'จานใบจาก' ภาชนะรักษ์โลกด้วยวัสดุธรรมชาติ
อยากจะรักษ์โลกไม่ต้องใช้ไฮเทคโนโลยี ขอแค่มีไอเดียดีๆ ก็สร้างงานเจ๋งๆ ได้อย่างเช่น "จานใบจาก" ภาชนะรักษ์โลกที่ผลิตด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นจากธรรมชาติที่ดีต่อโลก ดีต่อชุมชน
หลังประสบความสำเร็จจากการพัฒนาตู้อบแห้งใบจาก ภายใต้โครงการวิจัยการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน จ.ตรัง ระยะที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ “ติหมา” (ภาชนะใส่น้ำสานด้วยใบจากแห้ง) ที่เป็นภูมิปัญญาของคนภาคใต้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่ อ.ปะเหลียน มากกว่าหนึ่งล้านบาทต่อปี
ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง สนใจจะนำใบจากที่เป็นวัสดุในท้องถิ่นและมีอยู่เป็นจำนวนมากมาผลิตเป็นภาชนะใส่อาหารเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก
“ตอนนั้นในชุมชนมีทรัพยากรใบจากเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านต้องการนำใบจากมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันมีเพียงการนำใบจากมาทำเป็นใบยาสูบ แต่เนื่องจากในชุมชนแห่งนี้ไม่เคยทำติหมามาก่อน ทีมวิจัยจึงเสนอแนวทางการนำใบจากมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จนได้ข้อสรุปว่าจะทำภาชนะบรรจุอาหารเพื่อการบริโภคที่สามารถใช้งานได้จริง ปลอดภัย และตรงกับความต้องการของตลาด” ผศ.ดร. ชาตรี หอมเขียว จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิจัยเรื่อง การพัฒนาฐานอาชีพของชุมชนในรูปแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จาก ภายใต้โครงการวิจัยการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน จ.ตรัง ระยะที่ 2 กล่าวถึงที่มาที่ไปของแนวคิดการทำวิจัย
ใบจากที่ตัดตามขนาด และทำให้แห้งแล้วพร้อมทำเป็นแผ่นและอัดขึ้นรูป
และจากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภค อาทิ โรงแรม และร้านอาหาร รวมถึงการหารือกับกลุ่มแม่บ้าน ก็ได้ข้อมูลว่า การนำใบจากมาผลิตเป็นภาชนะใส่อาหาร น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด เนื่องจากผู้คนกำลังมองหาภาชนะจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เพื่อลดการใช้พลาสติก
อีกทั้งการนำใบจากมาผลิตเป็นภาชนะก็มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน เริ่มจากการนำใบจากมาตากให้แห้งและตัดให้ได้ความยาวตามที่ต้องการ แล้วนำมาซ้อนกันเป็นแผ่น 2 แผ่น วางตามแนวยาวและแนวขวางและใช้แป้งสาคูเป็นตัวประสาน
จากนั้นนำไปเข้าแม่พิมพ์ (โมล) และใช้เครื่องอัดที่มีระบบแรงดันและความร้อน เพื่ออัดให้แผ่นใบจาก กลายเป็น “จานใบจาก” ที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์
ใช้แป้งสาคูที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นตัวประสาน
ผศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน นักวิจัยโครงการนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารรักษ์โลกจากใบจาก ซึ่งเข้ามาช่วยในด้านการออกแบบเครื่องอัดใบจาก ที่เป็นหัวใจสำคัญของงานวิจัยนี้ กล่าวว่า นอกจากการใช้ความรู้ทางวิศวกรรมมาพัฒนาเครื่องอัดใบจากแล้ว การทำให้ผู้ใช้ที่เป็นเกษตรกร เกิดยอมรับและสามารถใช้งานได้จริง คือสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
“ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะนำเครื่องไปติดตั้งและสอนการใช้งานจริงให้กลุ่มวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดอบรมการใช้งานให้กับตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมเบื้องต้น ก่อนจะนำเครื่องไปติดตั้งพร้อมทั้งอบรมในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้กลุ่มแม่บ้าน มีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้เครื่องนี้ได้เป็นอย่างดีแล้ว
และมีการนำมีทักษะบางอย่างของเขามาทำให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานมากขึ้น เช่น ใช้การฟังเสียงไอน้ำที่ระเหยออกมาตามร่องของแม่พิมพ์มาช่วยกำหนดเวลาในการอัดขึ้นรูป ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความชื้นที่ไม่เท่ากันของวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี และได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน”
นางเปรมวดี ไพบูลย์ รองประธานวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา กล่าวว่า กลุ่มของเรามีการปรับกระบวนการบางอย่างจริงในการผลิตจริง เช่น การนำใบจากไปตากแดดแทนการรีดเพื่อลดค่าไฟให้น้อยลง หรือการเปลี่ยนวัสดุประสานจากแป้งมันสำปะหลังที่ต้องซื้อจากภายนอก มาเป็นแป้งสาคูแทน ซึ่งแม้จะเป็นสารธรรมชาติเหมือนกัน แต่แป้งสาคูจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า คือมีความสามารถยึดเกาะและมีความเหนียวมากกว่า และหาซื้อได้จากชุมชนใกล้เคียงอันเป็นการกระจายรายได้อีกด้วย
นอกจากผลิตภัณฑ์จานใบจากที่ใช้ใบจากสดเป็นวัตถุดิบแล้ว ยังมีการนำเศษใบจากแห้งที่เหลือจากการผลิตจานจากใบจากและผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาบดแล้วอัดเป็นจานรักษ์โลกอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีต้นทุนถูกลง โดยจานใบจากที่ได้จากเศษใบจากแห้งมีต้นทุนใบละ 10 บาท ส่วนจานใบจากสดมีต้นทุนอยู่ที่ใบละ 20 บาท
จานใบจากจากเศษใบจาก
และด้วยจุดเด่นของ “จานใบจาก” สามารถใส่ได้ทั้งอาหารคาวหวานร้อน-เย็น โดยมีคุณสมบัติคือย่อยสลายง่าย แต่มีความแข็งแรงสูงกว่าภาชนะที่ทำจากใบตองหรือกาบหมาก เนื่องจากมีก้านใบจากเป็นตัวเสริมแรง และมีการวางซ้อนกัน 2 ชั้น (การอัดใบตองหรือใบบัวเป็นภาชนะจะใช้เพียง 1 ใบ) ทำให้สามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึงครึ่งกิโลกรัม รวมทั้งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้อีกหลายครั้ง ที่สำคัญคือมีความสวยงามจากสีและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของใบจาก ทำให้เมื่อนำ “จานใบจาก” ไปโชว์ในงานหมูย่างและขนมเค้กเมืองตรัง ซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จึงรับเสียงตอบรับจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม และรีสอร์ตในเกาะต่าง ๆ
“ตอนนี้เราพบแล้วว่าภาชนะจากใบจาก ที่ทำจากใบจากสด เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตใช้ได้จริง และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้นสิ่งที่ทีมวิจัยจะดำเนินการต่อคือ การพัฒนากระบวนการผลิตในแต่ละวันให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นจากเครื่องต้นแบบที่มีกำลังผลิต 40-50 ใบต่อวัน และลดต้นทุนการผลิต พร้อมกับสร้างภาชนะรูปแบบใหม่ ๆ ให้มากขึ้น” ผศ.ดร. ชาตรี กล่าวสรุป
จากเครื่องอบแห้งใบจากสำหรับการผลิตติหมา สู่นวัตกรรมการผลิตจานใบจาก คือตัวอย่างที่ดีของงานวิจัยเชิงพื้นที่ ที่นำปัญหาและความต้องการของชุมชน มาพัฒนาเป็นโจทย์วิจัย และใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสามารถเกิดประโยชน์กับพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน