2020 หนังไทย (ต้อง) ไปต่อ
หนังไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ถ้าจะก้าวสู่การแข่งขันในตลาดอินเตอร์ ต้องปลดล็อคข้อจำกัดเหล่านี้ให้ได้ก่อน
"หนังไทย" มีความน่าสนใจไม่แพ้ชาติใด กวาดรางวัลเวทีระดับโลกมาแล้วมากมาย ทว่ากลับดูเหมือนยุคนี้หนังไทยค่อนข้างซบเซา คนไทยดูหนังไทยน้อยลง คนทำหนังเองก็หลบซ่อนอยู่ใน Comfort zone เกิดอะไรขึ้นกับความบันเทิงแขนงนี้ และจะเป็นอย่างไรต่อไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม และรสนิยมของผู้ชม
เก้ง-จิระ มะลิกุล
- เปิดใจคนทำหนังไทย
แม้ในมุมของผู้ผลิตจะประกอบไปด้วยคนหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งดารานักแสดง ผู้กำกับ ผู้เขียนบท โปรดิวเซอร์ แต่ต้องยอมรับว่าในแวดวงภาพยนตร์ไทย โปรดิวเซอร์ถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งทุกวันนี้ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงมาก กลไกแบบเดิมๆ กำลังเป็นปัญหา
"ผมเป็นโปรดิวเซอร์หนัง เป็นเจ้าของโปรเจ็กท์ เป็นคนหาตังค์มาทำหนัง ด้วยการเอาโปรเจ็กท์ไปขายตามสตูดิโอต่างๆ ในเมืองไทยไม่มีสตูดิโอแบบฝรั่งที่เป็นแหล่งเงิน แล้วมีโปรดักชั่นเฮาส์เต็มไปหมด มีโปรดิวเซอร์มากมายไปจับคู่กับนักเขียนบท ผู้กำกับ แล้วเอาโปรเจ็กท์มาเสนอสตูดิโอ สตูดิโอชอบเรื่องนี้ก็ซื้อ แต่ในเมืองไทยไม่เป็นแบบนี้ ค่ายหนังทุกค่าย สหมงคลฟิล์ม ไฟว์สตาร์ GDH เป็นแหล่งเงินที่มีโปรดักชั่นเฮาส์อยู่ในตัวเอง ไม่มีค่ายหนังที่มีเงินแล้วให้มา
ผมเป็นต้นกำเนิดไอเดีย ที่รวบรวมเงิน รวบรวมคน แล้วทำบทด้วย เพราะเงินมันน้อยมาก ต้องดูแลความเสี่ยง ส่วนผู้กำกับ คนเขียนบทรับผิดชอบจินตนาการไป ผมรับผิดชอบความเป็นไปได้ ทำโปรเจ็กท์นี้ให้มันสำเร็จ ให้นักวิจารณ์ชอบ คนดูชอบ หวังว่าจะได้สตางค์ และความสำเร็จของโปรดิวเซอร์คือมีโอกาสที่จะได้ทำงานต่อไป
สภาวะตอนนี้ เรากำลังสู้กับหนังฝรั่ง ทุกวันพฤหัสมีหนังเข้ามา 5 เรื่อง หนังไทย 1 เรื่อง หนังฝรั่งลงทุนพันล้าน หนังไทย ถ้าเป็น GDH 20 กว่าล้าน หนังของนุชชี่ 5-6 ล้าน ไปสู้กับเขา ตอนทำเรื่อง แฟนฉัน ผมนอนไม่หลับเลย เรามีแต่ตัวละครเด็ก 4-5 ตัว ดาราที่คนรู้จักมากสุดคือ ต้น แมคอินทอช, เล็ก คาราบาว ฉายชนกับหนังฝรั่งที่ทำรายได้อันดับหนึ่งมาแล้วทั่วโลกคือ finding nemo การทำหนังต้องใช้พลังใจที่เกินมากๆ ทำให้มันดีที่สุด ดีพอที่จะไปซื้อใจคนให้ได้" เก้ง-จิระ มะลิกุล ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ ค่าย GDH กล่าวในงานเสวนา 'Movies Change : เพราะหนังไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย' ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไม่นานมานี้
ในมุมของผู้กำกับ กว่าที่หนังสักเรื่องจะประสบความสำเร็จก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ แต่ที่สำคัญต้องมีเอกลักษณ์ของตนเองด้วย "หนังที่ประทับใจคือไททานิค ตอนแรกที่ดูหนังมันมีอิมแพค รู้สึกว่าอยากทำสิ่งนี้ เราอยากทำอะไรที่มันอิมแพคต่อสังคมต่อคนดู ให้ได้อย่างนั้น"
