ธ.ค.นี้ ปิดตำนานทวงหนี้ ‘รถไฟฟ้า’ กทม.จ่ายค่าจ้าง BTS ก้อนแรก 1.4 หมื่นล้าน

ธ.ค.นี้ ปิดตำนานทวงหนี้ ‘รถไฟฟ้า’ กทม.จ่ายค่าจ้าง BTS ก้อนแรก 1.4 หมื่นล้าน

เตรียมปิดตำนานหนี้จ้างเดินรถและซ่อมบำรุง “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” สะสมแตะ 4 หมื่นล้านบาท หลัง สภา กทม.ไฟเขียวรับร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2568 เตรียมจ่ายก้อนแรก 1.4 หมื่นล้านบาท ภายใน ธ.ค.นี้ ด้าน “บีทีเอส” ระบุเป็นสัญญาณบวกปิดคดีหนี้ส่วนที่เหลือ

KEY

POINTS

  • เตรียมปิดตำนานหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หลังปัจจุบัน กทม.เร่งสางส่วนของค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงที่สะสมแตะ 4 หมื่นล้านบาท
  • ล่าสุด สภา กทม.ไฟเขียวรับร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2568 เตรียมจ่ายก้อนแรก 1.4 หมื่นล้านบาท ภายใน ธ.ค.นี้ คาดดึงเงินสะสมของ กทม.ที่มีอยู่ 5 หมื่นล้านบาทมาดำเนินการ 
  • ด้าน “บีทีเอส” ระบุเป็นสัญญาณบวกปิดคดีหนี้ส่วนที่เหลือกว่า 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน มิ.ย.2564 - ต.ค.2565 จำนวน 11,811 ล้านบาท และค่าจ้างที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน พ.ย.2565 - มิ.ย.2567 จำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท

มหากาพย์หนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีมูลค่าหนี้สินสูงระดับแสนล้านบาท ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในปี 2559 ซึ่งเป็นภาระหนี้สินทั้งในส่วนของค่าจ้างงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M Electrical and Mechanical) ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท

รวมถึงหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา (O&M Operation and Maintenance) แตะ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 จากการว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เข้ามาบริหารงานเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีสำโรง – สถานีปู่เจ้าสมิงพราย และขยายต่อเนื่องจากสถานีปู่เจ้าสมิงพราย-สถานีเคหะสมุทรปราการ ตามด้วยสถานีหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว และห้าแยกลาดพร้าว-สถานีคูคต

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 กรุงเทพมหานคร ได้ชำระค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง , สะพานตากสิน-บางหว้า ส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ , หมอชิต-คูคต วงเงิน จำนวน 23,091 ล้านบาท ให้แก่ BTSC โดยใช้เงินจากรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528

ปัจจุบันจึงเหลือภาระหนี้คงค้างเฉพาะในส่วนของ “ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา” รวมกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย

หนี้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ฟ้องครั้งที่ 1

โดยจำนวนเงินที่คำนวณล่าสุดกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เงินต้น 11,755 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยอีกกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเดือน พ.ค. 2562 - พ.ค.2564

หนี้ที่ฟ้องอยู่ในศาลชั้นต้น ฟ้องครั้งที่ 2

โดยเป็นค่าจ้างเดินรถที่ BTSC ได้ยื่นฟ้องเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำนวน 11,811 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถ และซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 - ต.ค.2565

หนี้ที่ยังไม่ได้ฟ้อง

ซึ่งเป็นยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถ และซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 - มิ.ย.2567 ประมาณ 13,513 ล้านบาท

ค่าจ้างตามสัญญาในอนาคต

โดยเป็นค่าจ้างงานเดินรถ และซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 จนสิ้นสุดสัญญาจ้างปี 2585

ธ.ค.นี้ ปิดตำนานทวงหนี้ ‘รถไฟฟ้า’ กทม.จ่ายค่าจ้าง BTS ก้อนแรก 1.4 หมื่นล้าน

ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 พ.ศ.... เนื่องจากกรุงเทพมหานคร มีความประสงค์ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

ทั้งนี้ปัจจุบัน กทม. มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท จึงมีเงินพอจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าว 14,549,503,800 บาท โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม.เนื่องจาก กทม. มีความประสงค์ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคาดว่าน่าจะจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าวได้ภายในปีนี้ ก่อนกำหนดที่ศาลปกครองสูงสุดตั้งไว้ตามคำพิพากษา คือ กทม. ต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ ภายใน 180 วัน ก่อนวันที่ 21 ม.ค. 2568 ซึ่งการพิจารณาชำระหนี้ก้อนดังกล่าวได้พิจารณาอย่างรอบคอบทุกด้านแล้ว

รายงานข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BTSC เผยว่า จากการประเมินขั้นตอนดำเนินงานต่างๆ ของ กทม. คาดว่าบริษัทจะได้รับชำระเงินค่าจ้างประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยหากบริษัทได้รับชำระเงินค่าจ้างส่วนนี้ จะนำเงินบางส่วนไปจ่ายหนี้ที่ครบกำหนดชำระ รวมทั้งนำมาเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ

อีกทั้งยังคาดหวังว่าการชำระค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณบวกที่จะมีผลต่อการชำระค่าจ้างส่วนที่เหลืออีกกว่า 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน มิ.ย.2564 - ต.ค.2565 จำนวน 11,811 ล้านบาท และค่าจ้างที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนพ.ย.2565 - มิ.ย.2567 จำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท