115 ปีโรงเรียนราชินี สืบสานความเป็นไทยไว้ในกีฬาสี
งดงามกริยา มารยาท ถือเป็นเอกลักษณ์ของนักเรียนราชินีที่ปลูกฝังกันมาตลอดระยะเวลา 115 ปี หากการนำเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยอันได้แก่ ธรรมเนียมมารยาท ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ ภาษาและวรรณกรรมไทย งานหัตถกรรมไทย มาเป็นแนวคิดหลักของกีฬาสีประจำปี 2562 มิใช่เรื่องง่าย
กีฬาสีโรงเรียนราชินี
เริ่มต้นมาจากการจัดการแสดงถวาย เนื่องในวันประสูติของท่านอาจารย์ใหญ่ ม.จ.พิจิตรจิราภา เทวกุล ตั้งแต่ปี 2451 มีประเพณีที่นักเรียนมัธยม 6 ต้องจับฉลากแต่งบทประพันธ์ถวายพระพรเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ใครจับได้ประเภทใดก็ต้องไปแต่งแล้วนำมาอ่านถวาย
ต่อมาจัดให้มีการแสดง การละเล่น จนกลายประเพณีสืบมาจนถึงในสมัย ม.จ.อัจฉราฉวี เทวกุล เป็นอาจารย์ใหญ่ ทรงให้ความสนใจต่อการกีฬาโดยเฉพาะกีฬาว่ายน้ำและได้ทรงสร้างสระว่ายน้ำขึ้น
เมื่อกีฬาสีเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพของนักเรียน ทางโรงเรียนจึงจัดงานกีฬาสีขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนประสูติของ ม.จ.อัจฉราฉวี เทวกุล เพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่เล็งเห็นความสำคัญของการกีฬา โดยยุคแรกเป็นการแสดงของนักเรียน การแข่งขันว่ายน้ำ และการแข่งขันประจำโรงเรียน คือเนตบอล
เนตบอล กีฬาคู่ชาวราชินี
เนตบอล ถือเป็นกีฬาประจำโรงเรียนที่มีมาตั้งแต่สมัยที่ ม.จ.พิจิตรจิราภา เทวกุล ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นกีฬาสำหรับผู้หญิงที่พัฒนามาจากบาสเกตบอล เริ่มเล่นครั้งแรกในประเทศอังกฤษไม่ปรากฏผู้เริ่มเล่นอย่างชัดเจน ต่อมาได้รับความนิยมและแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆในเครือจักรภาพ
การแข่งขันกีฬาเนตบอลในสมัยแรกเริ่ม
เป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม ทีมละ 7 คนมีวิธีเล่นโดยใช้การส่ง การขว้าง และการรับบอล แต่ละทีมต้องโยนลูกลงห่วงเพื่อทำคะแนน ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามป้องกันไม่ให้ทีมฝ่ายตรงข้ามรับลูกลงห่วงได้ ทีมใดได้คะแนนมากกว่าเป็นฝ่ายชนะ
อาจกล่าวได้ว่ากีฬาเนตบอลเป็นกีฬาของผู้ดี เนื่องจากกติกามารยาทในการเล่นนั้น นักกีฬาต้องมีความสุภาพ อดทน อดกลั้นไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งทางกายกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม เช่น ห้ามแกว่งมือโบกไปมาขณะที่คู่ต้อสู้กำลังโยนลูกบอลลงห่วง ห้ามใช้เสียงก่อกวน รวมทั้งห้ามแย่งบอลในมือคู่ต่อสู้ เป็นต้น แม้จะมีกติกาที่เคร่งครัดหากยังคงความสนุกสนานและแฝงกุศโลบายในการเล่นกีฬาอย่างมีน้ำใจ
การแข่งขันเนตบอลรอบชิงชนะเลิศ จัดเป็นไฮไลท์สำคัญของงานกีฬาสีโรงเรียนราชินีมาจนถึงปัจจุบัน
กรินทร์กรีน-ช้างน้อยและการไหว้
ธรรมเนียมมารยาทไทย คือ โจทย์ที่สีเขียวได้รับแล้ว จะทำอย่างไรที่จะสื่อความหมายดังกล่าวออกมาในงานกีฬาสี ทีมงานสีเขียวจึงหยิบยก “การไหว้”มานำเสนอ โดยมีหุ่นยนต์ช้างที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และอนุรักษ์มารยาทไทย
“ตอนแรกที่ได้หัวข้อมาตกใจค่ะ เพราะว่ามารยาทไทยเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ส่วนตัวรู้สึกกังวล แต่พวกเราก็ช่วยกันระดมความคิดพยายามทำออกมาอย่างเต็มที่” พรนภัส วราห์บัณฑูรวิทย์ ประธานสีเขียว บอกกับเรา
นอกจากการออกแบบซอฟต์แวร์ประชาสัมพันธ์การไหว้ โดยติดตั้งในมาสคอตรูปช้างชื่อ กรินทร์ (หมายถึง ช้าง) กรีน แล้วยังมีการนำเอาท่าทางการไหว้อันเป็นเอกลักษณ์ของนักเรียนราชินีมาใช้ประกอบในท่าเต้นของเชียร์ลีดเดอร์ รวมทั้งกองเชียร์ อีกด้วย
คีตนาฏเสน-ชฎาช่วยเหลือ
