'ภาษีที่ดิน' เลื่อนเก็บแล้ว แต่จะทำอย่างไรกับ 'จดหมาย' ที่ได้รับ ?
สรุปชัดๆ ขั้นตอนการจัดเก็บภาษีใหม่ล่าสุด ที่มีการเลื่อนการจ่ายภาษีจากเดือนเมษายน 2563 ไปเป็นภายในเดือนสิงหาคม 2563 แต่หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วจะทำอย่างไรกับจดหมายใบแจ้งข้อมูลที่ดินที่ได้รับมา ?
หลังจากที่ "กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ฉบับใหม่ ประกาศออกมาก็มีเสียงฮือฮาอย่างมาก เพราะกระทบกับคนหลายกลุ่ม ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อปีที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเหล่ามหาเศรษฐีที่เก็บสะสมคลังโฉนดที่ดินไว้ในมือ หลายคนอยากให้ภาครัฐกลับไปทบทวนใหม่ และเลื่อนระยะเวลาออกไปให้เตรียมตัวกันบ้าง
โดยก่อนหน้านี้ มีประกาศราชกิจจานุเบกษาออกมา ส่งสัญญาณให้รู้ว่า ถึงเวลาต้องเตรียมใจ และเตรียมเงินกันได้แล้ว เพราะกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 และจะจัดเก็บภาษีที่ดินในเดือนเมษายน 2563 จนเศรษฐีบางรายปิ๊งไอเดียพลิกโฉมที่ดินรกร้างว่างเปล่า ขนบรรดาไม้ผลมาลงแน่นพื้นที่ หวังเปลี่ยนอัตราภาษีที่ต้องจ่ายแสนแพง เริ่มต้นที่ 0.3% มาเป็นที่ดินประเภทเกษตรกรรม ที่เสียภาษีเริ่มต้นเพียง 0.01%
- เลื่อนกำหนดจ่ายภาษีเป็น ส.ค.2563
แต่ล่าสุด (น่าจะสุดท้าย) กำหนดการดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 สร้างความงุนงงสงสัยถึงข่าวดังกล่าว แต่ก็มาพร้อมกับเสียงถอนหายใจเบาๆ ของประชาชน ที่พอจะหายใจได้คล่องคอมากขึ้น
สำหรับประเด็นการเลื่อนกำหนดจ่ายภาษีที่ดินนี้ ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เป็นเพราะกระบวนการสำรวจและประเมินทรัพย์สิน ทั้งที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางส่วน "ยังไม่พร้อม" กระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล อปท.ทั่วประเทศ จึงขอให้เลื่อนระยะเวลาออกไป
"เราไม่ได้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย โดยกฎหมายยังมีผลตามกำหนดเดิม คือ ต้นปี 2563 แต่ช่วงระยะเวลาที่ผู้เสียภาษีตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปกติจะต้องเริ่มเข้ามาชำระในเดือนเมษายนของทุกปี จะต้องถูกเลื่อนระยะเวลาออกไปประมาณ 4 เดือน เพื่อให้ท้องถิ่นได้มีเวลาเตรียมสำรวจ และประเมินราคาทรัพย์สินก่อนที่จะแจ้งไปยังผู้ถือครองให้มาชำระภาษี"
- ขั้นตอนการจัดเก็บภาษีแบบใหม่
มาถึงขั้นตอนจัดเก็บภาษีที่ดินแบบใหม่ 2563 ที่เลื่อนระยะเวลออกไปของทั้งหมด 7 ขั้นตอน ว่าจะไปสิ้นสุด หรือมีเดดไลน์ถึงเมื่อไรบ้าง หลักๆ แล้วการขยายเวลาครั้งนี้จะเลื่อนแต่ละขั้นตอนออกไปอีก 4 เดือน
ในขั้นตอนแรก การจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศ และจัดส่งข้อมูลให้กับผู้เสียภาษีแต่ละราย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ อปท.แต่ละท้องที่ มีการเลื่อนจากกำหนดเดิมภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายไปจนถึงเดือนมีนาคม 2563
ขั้นตอนต่อไป คือ การประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็น เดิมเจ้าหน้าที่ อปท.จะต้องเร่งทำให้เสร็จก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2563 ก็มีการขยายเวลาไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 หลังจากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนที่ อปท.ต้องแจ้งการประเมินภาษี โดยส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ที่ขยายไปเป็นเดือนมิถุนายน 2563 เช่นเดียวกัน
มาถึงขั้นตอนสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับ "ผู้เสียภาษี" โดยตรง ต้องจำให้ขึ้นใจเลยว่าระยะเวลาการชำระภาษีนั้น มีการขยายระยะเวลาออกไปถึงเดือนสิงหาคม 2563 จากเดิมทุกๆ ปีจะต้องจ่ายในเดือนเมษายน
และอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สามารถผ่อนชำระได้ด้วย โดยกำหนดระยะเวลาใหม่นั้น ยังคงการผ่อนชำระเป็น 3 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ภายในเดือนสิงหาคม 2563 งวดที่ 2 ภายในเดือนกันยายน 2563 และงวดที่ 3 ภายในเดือนตุลาคม 2563
หากใครไม่ได้ไปจ่ายภาษี ภายในเดือนกันยายนก็จะมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่ยังค้างชำระ และขั้นตอนสุดท้ายในหน้าที่ของ อปท.คือ การแจ้งรายหารภาษีค้างชำระให้กับสำนักงานที่ดินและสำนักงานที่ดินสาขา ภายในเดือนตุลาคม 2563
- ทำอย่างไรเมื่อได้ "จดหมายแจ้งภาษีที่ดิน"
แม้จะมีประกาศเลื่อนระยะเวลาการจัดเก็บภาษีออกมาใหม่ เป็นเดือนสิงหาคม 2563 แต่กระบวนการสำรวจได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยหลายคนน่าจะได้รับใบแจ้งข้อมูลรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือครองกันอยู่บ้างแล้ว จากสำนักเขตในท้องที่ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงเกิดคำถามว่า เมื่อได้จดหมายแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อ?
ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงขั้นตอนที่ผู้เสียภาษีควรให้สำคัญ ก่อนที่จะถึงขั้นตอนของการชำระภาษีว่า
1.ต้องตรวจสอบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า มีการระบุประเภท ขนาด และลักษณะการใช้ประโยชน์ว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าพบว่าไม่ถูกต้อง สามารถยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอแก้ไขให้ถูกต้องได้
และ 2.ตรวจสอบแบบประเมินภาษีที่ อปท.แจ้งประเมินภาษีมา ทั้งการใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ และอัตราภาษี ตรงตามมูลค่าและการใช้ประโยชน์หรือไม่ รวมถึงการคำนวณภาษีด้วย ถ้าพบว่า การประเมินภาษีไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องคัดค้านและอุทธรณ์ตามกระบวนการต่อไปได้
โดยเอกสารที่ส่งมา จะมีคิวอาร์โค้ดคำร้องขอแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง/บัญชีรายการห้องชุด ผู้เสียภาษีสามารถสแกนเข้าไป ข้างในจะให้กรอกเลขประจำตัวประชาชน และเลือกประเภทธุรกิจ เพื่อตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวล ตั้งแต่ได้รับใบแจ้งข้อมูลรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากข้อมูลไม่ถูกต้อง ต้องยื่นกับเรื่องให้กับ อปท.ในท้องที่ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 15 วัน หลังจากได้รับเอกสาร และที่สำคัญคือ หากปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดไป จะถือว่าข้อมูลนั้นๆ ถูกต้อง
แม้จะดูยุ่งยากหลายขั้นตอน แต่การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนตามบทกฎหมายไทย