเตอร์เน็ท ทำให้เกิดตลาดใหม่ๆ ขึ้นมา
- ภาพสะท้อนละครไทย
แม้ว่าหลายประเทศในอาเซียนจะให้ความสนใจกับละครไทย รวมไปถึงมีรายการต่างๆ ถูกนำไปแปลเป็นจำนวนมาก อาทิ เดอะแมสซิงเกอร์, เดอะเฟซ, ละครจักรๆ วงศ์ๆ, ซีรีส์วาย ที่มียอดดูหลักแสน แต่ถ้าพิจารณาถึงรสนิยมการชมละครจะพบว่าแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ชาวเวียดนามชอบละครไทยที่มีไคลแม็กซ์แรงๆ และว่าความรักแบบเกาหลีซอฟท์เกินไป ละครไทยมีตัวอิจฉา มีนางร้าย
"ในจีนจะดูจากอินเตอร์เน็ทเป็นส่วนใหญ่ มีแฟนคลับแปลละครไทยถึง 16 กลุ่ม คนจีนดูละครไทยแล้วเปลี่ยนเป็นเรื่องตลกขบขัน แม้จะไม่มีพัฒนาการ แต่ก็ดูต่อเพราะดาราหน้าตาสวยหล่อ มีคำพูดว่า ดูละครไทยไม่ต้องใช้สมอง ยกตัวอย่างรถชน ทำไมไม่โทรเรียก 191 กลับมานั่งร้องไห้ หรือว่ากระซิบกัน แต่เสียงดังมาก ทำไมคนอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้ยิน (หูหนวกแบบไทย) หรือว่ายืนอยู่ใกล้ๆ แต่ทำเป็นมองไม่เห็น (ตาบอดแบบไทย) การตบกันแบบไทยๆ (ของปลอมแบบไทย)" วนิดา บุญประเสริฐวัฒนา ผู้จัดจำหน่ายอาวุโส บริษัท ฮัน มีเดีย คัลเจอร์ จำกัด เล่าประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับแฟนละครต่างชาติ และว่า 'สาววายจีน' เป็นตลาดที่ใหญ่มาก แม้ว่าผลจากนโยบายลูกคนเดียวจะทำให้พ่อแม่คาดหวังให้มีลูกสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่ก็มีกลุ่มแฟนซับที่แปลซีรีส์วายได้รับความนิยมมากเป็นอันดับหนึ่ง มียอดวิวถึง 2 ล้าน
"จีนชอบซีรีส์วายของไทยเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับในรั้วโรงเรียน มีความสัมพันธ์แบบรุ่นน้องรุ่นพี่ที่จีนไม่มี ซีรีส์วายของไทยมีจุดเด่นตรงที่เป็นเพียวเลิฟ ตัวละครแสวงหาการยอมรับในตัวเอง ต้องก้าวข้ามสังคมที่กดทับ ตัวละครมีการพัฒนา ตัวละครใช้เวลาอยู่ด้วยกันจนกระทั่งเริ่มเถียงหรือผูกพันกัน" ต่างจากฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาทอลิกบอกว่าเกย์ผิดจุดประสงค์ของพระเจ้า ในขณะที่อินโดนีเซียมองว่ารักร่วมเพศเป็นบาปมหันต์
ส่วนอีกแนวที่ได้รับความนิยมคือ ละครรีเมค ไม่ตบตี ไม่ชิงรักหักสวาท เป็นแนวที่ดูแล้วเข้าใจว่าลักษณะครอบครัวเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่า จีน ฟิลิปปินส์(คริสต์) อินโดนีเซีย(มุสลิม) ต้องการเรื่องที่เป็นอุดมการณ์ความรักหรือแสวงหาตัวตนมากกว่าแสวงหาความรักอย่างเดียว ทำให้ละครเรื่อง 'วันหนึ่งจะเป็นซุปตาร์' หรือ 'หวนดอกไม้' มียอดวิวถึง 900 ล้านวิว
สำหรับอุปสรรคของละครไทย วนิดาบอกว่าคือความยาวที่มากกว่าละครเพื่อนบ้าน เมื่อนำไปตัดต่อเป็นตอนละ 45 นาทีจะได้ 37 ตอนในต่างประเทศ