"การเป็นผู้กำกับ ข้อหนึ่งคือ คุณจะต้องมีคุณสมบัติที่ทำแล้วคนดูจำได้ว่านี่คือเรา หนังต้องมีซิกเนเจอร์ มีลักษณะเฉพาะตัว มีลายเซ็นที่ชัดเจน ทำให้เราโดดเด่นแตกต่างในเวทีโลก และต้องทำสิ่งที่ต่างออกไปจากหนังที่เคยมี ข้อสอง ต้องมีความเชี่ยวชาญในศิลปะการทำภาพยนตร์ ทำในระดับที่ไปแข่งกับหนังต่างประเทศได้ ประเด็นที่จะทำให้ต่างคือ หยิบจับเอาวัตถุดิบแรงบันดาลใจในประเทศไทยเอาไปเล่าแล้วทำให้คนดูต่างชาติ มีความเชื่อมโยงกับ Subject ที่เรากำลังจะเล่า มันต้องเป็นเรื่องที่เขาสนใจ เราต้องหาแง่มุม" นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ บอกถึงความตั้งใจ
นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ
- 'โรงหนัง' กลไกที่ผิดเพี้ยน
ในอดีตที่มีการตั้งกำแพงภาษีหนังต่างประเทศไว้สูง หนังไทยจึงไม่มีการแข่งขันส่งผลต่อคุณภาพ ทำให้คนไทยไม่นิยมดูหนังไทย กระทั่งหนังเรื่อง "นางนาก" ได้สร้างปรากฏการณ์ให้หนังไทยเฟื่องฟูขึ้นมาระยะหนึ่ง แต่แล้วก็ฟุบลงอีกในปัจจุบัน นอกจากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยีและแพลทฟอร์มในการนำเสนอ ซึ่งส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้ชม ด้านหนึ่งยังเป็นเพราะหนังไทยไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมที่แท้จริง คนทำหนังไม่สามารถยึดเป็นอาชีพได้
"คนดูหนังจริงๆ แม้รถติด มีเงินน้อย หรือมี Netflix เขาก็ยังมาดูอยู่ดี การทำหนังแล้วเจ๊ง ไม่ใช่การโทษคนดู แต่ต้องกลับมามองตัวเอง ในประเด็นรายได้จะเห็นชัดมาก มันต้องมีอะไรผิดสักอย่างหนึ่ง อะไรใดๆ ก็ตามในชีวิต ถ้าเราอยากให้มันเจริญ มีสิ่งเดียวคือมันเป็นอาชีพแล้วหรือยัง ที่ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย ทำหนังอย่างเดียวก็อยู่ได้ ถ้าเขาสามารถมีอาชีพได้ แปลว่ามันเริ่มที่จะทำให้อุตสาหกรรมนั้นเปลี่ยนแปลง แล้วก็จะดีขึ้น มีคนเก่งๆ เข้ามาทำเยอะ แต่ตอนนี้รายได้มันต่ำจริงๆ ตั้งแต่ต้นปีมีหนัง 36 เรื่อง มีรายได้เกิน 100 ล้านเรื่องเดียวคือ Friend Zone ที่ต่ำกว่า 10 ล้านมีเป็น 10 เรื่อง ได้น้อยที่สุดคือเรื่อง 777 นะชาลีติ ได้ 5,980 บาท รักล้นใจ ได้ 10,000 บาท
รายได้ Box Office กรุงเทพฯและปริมณฑล จะถูกแบ่งให้โรงหนัง 50 เราได้ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นฟอร์แมทประเทศไทยประเทศเดียวในโลก นอกกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นอาณาเขตของสายหนัง แบ่งเป็นสายใต้ สายเหนือ เจ้าของหนังคนทำหนังไม่มีสิทธิ์เอาหนังไปฉายต่างจังหวัดเอง ต้องผ่านเขาเท่านั้น พอเราไม่มีรายได้เต็มที่ หนังเลยมีต้นทุนต่ำ ไม่มีบุคลากรดีๆ ไม่มีเวลา ไม่มีคิว คนทำหนังก็ไม่ตั้งใจทำ เกิดความเบื่อหน่าย กลายเป็นวัฏจักร” เก้ง จิระ กล่าว นอกจากนี้ ปัญหาเรื่่องค่าตั๋วแพงก็มีผลกระทบกับคนดูไม่น้อย
