หัวร้อนซินโดรม
เมื่อเทคโนโลยีทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเร็วไปหมด พฤติกรรมคนก็เปลี่ยน กลับกลายเป็นคนที่รอไม่ได้ รอนานก็รู้สึกเสียเวลาและเสียอารมณ์ ในที่สุดก็กลายเป็นคน “หัวร้อนซินโดรม” โดยไม่รู้ตัว
ซินโดรม (syndrome) แปลว่า กลุ่มอาการของโรค วันดีคืนดีก็มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกล่าวคำว่า "ฮ่องเต้ซินโดรม" ออกมา
ซึ่งอาจจะต้องการพาดพิงถึงนักการเมืองหน้าใหม่บางคนก็เป็นได้ บทความของ "กล้า สมุทวนิช" ในมติชนรายวันวันที่ 12 ต.ค.2562 ได้ให้ความรู้ว่า คำว่า ฮ่องเต้ซินโดรมนี้มาจากแอนดรู มาแชล นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ ผู้มีประสบการณ์ยาวนานในหลายประเทศในเอเชีย
และให้ความหมายของฮ่องเต้ซินโดรม (Little emperor syndrome) ว่า มาจากพฤติกรรมของการเลี้ยงดูลูกในประเทศจีน ที่มีนโยบายลูกคนเดียว จำกัดให้มีบุตรบ้านละ 1 คน ส่งผลให้เด็กนั้นได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่และครอบครัวอย่างตามอกตามใจมากเกินไป พ่อแม่หาทุกอย่างมาให้ลูกเพื่อทดแทนในสิ่งที่ตัวเองสูญเสียไป มีผลข้างเคียงให้เด็กมีความเอาแต่ใจ ไม่สามารถรับมือกับความผิดหวัง ไม่มีความอดทนและระเบียบวินัย
และอันที่จริง คุณธนาธรแกก็ไม่ได้เป็นลูกคนเดียว แต่มีพี่น้องรวมทั้งตัวแกถึง 5 คน ดังนั้น เงื่อนไขของการเป็นลูกคนเดียวอาจจะใช้กับแกไม่ได้
ขณะเดียวกัน ในบทความดังกล่าวของกล้า ก็ทำให้เราไม่ลืมที่จะมองเห็น "เจ้าขุนซินโดรม" (Big Baron Syndrome) ที่ดำรงอยู่ในสังคม อาจจะไม่เฉพาะในสังคมไทยก็ได้ และการจะเกิดอาการ "เจ้าขุน" นี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นลูกคนเดียว เพราะอาการนี้เกิดได้กับทุกคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ ในระบบราชการ ใครสนใจก็ไปตามอ่านงานของกล้าได้
ที่จริงอาการเจ้าขุนนี้น่าจะเกิดขึ้นกับทุกระบบราชการในทุกประเทศ แต่อาจจะเป็นหนักมากในระบบราชการภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลและธรรมาภิบาล
ที่จริง ฮ่องเต้ซินโดรมไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศจีนเท่านั้น แต่เกิดในทุกสังคมที่เป็นครอบครัวลูกคนเดียว เพราะศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความไว้นานแล้ว กล่าวถึงพฤติกรรมของลูกคนเดียว ซึ่งก็เข้าข่ายฮ่องเต้ซินโดรมนี่แหละ และครอบครัวไทยจำนวนไม่น้อยสมัยนี้ก็มักจะมีลูกคนเดียว ด้วยเงื่อนไขของเศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ และคนไทยที่เป็นลูกคนเดียวในยุคปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะมีอาการฮ่องเต้ กันมาก
นอกจากการเป็นผลผลิตลูกคนเดียวของพ่อแม่ยุคใหม่แล้ว เงื่อนไขของเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ยิ่งเสริมให้คนเหล่านั้นเป็นฮ่องเต้ซินโดรมมากขึ้นด้วย เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พัฒนามาเรื่อยๆ ตั้งแต่โบราณกาลล้วนให้ผลลัพธ์ของความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบาย ตอบสนองความต้องการของผู้คนได้รวดเร็วในปริมาณที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการเกษตรที่พัฒนามากจนทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการบริโภคมากขึ้น