ปาณิสรา ยิ้มชูเชิด ประธานสีแสด กล่าวว่าโจทย์ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ดูเหมือนง่าย แต่พอลงลึกในการทำงานกลับพบว่าหัวข้อนั้นกว้างใหญ่และยากที่จะหยิบหยกเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งมาสื่อความหมายได้ครบ จึงเลือกใช้ชฎาเป็นสัญลักษณ์ในการนำเสนอ
นาฏเสน มาจาก นาฏศิลป์ กับ เสน เฉดสีของสีแสด ชฎาเป็นตัวแทนของปัญญาประดิษฐ์ของสีแสดออกแบบให้มีเซ็นเซอร์ตรวจจับคลื่นสัญญาณ เมื่อพบว่าพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือหุ่นยนต์ชฎาจะส่งคลื่นความถี่พิเศษที่สามารถถ่ายทอดความสามารถทางดนตรีและนาฏศิลป์ไทยไปยังสมองของผู้รับ บุคคลที่ได้รับคลื่นนี้จะสามารถจดจำและนำทักษะที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ได้ทันที
ส่วนท่าเต้นของเชียร์ลีดเดอร์มีการนำท่ารำเข้ามาผสมผสาน โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายนั้นนำการนุ่งผ้าแบบจีบหน้านางมาคลี่คลายเป็นกระโปรงซ้อนกันหลายชั้นให้มีความทันสมัยขึ้น
วีวานรินทร์-สื่อภาษาผ่านพญาวานร
เพราะสื่อโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมาเร็วไปเร็ว ส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนก่อให้เกิดปัญหาภาษาวิบัติ มาสคอตรูปวานรผู้ว่องไวในนามวีวานรินทร์สัญลักษณ์ของสีม่วงจึงเกิดมาเพื่อแก้ไขสิ่งนี้
ระบบปัญญาประดิษฐ์ของสีม่วงออกแบบมาเพื่อแก้ไขการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องที่สื่อสารได้ทั้งคำพูดและข้อความที่แสดงผลผ่านกระดานฉนวนอุปกรณ์คู่กายของวีวานรินทร์
ภัสธารีย์ จิรบูลย์วานิช ประธานสีม่วง กล่าวถึงแนวคิดร่วมของทุกสีในครั้งนี้ว่า เป็นครั้งแรกที่มีการใช้สื่อเป็นภาษาไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรบนเสื้อเชียร์ ข้อความบนป้ายไวนิล นับว่าเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภาษาไทยไปพร้อมกันทุกสี
เอกบลูฮาเน็ต- หัตถศิลป์สีฟ้า
โดดเด่นด้วยเครื่องแต่งกายที่สะท้อนลวดลายงานปักของไทยที่ชายกระโปรง และเครื่องประดับชุดไทยที่นำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่ขัดเขิน รวมทั้งยังนำท่าทางการเย็บปักถักร้อย และการสานกระบุงตะกร้า มาออกแบบเป็นท่าเต้นของเชียร์ลีดเดอร์อีกด้วย
ปัณณิกา เจริญสุพงษ์ ประธานสีฟ้า บอกว่าอยากถ่ายทอดงานหัตถศิลป์ไทยที่นับวันจะเลือนหายไปตามเวลา ไม่ว่าจะเป็นงานแทงหยวก งานกลึง จึงออกแบบสมองกลที่ประกอบไปด้วยสร้อยคอ แว่นตา และชฎา เมื่อนำมาสวมใส่ผู้นั้นก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับงานหัตถศิลป์แบบเสมือนจริง ทั้งนี้สมองกลยังสามารถส่งคลื่นโทรทัศน์ไปยังตัวรับสัญญาณ เช่น ป้ายอิเลกทรอนิกส์ที่ติดตั้งไว้ตามพื้นที่ต่างๆในกรณีต้องการประชาสัมพันธ์งานหัตถศิลป์ได้อีกด้วย
หากตั้งใจแล้วไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้
เริ่มต้นจากความกังวล จบลงด้วยความยินดีพร้อมบทเรียนบทใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมไทยที่แต่ละสีจะต้องทำความเข้าใจและนำเสนอออกมาในกีฬาสี พร้อมไอเดียปัญญาประดิษฐ์ที่นักเรียนสามารถนำไปพัฒนาต่อได้
นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 ประธานสีฟ้า สีแดง สีเขียว และสีม่วง
“ งานของประธานเชียร์ต้องประสานสิบทิศ งานนี้นอกได้ลงลึกในหัวข้อที่แต่ละสีได้รับแล้ว ยังได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ที่ชอบมากคือความพยายามและความอดทน ไม่ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เราต้องพยายามให้ถึงที่สุด” ตัวแทนของประธานสีกล่าวทิ้งท้าย
ความเป็นไทยในกีฬาสี ดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ
วฤนต์พร วิเศษสมภาคย์ ดรัมเมเยอร์ กับเครื่องแต่งกายที่ออกแบบด้วยตนเองโดยเลือกใช้ลายผ้านำเสนอความเป็นไทย