"การเป็นผู้กำกับหนังไม่สามารถเป็นอาชีพได้จริงๆ ในบ้านเรา หนังเป็นรายได้ที่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นโฆษณา เราต้องมีแหล่งทุนเสริม อีกอย่างอยากให้ตั๋วหนังเข้าถึงคนได้มากกว่านี้ ไม่ใช่ 200 กว่าบาท น่าจะ 80 บาท ในฐานะผู้กำกับอยากให้มีคนดูเยอะจะได้มีอิมแพคต่อสังคม หนังของดิฉันตอนลงโรงก็ต้องไปแข่งกับ BlackPanter" อนุชา กล่าวเสริม และเน้นว่าถ้าต้องการให้อุตสาหกรรมหนังแข็งแรง ภาครัฐมีส่วนสำคัญ
"ภาครัฐต้องช่วยออกมาตรการบางอย่าง ส่งเสริมทางตลาด หรือการจัดจำหน่ายระหว่างโรงกับคนทำหนัง บางเรื่องได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราไม่ยอมก็ไม่ได้ฉาย มันเป็นเรื่องความยุติธรรมของการจัดจำหน่ายหนัง"
- อาวุธของหนังไทย
ที่ผ่านมาหนังไทยหลายเรื่องได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นความสามารถเฉพาะตัวของผู้กำกับมากกว่าที่จะเป็นความสำเร็จของวงการภาพยนตร์ไทย ดังนั้นการขยายผลจากจุดนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายหากต้องการให้ภาพยนตร์ไทยได้ทั้งเงินและกล่อง
"GDH เราไม่ได้ทำหนังแข่งกับค่ายอื่น หรือ Netflix แต่เราทำหนังแข่งกับไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันที่มีออฟชั่นความสุขในชีวิตเยอะเหลือเกิน สมัยก่อนความสุขคือไปดูหนัง ไปเดินห้าง ณ วันนี้ แค่ก้มหน้าก็แฮปปี้แล้ว ดูคลิป 3-6 วิก็ยิ้ม ไม่ต้องดูหนังก็ได้ คู่แข่งเราไม่ใช่แค่หนังแล้ว มันไปไกลกว่านั้นอีกมากๆ" อัมราพร แผ่นดินทอง ผู้เขียนบทเรื่องแฟนฉัน เปิดประเด็น ขณะที่ เก้ง จิระ บอกว่า หนังทุกเรื่องมีความเห็นของผู้กำกับซ่อนอยู่เสมอ
"เมื่อหนังของเขาประสบความสำเร็จ คนดูไว้ใจ คนดูอนุญาตให้เขาเป็นผู้กำกับหนังให้ดู ก็ทำให้เขามีอาชีพ เหนือสิ่งอื่นใดคือ การทำหนังให้คนดูชอบ คุณต้องเป็นคนชอบดูหนังไทยก่อน สอง ความคิดเห็นของผู้กำกับที่เขาอยากเสนอ สมควรได้รับการเผยแพร่ เราก็ทำให้มันได้รับการเผยแพร่ที่ดีที่สุด อย่าง แฟนฉัน ได้เงิน แล้วก็เป็นหนังในดวงใจคน เป็นหนังที่มีคุณค่า” ส่วนหนังจะได้รางวัลหรือได้ใจคนดูขึ้นอยู่กับรสนิยมและบริบททางวัฒนธรรมในแต่ละประเทศด้วย
"อนธการ เป็นเรื่องความรุนแรงของคนในครอบครัว เป็นหนังผี มะลิลาเป็นหนัง LGBT ดราม่า มีประเด็นเรื่องศาสนาพุทธ มีวัฒนธรรมการทำดอกไม้ของไทย อนธการ success ในยุโรป อเมริกา แต่ไม่ success ในเอเชีย ส่วนมะลิลา success ในเอเชีย ประเทศที่ success มากที่สุดคืออินเดีย คนดู get กับประเด็นที่เขาสนใจหรือคุ้นเคยหรือเข้าใจมันได้ เพราะเขามีวัฒนธรรมการร้อยดอกไม้ แต่ยุโรป ไม่เข้าใจบายศรี ไม่เข้าใจศาสนาพุทธ ก็ shut down ไปเลย การทำหนังไปแข่งในระดับอินเตอร์ หนังที่มี Quality มีลายเซ็นต์ มันดูพอๆ กันหมด แต่สิ่งที่ทำให้หนัง success มากน้อยอยู่ที่ประเด็นที่คนดูต่างประเทศจะเชื่อมโยงได้ ประเทศไทยมีสิ่งที่เขาเชื่อมโยงได้คืออะไร โรฮิงญา โสเภณี”" อนุชา กล่าวถึงการนำหนังไทยสู่เวทีระดับนานาชาติ
อมราพร แผ่นดินทอง
- เมื่อคนดูคือประชากรโลก
มาถึง พ.ศ.นี้ สิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตอลซึ่งมีผลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คน รวมถึงการเสพสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์ที่มีทางเลือกและช่องทางหลากหลายขึ้น