ตะก่อนแต่ละบ้านต้องเลี้ยงหมูเป็ดไก่ จะเชือดกินทีก็ต้องคิดเผื่อหลายอย่าง เช่น ต้องรอให้รุ่นใหม่มันโตเอย กินไม่หมดแล้วจะทำยังไงเอย ตู้เย็นก็ไม่มีเอย ฯลฯ ดังนั้น การกินหมู กินไก่ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งต่างจากปัจจุบัน ที่เดินไปก็เห็นศพไก่แขวนตามตู้ เราจึงกินไก่กันได้ทั้งวันทั้งคืน เพราะมันเป็นอุตสาหกรรมทั้งการเลี้ยง การผลิตและการบริโภค
ตะก่อนจะกินอะไร ก็ต้องออกจากบ้านไปหาซื้อ เวลาพ่อหรือแม่กลับมาบ้าน เด็กๆ และคนในบ้านจะรออย่างใจจดใจจ่อว่า วันนี้ พ่อแม่จะซื้ออาหารดี ขนมดี อะไรติดไม้ติดมือมา แต่ทุกวันนี้ จะกินก็ไม่ต้องรอให้พ่อแม่ซื้อหามา ทุกคนคิดถึงบริการส่งตามบ้านที่รวดเร็วและมีราคาไม่แพง แถมไม่ต้องโทรศัพท์ไปสั่งเสียเวลากดหมายเลขตั้ง 7-8 ตัว และเสียเวลารอสายและเสียเวลาพูด! กดสั่งออนไลน์ได้เลย พ่อแม่ก็หมดความสำคัญลง เหลือแต่บทบาทหาเงินให้ลูกสั่งออนไลน์ไปเท่านั้น
ดังนั้นไม่ว่าอะไรต่อมิอะไรในโลกสมัยใหม่ล่าสุดนี้ มันเลยรวดเร็วไปหมด เพียงแต่ขอให้มีเงินเท่านั้น แม้กระทั่งการฟังเพลง สมัยก่อนก็ต้องรอให้ช่องตามสถานีวิทยุเปิดเพลงที่ชอบ ก่อนโน้น คนฟังต้องเขียนจดหมายไปขอเพลง และนั่งคอยฟังว่า เมื่อไรผู้จัดจะได้รับจดหมายและอ่านจดหมายของเพลงของตัวเองออกอากาศ อาจจะขอให้คนที่รักฟังหรือฟังเองก็แล้วแต่ ต่อมาก็โทรเข้าสายขอเพลง ทุกวันนี้ อยากฟังก็เปิดเอาจากยูทูปได้เลยทันที และส่งลิงค์ไปให้คนที่ตนอยากฟังได้ฟังทันทีเหมือนกัน ทุกอย่างไม่ต้องคอยให้เสียเวลา แต่ต้องมีเงินซื้อมือถือและค่าอินเทอร์เน็ต
เมื่อทุกอย่างเป็นเช่นนี้ การคอยจึงเสียเวลาและ "เสียอารมณ์" เป็นที่สุด และโดยไม่รู้ตัว คนรุ่นใหม่ได้กลายเป็น "หัวร้อนซินโดรม" โดยไม่รู้ตัว ยิ่งเป็นลูกคนเดียวด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นฐานให้หัวร้อนซินโดรมได้ง่ายภายใต้เทคโนโลยีที่ว่า และอาการหัวร้อนนี้ไม่น่าจะเป็นเฉพาะสังคมไทย แต่น่าจะเป็นทุกสังคมที่อยู่ภายใต้เทคโนโลยีสมัยใหม่
แน่นอนว่าอาการหัวร้อนนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด เพราะในสังคมโบราณก็มีคนประเภทหัวร้อนนี้อยู่ให้เห็น ซึ่งอาจจะเกิดจากการเป็นลูกคนเดียว หรือเป็นลูกคนโปรดหรือคนแวดล้อมพะเน้าพะนอเอาใจ หรือเป็นคนที่มีพลังมีปัญญาเหนือคนอื่นๆ แล้วก็เห็นว่าคนอื่นชักช้างุ่มง่ามไม่ได้ดังใจ ก็เกิดอาการหัวร้อน เข้าข่ายเป็นคนที่มีสมองและร่างกายที่พิเศษเหนือคนอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้ขาดสติความยับยั้งชั่งใจได้ เพราะร่างกายสมองมันมีประสิทธิภาพมากเสียเหลือเกิน ดังนั้น "คนเหนือคน" ประเภทนี้จึงควรต้องเรียนรู้ให้สุขุมรอบคอบ มิฉะนั้นก็อาจจะหายนะได้ แต่จะทำอย่างไรเล่าที่จะทำให้คนเหล่านี้มีความสุขุมรอบคอบหรือพูดภาษาบ้านๆ ก็คือ "ใจเย็นๆ มีสติ"?