"คอนเทนท์ไทยจะเป็นเรื่องเมโลดรามาเป็นส่วนใหญ่ มีแก่นเรื่อง พัฒนาให้สร้างอารมณ์ สร้างตัวร้ายให้ร้ายมาแต่กำเนิด ตัวเอกสร้างให้ถูกกระทำ อุดมการณ์ความรักร้อยเข้ากับอุดมการณ์เชิงศีลธรรม คนดูรุ่นใหม่ไม่รับอุดมการณ์เหล่านี้แล้ว แต่กลับเป็นที่ชื่นชอบของต่างชาติ เวียดนามบอกว่าดูซีรีส์เกาหลีตอนจบคนร้ายถูกจับเข้าคุกมันไม่สะใจ ถ้าเป็นของไทย You Must Die มันสะใจมาก หรือเขมรบอกว่าไม่ชอบละครเกาหลีเลย ชอบเก็บอารมณ์เอาไว้ในใจเกินไป ไม่เศร้ามาก ไม่ดีใจมาก คนเขมรว่าเข้าไม่ถึง แสดงไม่ชัดเจน ชอบของไทย ชัดเจนดี ส่วนฟิลิปปินส์บอกว่าไทยมีเรื่องกฎแห่งกรรม แต่ของเขาพระเจ้าสอนให้เขาให้อภัย แต่ละประเทศมีเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ของเกาหลีถ้าเขาจะไปบุกตลาดที่ไหน เขาจะศึกษาตลาดของประเทศนั้นๆ อย่างจริงจัง"
- ละครไทยในยุคดิจิทัล
ยุคเฟื่องฟูของการดูละครผ่านโทรทัศน์ได้ผ่านไปแล้ว ปัจจุบันคนดูละครผ่านทางอินเตอร์เน็ทมากขึ้น และกำลังมีระบบที่ดูได้พร้อมกันทั่วโลกจากผู้ผลิตด้วย นี่เป็นทั้งอุปสรรคและความท้าทาย คำถามคือจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมละครไทยก้าวไปข้างหน้าในตลาดที่ใหญ่กว่าขอบเขตประเทศไทย
"ถ้าอยากเติบโตจริงๆ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องหันมามองว่ามันมีประโยชน์กับประเทศมาก ทุกๆ ประเทศเขาส่งเสริมในเรื่องนี้ ทำให้เกิดศักยภาพและประโยชน์ต่อกับประเทศมากจริงๆ เราเป็นองค์กรเล็กๆ ต้องเดินเองทำเอง ไปขอเงินจากคนนั้นคนนี้่มา ต่างจากประเทศอย่างเกาหลีเขามีเงินมีมุมมองว่าเอาเงินให้แล้วมันจะกลับเข้ามาในประเทศมากกว่า ถ้าเราทำได้ สิ่่งนี้จะย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เพราะหนึ่งถ่ายทำในไทย สองวัฒนธรรมไทยออกสู่สายตาอารยประเทศ ดาราไทย บุคลากรไทย ได้แสดงศักยภาพ นี่คือแม่เหล็กที่ดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามา ตอนนี้มีบางประเทศเขามาลงทุนให้เราผลิตถือว่าโชคดีมาก" ยชญ กรณ์หิรัญ ผู้บริหารบริษัท สตาร์ฮันเตอร์ สตูดิโอ จำกัด เน้นว่าหากจะนำละครไทยไปขายต่างประเทศ ต้องดูให้ถูกจริตผู้ชมในประเทศนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่มีแต่เมโลดรามา
"ละครไทยขายได้ด้วยเรทติ้ง ชาวบ้านมีรสนิยมที่ชอบดูอะไรที่คุ้นชินกันมานาน เมโลดรามาจึงยังอยู่ แต่คนจีนจะดูดาราเป็นอันดับแรก เรื่องราวอะไรก็ได้ ขอให้ได้ดูดาราสวยหล่อเยอะๆ อินโดนีเซียดูละคร GDH พอมีดารา GDH เขาซื้อเลยโดยไม่ดูว่าเป็นเรื่องอะไร เราไม่มีข้อมูลมาร์เก็ตติ้งเซอร์เวย์ที่ชัดเจนจึงไม่รู้ว่าที่ไหนต้องการอะไร คอร์สการถ่ายทำก็สำคัญ ปกติเราถ่ายกันวันละ 30 ฉาก ถ้าถ่ายแบบเกาหลีได้วันละ 10 ฉาก เพราะเกาหลี 1 ซีน ถ่าย 8 มุม นางเอกสวยทุกมุมไม่ใช่ความบังเอิญแต่เป็นเงินที่ใช้ คนไทยทำได้ไม่แพ้เกาหลีแต่ปัจจัยไม่เอื้อ" พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์และละคร กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าหลายประเทศใช้สื่อบันเทิงเป็นซอฟ์พาวเวอร์มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีที่ใช้ละครโทรทัศน์ ญี่ปุ่นใช้การ์ตูน อเมริกาใช้ภาพยนตร์