"ประเด็นเป็นเรื่องของเรา แต่วิธีการเปลี่ยน โซเชียลมีเดียเข้ามา ถ้ารู้สึกว่าเป็นศัตรูเราก็เหนื่อย งั้นก็เข้าสู่โลกใบนั้นเลยละกัน อย่างแอนิเมชันที่ทำอยู่จะไม่มีภาษาพูดเลย เป็นเรื่องของตัวเหี้ยที่อยากจะมีเจ้าของ เวลาวิ่งหาใครคนก็จะเกลียด คนก็จะหนี น้องเหี้ยอยากจะให้คนรัก ทำไมคนเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว เราก็อยากจะมีปลอกคอ มีคนกอด เราทำตรงนี้ 2 นาที โดยไม่ต้องพูด ทำเรื่องสคริปต์ ส่วนเรื่องเทคโนโลยี อินเดียเอาไปทำ เรื่องมิกซ์เสียง ไอร์แลนด์ทำ
ตอนนี้บริษัทของเราเป็นโลก คนดูเป็นประชากรโลก เราเข้าสู่โลกที่ภาษาไม่เป็นอุปสรรค เป็นโลกใบใหม่ เราทำซีรีส์เสนอ Netflix บทเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 10 ตอน 2 ซีซัน ตอนนี้เขาบอกว่า 10 ตอนคนดูไม่ดูแล้ว สถิติที่เขาไปเสิร์ชมา ความสนใจคนดูอยู่แค่ตอนที่ 7 ก็เลยลดความยาวให้เหลือแค่ 7 แล้วลองแค่ 1 ซีซัน เทสต์ดูก่อน โฟกัสของคนดูมันสั้นลง โฆษณาก็ต้องทำให้อยู่ใน 6 วินาที หนังก็เหมือนกัน เราต้องทำให้คนอยู่กับเราเร็วที่สุด เป็นสงครามแย่งชิงเวลา” อัมราพร กล่าวและว่าการทำหนังออกมานำเสนอสักเรื่องหนึ่ง สิ่งที่จะสื่อสารกลับมาให้คนทำได้รับรู้ก็คือ ฟีดแบคของคนดู ซึ่งสำคัญมากๆ ต่อกำลังใจคนทำหนัง
"ถ้าเราอยากดูหนังเรื่องนี้ ต่อให้นักวิจารณ์มาด่า เราก็ดู ในฐานะคนทำหนัง เราจะคอยดูว่าเขาวิจารณ์ว่าอย่างไรบ้าง มันยากที่จะทำให้คนดูชอบหนังเรา เรื่องของเสียงตอบรับ ไม่ว่าด้านไหน ขอให้มาเถอะ ไม่ว่าฉายที่คานส์หรือเทศกาลใหญ่โต ถ้าฉายแล้วกริบ นี่คือเสร็จ หนังคุณตาย แต่ถ้าฉายแล้วคนด่า สื่อด่า โอเค มีคนด่าก็ต้องมีคนชอบ กลายเป็นหนังที่ท้าทายว่าจะชอบหรือไม่ชอบ หรือถ้าชม ก็โอเค คือให้มีอะไรสักอย่าง ขอให้ไม่เงียบ ด่าก็ได้ การเงียบ คือเขาไม่อยากพูดถึง นี่คือเจ็บสุด" อนุชา กล่าว
ขณะที่ จิระ มองว่าโซเชียลมีเดียเป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งอาจจะแย่งคนดูไป แต่อีกด้านก็สามารถกระตุ้นคนให้มาดูหนังได้เช่นกัน
"โรงหนังปัจจุบัน 85-90 เปอร์เซ็นต์ คนดูอยู่ในวัย 15-25 ปี อายุ 25-30 รองลงมา อายุ 30 ขึ้นไปก็น้อยลงไปอีก การทำสื่อยุคนี้เปลี่ยนไป สื่อออนไลน์สามารถเจาะ target ลงไปได้เลยว่าเขาเป็นใคร แล้วทำ AD ให้เหมาะกับเขา ไม่ต้องประณีตเฉียบเนี้ยบกริบเท่าที่เคยทำไปลงในสื่อขนาดใหญ่อีกต่อไปแล้ว เงินที่เขาใช้กับสื่อส่วนใหญ่มาทางนี้หมดแล้ว แปรเปลี่ยนไปตามสภาวะของสังคม"
อนาคตหนังไทยนับจากนี้ จึงมีทั้งเรื่องที่บั่นทอนและส่วนที่ท้าทาย สามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตได้หลากหลายมากขึ้น ขณะที่ผู้ชมก็มีทางเลือกในการเสพสื่อบันเทิงมากขึ้น ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้การเปลี่ยนแปลงไปในทางสร้างสรรค์ได้อย่างไร
ที่มา : เรื่องและภาพ กนกพร โชคจรัสกุล จุดประกาย ฉบับวันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2563