ศิลปะชวนพิศที่มัสยิดบางอ้อ
มัสยิดบางอ้อ สถานที่ซึ่งศิลปะเรอเนสซองซ์ บารอก และอินเดีย มาบรรจบกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
แม้ว่าจะเคยได้ยินคำร่ำลือถึงความงดงามของมัสยิดบางอ้อ ในซอยจรัลสนิทวงศ์ 86 มาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ทำให้ความรู้สึกตื่นเต้นลดน้อยลงแต่อย่างใดเมื่อได้เข้ามาเยือนสถานที่นี้ ในงานวิถี...มุสลิมบางอ้อ ซึ่งทางชุมชนจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม ผ่านมา
ภายในงานนอกจากจะมีการออกร้านจำหน่ายอาหารมุสลิมตำรับดั้งเดิมที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นแล้ว ยังเปิดให้ผู้สนใจได้เยี่ยมชมมัสยิดหลังงามอายุ 102 ปี โดยมีคุณอดุลย์ โยธาสมุทร เลขามัสยิดบางอ้อ เป็นผู้นำชม
“ อาคารหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองซ์ บารอก โดยมีโดมตามแบบศิลปะอินเดียในราชวงศ์โมกุล ออกแบบโดยสถาปนิกชาวมุสลิมอินเดีย ก่อสร้างโดยช่างชาวจีน”
คุณอดุลย์ กล่าวถึงที่มาของมัสยิดที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ครั้งที่กลุ่มพ่อค้ามุสลิมเชื้อสายเปอร์เชียอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 มาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่รู้จักกันในนาม “แขกแพ” เนื่องจากอาศัยอยู่บนเรือนแพ ก่อนย้ายขึ้นมาสร้างบ้านเรือนอยู่บนที่ดิน
“ในช่วงแรกต้นตระกูลอยู่ที่คลองบางหลวง ต่อมาผู้คนเริ่มมากขึ้นทำให้ต้องขยับขยายมาอยู่ที่บางอ้อ เหตุที่เรียกว่าบางอ้อเป็นเพราะว่ามีต้นอ้อเรียงรายอยู่บนฝั่ง ประกอบกับตลิ่งฝั่งนี้มีพื้นที่ลาดยาว คลื่นลมสงบ จอดแพง่าย สะดวกแก่การค้าขายไม้สัก ไม้ซุงที่จะผูกเป็นแพขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา เราเป็นพ่อค้าไม้ก็จริงแต่ไม่ชำนาญการก่อสร้างเหมือนคนจีน”
มัสยิดหลังนี้เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนตามสมัยนิยมในปลายรัชกาลที่ 5 หากพื้นฐานรากนั้นเดิมเป็นไม้ซุงทั้งหมด กระทั่งมาปรับฐานรากใหม่และดีดอาคารขึ้นสูงหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
“ตัวหนังสือภายในกรอบด้านบนของหน้าบันเป็นคำปฏิญาณตนของมุสลิม ไม่มีพระเจ้าอื่นใดเว้นแต่อัลลอฮ์ ถัดมาในกรอบสี่เหลี่ยมเป็นชื่อมัสยิดเขียนเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า บ่าวผู้มีความภักดี ส่วนตัวเลขด้านบนระบุปีพ.ศ.ที่เปิดใช้ คือ 2461 และปีในภาษาอาหรับ 1339 นับปีนี้มัสยิดมีอายุ 102 ปี”
คุณอดุลย์ อธิบายถึงแผนผังของมัสยิดที่มีรูปทรงพิเศษ กล่าวคือด้านหน้าหันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่ตัวอาคารมีลักษณะเฉียงไปทางทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของนครเมกกะ ภายในประกอบไปด้วยห้องละหมาดสำหรับผู้ชายและผู้หญิงแยกกัน มุมโถงทางเข้ามีบันไดวนสำหรับขึ้นไปหออะซานสำหรับให้ผู้ประกาศเวลาละหมาด
นอกจากมัสยิดอายุ 102 ปีแล้ว ในบริเวณใกล้กันยังมีอาคารไม้โบราณอายุ 112 ปีเป็นเรือนขนมปังขิงหลังคาทรงปั้นหยา เดิมใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์ สถานที่ละหมาด และเรียนคัมภีร์อัลกุรอ่าน
คุณอดุลย์ เล่าวว่าเดิมเป็นอาคารไม้หลังเดียวชื่ออาคารเจริญวิทยาคาร ต่อมาดีดให้อาคารสูงขึ้นเป็นสองชั้น สมัยรัชกาลที่ 6 เคยเป็น โรงเรียนเจริญวิทยา โรงเรียนมุสลิมที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ โดยมีคณะครูทั้งชาวมัสลิมและพุทธ กระทั่งปิดตัวลงในปี 2502 เนื่องจากมีโรงเรียนบางอ้อศึกษา
“พื้นอาคารเป็นไม้สักเรียกว่าไม้สักขี้ควาย มีความหนา มีลายไม้ที่สวย กระจกสีที่ใช้ประดับมาจากอิตาลี ชายคาประดับลายไม้ฉลุเป็นรูปดาวเดือนที่เป็นสัญลักษณ์ของอิสลาม หน้าต่างเป็นบานเฟี้ยม ปัจจุบันใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์ รับรองแขก ส่วนชั้นล่างใช้เป็นห้องบรรยายและจัดกิจกรรม”
วิถี...มุสลิมบางอ้อ ทำให้เราได้เข้าใจวิถีชีวิตของมุสลิมมากขึ้น ในขณะเดียวกันได้เห็นความงดงามของศิลปะที่ถ่ายเทแรงบันดาลใจให้กันและกัน ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองซ์ บารอก โมกุล ของมัสยิด รวมไปถึงเรือนไม้ “ขนมปังขิง” รูปแบบศิลปะที่นิยมกันในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ทั้งยังมีอาคารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อนเนื่องในโอกาสที่มัสยิดมีอายุครบรอบ 100 ปี
แม้ว่าจะเป็นอาคารที่สร้างใหม่ หากรูปแบบศิลปะก็ชวนให้คิดถึงสถาปัตยกรรมเปอร์เซีย เป็นความหลากหลากของอาคารที่อยู่ร่วมกันได้อย่างงดงามและมีความหมาย
ใครที่สนใจเข้าชมมัสยิดและรับฟังประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมุสลิมบางอ้อเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่คุณอดุลย์ โทร.08 1431 1211 ส่วนกิจกรรมวิถีชุมชนที่จะมีการออกร้านจำหน่ายอาหารนั้นจะจัดขึ้นอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ติดตามได้ทางเพจเฟสบุ๊ค “อาหารสานใจ”