ขยะพุ่ง! จากธุรกิจ Food deliveryservice
ม.อ.ภูเก็ต แถลงผลศึกษาพบปริมาณขยะจากธุรกิจ Food delivery service เพิ่มอย่างน่าตกใจ วอนทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ไม่ได้ต่อต้านแต่ขอให้ใช้วัสดุธรรมชาติ ขณะที่ ม.อ.ภูเก็ต ออกประกาศ ห้ามใช้โฟม-พลาสติกในรั้วมหา'ลัย
รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต เปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจ สังคมและการแข่งขันในปัจจุบัน ได้ทำให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมหลายๆ ด้านมีเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เกิดธุรกิจให้บริการอาหารแนวใหม่ในโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า B2B2C หรือ Business to Business to Customer ให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่บน platform ของผู้คิดค้นการบริการ โดยในส่วนของธุรกิจอาหารได้เกิดการให้บริการการส่งอาหารถึงที่ หรือ Food delivery service พบว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ หรือพื้นที่จังหวัดที่ประชาชนดำรงชีวิตอยู่อย่างแข่งขันและรีบเร่ง ปัญหาหนึ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการเพิ่มของขยะ เดิมเป็นปัญหาใหญ่และแก้ยากอยู่แล้วให้ซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น และในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Food delivery service ในภูเก็ตมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
“จากการสำรวจของ ม.อ.ภูเก็ต ในช่วงระหว่างวันที่ 19 - 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการให้บริการ Food delivery service ในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 3 ราย มีผู้ทำหน้าที่ในการรับส่งให้บริการดังกล่าวมากกว่า 2,850 คน มีร้านที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,000 ร้าน และเมื่อวิเคราะห์ปัญหาขยะและบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการให้บริการ Food delivery service ได้ผลที่น่าสนใจ กรณีการสั่งอาหารกล่อง จำนวนชิ้นของกล่องบรรจุอาหารที่เกิดจากบริการ แบ่งเป็น กล่องกระดาษ 26.17% กล่องพลาสติก 25.68% กล่องโฟม 48.15% และหากในแต่ละวันไดร์เดอร์รับออร์อาหารคนละ 36 ครั้งต่อวัน จะทำให้มีขยะเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 37 ล้านชิ้น นอกจากนี้ยังมีขยะช้อนพลาสติกด้วย โดยผู้ใช้บริการ 37.14% จะรับช้อน และ 68.86% จะไม่รับช้อย ส่วนกรณีการสั่งเครื่องดื่มจะเป็นแก้วพลาสติก 100% และจากข้อมูลการสำรวจหากไดร์เดอร์รับออเดอร์เครื่องดื่มวันละ 17 ครั้งต่อคน จะทำให้แต่ละปีมีขยะที่เป็นแก้วพลาสติกเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 17.6 ล้านชิ้น”
รศ.ดร.พันธ์ กล่าวว่า ปัญหาขยะที่พบจากธุรกิจดังกล่าว เป็นปัญหาใหม่ที่เรากำลังเผชิญ จะหาทางแก้ไขกันอย่างไร ขั้นต้นสุด คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ เราคงไม่ไปต่อต้านวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปหรือการให้บริการดังกล่าว แต่สิ่งที่ต่อเนื่องไม่ควรจะมาสร้างภาระเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก ซึ่งหลังจากได้ผลการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้นำเสนอในที่ประชุมกรมการจังหวัดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้รับทราบว่า ในเรื่องของขยะเรากำลังเจอกับปัญหาใหม่ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องไปหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไข และจะต้องมีมาตรการอะไรออกมา เพื่อลดปริมาณที่เกิดจากธุรกิจดังกล่าว เพราะขณะนี้ภูเก็ตมีขณะที่เข้าสู่เตาเผาถึงวันละ 900 ตัน หากปล่อยให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองในอนาคตอันใกล้นี้ได้ ซึ่งทางมหาวิทยาฯ พร้อมที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมทั้งเบื้องต้นและเชิงลึก
“จากข้อมูลดังกล่าว มหาวิทยาลัยฯ จึงสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะโดยไม่กระทบพฤติกรรมผู้บริโภค คือ 1. ให้ทางจังหวัดขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ให้บริการ Food delivery service ให้ใช้บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2. รณรงค์ให้ผู้ใช้บริการลดการใช้อุปกรณ์บางอย่างที่ไม่จำเป็น เช่น ช้อนพลาสติกโดยใช้ช้อนที่บ้านหรือมีช้อนส่วนตัวติดตัวไว้ หรือกรณีหลอดดูดพลาสติกให้ใช้หลอดกระดาษแทนหรือดื่มจากแก้วโดยตรง 3. รณรงค์ให้ไม่ใช้บริการร้านค้าที่ยังใช้บรรจุและอุปกรณ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4. จังหวัดประกาศนโยบายและปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน เช่น ภูเก็ตเป็นจังหวัดปลอดโฟม และใครที่ฝ่าฝืนให้มีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง”
รองอธิการบดี ม.อ.ภูเก็ต กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการวางยุทธศาสตร์การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) มีการบูรณาการอนุรักษ์ด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการเรียนการสอน การวิจัย และในทุกกิจกรรมของมหาวิทยาลัยจะต้องปลอดโฟม และแก้วพลาสติก หากนักศึกษาหรือบุคคลากรจะสั่ง Food delivery service จะต้องบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่กล่องโฟมหรือกล่องพลาสติกหรือแก้วพลาสติก เพราะจะขัดกับนโยบาย และมีประกาศของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การไม่เคารพสิทธิ แต่คิดว่าเรายังมีทางเลือกอื่นที่ไม่ได้เป็นภาระ และจำเป็นที่สถาบันการศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในการให้ความรู้และปฏิบัติเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ในปี 2562 ม.อ.ภูเก็ต จะเข้าร่วมกลุ่ม มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) คือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก (UI Green Metric World University Ranking ) จัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) มีมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 360 มหาวิทยาลัย จาก 61 ประเทศทั่วโลก