"คนเหนือคน" สมัยก่อนมักจะเป็นทรราช แต่ถ้ามีสติและความสุขุมรอบคอบก็จะเป็นผู้ปกครองที่ได้รับการยอมรับ แต่คนสมัยใหม่แม้ไม่เหนือคนอื่นก็เป็นทรราชได้ง่าย เพราะหัวร้อนซินโดรมกับอาการทรราชมันไปด้วยกันได้ดี [ส่วนหัวล้านซินโดรม ไม่เกี่ยว ถ้าไม่ขี้ใจน้อยและฉุนเฉียวง่ายเกินไป]
วิถีการผลิตหลักสมัยก่อนคือ การทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ เป็นเงื่อนไขที่สอนโดยอ้อมๆ ให้คนเราต้องรู้จักอดทนรอคอยผลผลิตที่จะต้องใช้เวลาดำนา หว่านไถและรอให้มันโตถึงจะ "เก็บเกี่ยว" แล้วถึงเกิดความมั่งคั่ง
แต่ทุกวันนี้ ทุกคนขี้เกียจคอย อยากรวยลัดรวยเร็ว ซึ่งก็เป็นไปได้ในเศรษฐกิจภายใต้เทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ใช่ทุกคนจะรวยลัดรวยเร็วได้ ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ทำไร่ทำนาเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง ใครลงแรงมากก็ได้มาก และสามารถ "รวย" ได้ทุกคน ไม่ได้ต้องตกอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า "ทุกคนจะรวยไม่ได้เหมือนปัจจุบันนี้" แต่คนสมัยก่อนที่ลงแรงทำงานเพื่อเอาไว้กินเองก็คงไม่รู้ว่าจะทำมากเกินกว่าจะกินใช้และเก็บสำรองไว้บ้างไปทำไม
เพราะแม้แต่จอห์น ล็อก (John Locke) นักคิดต้นตำรับเสรีนิยม (หรือบางคนก็ว่าเป็นต้นตำรับทุนนิยมด้วย) ก็ยังยืนยันว่า ธรรมชาติไม่ได้ให้คนสั่งสมโภคทรัพย์เกินกว่าที่จะบริโภคหรือใช้ได้ หากเกินกว่านั้นแล้วจะเน่าเสียหรือกองอยู่เปล่าๆ คนอื่นที่ขาดแคลนก็มีสิทธิ์ตามธรรมชาติที่จะมาเอาไปได้ แต่ทุกวันนี้ พูดยาก เพราะเงินและตัวกลางแลกเปลี่ยนสมัยใหม่ที่อยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์มันไม่เน่าเสีย อีกทั้งคนยังชอบบริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัด อย่างทุกปีก็จะมีรายการลดกระหน่ำวันคนโสด และอาจจะมีลดกระหน่ำวันคนซวย วันคนอ้วน วันคนผอม วันคนตรอมใจ ฯลฯ ตามมา
เราคงไปปิดกั้นห้ามไม่ให้เทคโนโลยีมันพัฒนาไม่ได้ อีกทั้งจะไปสั่งห้ามการบริโภค ชิม ช้อป ใช้ก็ไม่ได้อีก (ที่จริงก็ได้อยู่นะ หากรัฐบาลไม่ออกนโยบายนี้มา) อีกทั้งจะไปตีความว่า วันลอยกระทงที่ผ่านมา คนไม่เที่ยวเตร่จับจ่ายเพราะเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ได้ (ที่จริงก็ได้อยู่นะ ถ้าคนเขาไม่ออกไปบริโภคจับจ่าย เพราะเขาไม่อยากไปเองในวันนั้น เพราะมันรถติดวุ่นวาย)
เราห้ามไม่ได้ แต่เราส่งเสริมให้คนรู้ทันเทคโนโลยี รู้ทันนายทุนพ่อค้า และที่สำคัญ "รู้ทันตัวเอง" ได้และรู้ว่าเมื่อไร "ควรต้องเร็วและเมื่อไรควรต้องรอ"