รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงทัดดินต่างปิ่นเกล้า

รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงทัดดินต่างปิ่นเกล้า

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ และในโอกาสวันดินโลก

"...หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึก แผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผงเหมือนกําแพงช่วยกรองตะกอนดิน และรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษา และทดลองปลูกในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดําริ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยพิจารณาจากลักษณะของภูมิประเทศ คือ บนพื้นที่ภูเขาให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชัน และในร่องน้ำ ของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และช่วยเก็บกักความชื้นของดินไว้ด้วย

บนพื้นราบ ให้ปลูกหญ้าแฝกรอบแปลงหรือปลูกในแปลงๆ ละ 1 หรือ 2 แนว ส่วนแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร้องสลับกับพืชไร่ เพื่อที่รากของหญ้าแฝกจะ อุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน และหญ้าแฝกจะเป็นตัวกักเก็บไนโตรเจน และกำจัดสิ่งเป็นพิษ หรือสารเคมีอื่นๆ ไม่ให้ไหลลงไปยังแม่น้ำลำคลอง โดยกักให้ไหลลงไปใต้ดินแทน การปลูกรอบพื้นที่เก็บกักน้ำ เพื่อป้องกันดินพังทลายลงไปในอ่างเก็บน้ำ ทำให้อ่างเก็บน้ำไม่ตื้นเชิน ตลอดจนช่วยรักษาหน้าดินเหนืออ่าง และช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในบริเวณที่มีหญ้าคาระบาด ควรปลูกเพื่อเป็นแนวป้องกันตะกอน และดูดซับสารพิษต่างๆ ไว้ในราก และลำต้นได้นานจนสารเคมีนั้นสลายตัวเป็นปุ๋ยสำหรับพืชต่อไป ทั้งนี้ให้บันทึกภาพก่อนดำเนินการ และหลังดำเนินการไว้เป็นหลักฐาน ส่วนผลของการศึกษาทดลองควรเก็บข้อมูลทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของลำต้น และรากความสามารถในการอนุรักษ์เพื่อความสมบูรณ์ของดิน และการเก็บความชื้นในดิน และเรื่องพันธุ์หญ้าแฝกต่างๆ ด้วย..."

ใจความสำคัญของแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน ที่พระราชทานแก่ผู้เกี่ยวข้องในวาระต่างๆ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อราษฎรตลอดกาลสมัย

วันที่ 5 ธันวาคม อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ นอกจากจะได้รับการยกย่องให้เป็น "วันพ่อแห่งชาติ" และ "วันชาติ" แล้วนั้น จึงมีความสำคัญยิ่งอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การที่วงการปฐพีวิทยานานาชาติ มีฉันทานุมัติเลือกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ให้เป็น วันดินโลก "World Soil Day" เพื่อเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 คณะผู้บริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพรบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรมแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมกราบบังคมทูลเชิญให้ดำรงตำแหน่ง A life membership และยังได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาต ให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556

สำหรับตัวอย่างโครงการพระราชดำริฯ ที่สะท้อนถึงความห่วงใยที่มีต่อพสกนิกรและพระปรีชาสามารถในด้านการพัฒนาทรัพยากรดินของพระองค์ ได้แก่

1. โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่นี่เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและสาธิตวิธีการฟื้นฟูปรับปรุงดินเสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นรูปแบบและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสถึงโครงการเชาชะงุ้ม เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ความว่า

 “...เรื่องต้นไม้ขึ้นเอง มีอีกแห่งหนึ่งที่ท่านทั้งหลายก็ควรจะไปได้ เพราะไปง่าย คือโครงการเขาชะงุ้ม ที่จังหวัดราชบุรี ที่ตรงนั้นอยู่ใกล้ภูเขา เป็นที่ที่ป่าเสียไป เป็นป่าเสื่อมโทรม ที่เรียก ว่าป่าเสื่อมโทรม เพราะมันไม่มีต้นไม้ ไม่มีชิ้นดี เริ่มทําโครงการนั้นประมาณ 7 ปีเหมือนกัน ไปดูเมื่อสัก 2 ปี หลังจากทิ้ง ป่านั้นไว้ 5 ปี ตรงนั้นไม่ได้ทําอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโต ขึ้นมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านี้สําคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง...”

ผลของโครงการดังกล่าวนอกจากจะทำให้พื้นดินเสื่อมโทรม กลับมามีต้นไม้ขึ้นปกคลุมโดยวิธีธรรมชาติ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการดิน น้ำ และพืชอย่างถูกต้อง มีความยั่งยืนไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยังส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

2. โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว จากปัญหาที่แก้ไม่ตกของเกษตรกรในหลายพื้นที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก ด้วยการใช้วิธีธรรมชาติอย่างการเปลี่ยนถ่ายดินจากแปลงหนึ่งสู่แปลงหนึ่ง เพื่อลดความเปรี้ยวของดิน อีกทั้งพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้ปูนมาร์ล และสาหร่ายในการปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น และต่อมาก็ได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการศึกษาผลกระทบ ของการใช้เถ้าลอยลิกไนท์ เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวเพิ่มเติม นับเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวอย่างได้ผล

3. โครงการหญ้าแฝก เป็นที่ทราบกันดีว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ที่นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยให้ทรงทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จนปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ

4. โครงการแกล้งดิน ครั้งหนึ่งเมื่อทรงรับทราบความเดือดร้อนของพสกนิกรในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาดินพรุเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้

พระองค์ทรงแนะนำให้ใช้วิธี "การแกล้งดิน" คือเริ่มจากการแกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถันที่จะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัดเมื่อดินแห้ง จากนั้นจึงทำการปรับปรุงดินที่เป็นกรดจัดนั้นด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะลดความเป็นกรดลงมาให้อยู่ในระดับที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ได้

5. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 216 ไร่ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทอดพระเนตรเห็นสภาพความทุรกันดาร จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ ณ พื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งหมู่บ้านรอบๆ ศูนย์ โดยการวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์

ทั้งยังให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และสนามทดลองทางด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานและนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตาม และพัฒนาอาชีพและพื้นที่ของตนเพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อให้ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งพระองค์ยังมีพระราชดำริให้ส่งเสริมศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากอาชีพหลักอีกทางหนึ่งด้วย

6. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ซึ่งเคยถูกบุกรุกทำลายจนแห้งแล้งไม่เหลือป่าไม้และสัตว์ป่า สภาพพื้นดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก ทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ โดย ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และฟื้นฟูให้มีศักยภาพในการทำเกษตรกรรม เพื่อความเป็นอยู่ของราษฎรต่อไป

7. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริ ที่เน้นการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้านทรัพยากรต้นน้ำ เกษตรกรรม ปศุสัตว์และโคนม โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ศูนย์ฯแห่งนี้ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรดิน ซึ่งหากจะนับรวมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตรทั้งหมดยังมีอีกกว่า 4,000 โครงการ

เนื่องในโอกาส "วันดินโลก พ.ศ. 2562" รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม ศกนี้ ภายใต้แนวคิด ‘ปกป้องอนาคต ลดการชะล้างดิน : Stop Soil Erosion, Save our Future’ ภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรอย่างครบวงจร รวมถึงกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ในส่วนภูมิภาค สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังร่วมกันจัดกิจกรรมตลอดเดือนธันวาคม 2562 เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องดูแลทรัพยากรดิน ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงอยู่ของมนุษย์

ที่สำคัญ โอกาสนี้นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่พสกนิกรชาวไทยจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น "นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม" และทรงเป็น "กำลังของแผ่นดิน" ตามที่ทรงมีพระราชปณิธาน

"อันที่จริงเราชื่อ ภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน… แม่ก็อยากให้เธออยู่กับดิน เมื่อฟังคำพูดแล้วกลับมาคิด ซึ่งแม่คงจะสอนเราและมีจุดมุ่งหมายว่าอยากให้ติดดินและอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

OOOOOOOOOOOO

"นโมพุทธายะ ทศนัขคุณเทศ

พกาแก้วเกต สพมรกษัตริย์

ทัดดินต่างปิ่นเกล้า เป็นทองมกุฎ

สุดใจดินใจฟ้า......"

(จารึกวัดส่องคบ ชัยนาท)

เป็นโคลงที่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม หยิบยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยอธิบายความว่า "ทัดดินต่างปิ่นเกล้า” คือการนำเอาความทุกข์ยากของประชาชนมาไว้ที่พระเศียร นับว่าเป็นสิ่งที่กินใจมาก