"ผมเรียนประวัติศาสตร์มา ยังรู้สึกชื่นชมอเมริกันเพราะถูกล้างสมองโดยมีเดีย กระทรวงวัฒนธรรมได้งบปีละ 40 ล้าน ขณะที่ Cool Japan ได้ 7,000-8,000 ล้าน เราคงต้องจัดเวทีพูดแบบนี้ 20 ครั้งกว่าจะให้เขามองเห็นจิ๊กซอว์ตรงนี้ได้ เรามีคอนเทนท์ที่เป็นรากเหง้าความเป็นไทย มีคนทำที่มีความสามารถ ดาราของเราหล่อสวยไม่แพ้เกาหลี ผู้นำเราทุกยุคไม่เคยคิดเอาอาวุธทางวัฒนธรรมมาผนวกเข้ากับการพัฒนาประเทศ มันเลยไม่เกิด ถ้าอยากรู้ว่ายุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่ดีเป็นยังไง เปิดกูเกิลครับ มี 5 ข้อ ทำจบ...รับรองไทยสู้เกาหลีได้ แต่ใช้เงิน 5,000 ล้าน ถามว่าทำได้ไหม ชาตินี้คงยาก"
นอกจากการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐแล้ว การกลั่นกรองเนื้อหาก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การส่งออกละครไทยไม่ได้แค่กระแส แต่หวังผลในเชิงภาพลักษณ์ได้ด้วย
"แต่ละประเทศมีสื่อบันเทิงที่แตกต่าง แต่มีโมเดลแบบเดียวกัน ส่งออกเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เศรษฐกิจทางตรงคือผลกำไรที่ได้จะได้จากการขายสินค้าบันเทิงบวกกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เศรษฐกิจทางอ้อมคือส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ช่วยเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ สร้างความคลั่งไคล้ให้มากขึ้น การส่งออกส่งผลกระทบกระจัดกระจายเป็นวงกว้าง ภาพลักษณ์ไทยในสื่อตะวันตกคือ ชาติกำลังพัฒนา แต่เมื่อหนังเรื่ององค์บากส่งออกไป คนไทยถูกเชิดชูยกย่อง ศิลปะมวยไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ซึ่งโปรดักส์ที่ส่งออกจะต้องมีความเป็นสากลนิยม และการตีความวัฒนธรรมต้องมีการกลั่นกรองนำเสนอใหม่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์
พ.ศ.2510 ไทยต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น พอปลายปี 2533 อาหารญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในประเทศไทย นั่นเพราะการปลูกฝังที่เราเติบโตมากับรายการทีวีญี่ปุ่น แทรกวัฒนธรรมในบทสนทนา ตัวละคร ฉาก เสื้อผ้า หน้าผม แก่นเรื่อง สัญลักษณ์ เพิ่มคุณค่าสากล ใส่ความสนุกลงไป ทำให้เกิดความหลงใหล ในโดราเอมอน, แดจังกึม, ภาพยนตร์อเมริกา ไม่ใช่ว่าจะใส่อะไรลงไปก็ได้ ต้องมีการคิดก่อนว่าอยากให้ต่างชาติรับรู้เราในแง่ไหน แล้วควรนำเสนออะไรออกไป ถ้างานหลักของเราตอนนี้คือการส่งออกวัฒนธรรม สิ่งที่ต้องทำวิจัยอย่างเข้มข้นคือจุดแข็งทางด้านวัฒนธรรม” ดร.ฐณยศ โลห์พัฒนานนท์ ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคาดหวัง
ถึงวันนี้แม้จะเห็นสัญญาณดีเล็กๆ น้อยๆ จากการส่งเสริมของภาครัฐ และการร่วมลงทุนของภาคเอกชนระหว่างประเทศ แต่หากต้องการใช้พลังของสื่อบันเทิงและวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้และภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย ดูเหมือนว่า...ความฝันคงยังอีกไกล