5 เทรนด์ผู้บริโภค ทศวรรษหน้า 2030

5 เทรนด์ผู้บริโภค ทศวรรษหน้า 2030

งานวิจัยเผยแนวโน้มเทรนด์ผู้บริโภคสุดล้ำในปี 2030 ที่อาจนำไปสู่โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจในทศวรรษหน้า

ช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่าน ดิจิทัล ดิสรัปชัน เข้ามามีบทบาทอย่างมากทั้งในมิติการของการดำเนินชีวิต การทำงาน รวมไปถึงการทำธุรกิจ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านเท่านั้น 

ในปี 2030 ดิจิทัลจะทรงพลังมากกว่าที่เป็นอยู่ และเป็นปีที่จะต้องต้อนรับ
“อินเตอร์เน็ตของความรู้สึก (Internet of the senses)” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน!

หากมองอนาคตไปอีก 1 ทศวรรษ จาก 2020-2030 ดิจิทัลมีแนวโน้มพัฒนาจนเข้าถึงประสาทสัมผัสของมนุษย์อย่างที่เคยกล่าวถึงในหนังแนววิทยาศาสตร์เมื่อหลายสิบปีก่อน และแทบดูเป็นไปไม่ได้

แต่ข้อมูลวิจัยของ Ericsson ConsumerLab December 2019 ระบุว่า ในปี 2030 ดิจิทัลจะทรงพลังมากกว่าที่เป็นอยู่ และเป็นปีที่จะต้องต้อนรับ “อินเตอร์เน็ตของความรู้สึก (Internet of the senses)” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมระบุเทรนด์ดิจิทัลที่จะเกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นจริงในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 ดังนี้

157856246069

  • เชื่อมโยงความต้องการจากสมองได้โดยตรง

ในอีก 10 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่า เส้นแบ่งระหว่าง "ความคิด" และ “การกระทำ” จะค่อยๆ ถูกกลืนกันจนแยกไม่ออก เนื่องจากเทคโนโลยีจะสามารถเข้าถึงความคิดของมนุษย์ได้ตั้งแต่ก่อนที่จะกระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อแสดงความต้องการซึ่งเทคโนโลยีที่คิดว่าเป็นไปได้มากที่สุดคือการใช้แว่นตา AR (Augmented Reality) เป็นเทคโนโลยีที่นำภาพเสมือน ที่เป็นรูปแบบ 3 มิติในปัจจุบัน ที่ถูกคาดการณ์ว่า ราวปี 2030 อุปกรณ์นี้สามารถรับรู้ความต้องการของมนุษย์ หรือช่วยค้นหาข้อมูลที่เคยเก็บไว้

เช่น กรณีที่สมองไม่สามารถจำชื่อของคนที่เคยรู้จักได้ เมื่อเจอหน้าแบบจังๆ แว่นตา AR จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับคนที่พบ เช่น ชื่อหรือสถานที่เคยพบกันมาก่อนได้ หรือแม้แต่การแสดงแผนที่เสมือนจริงผ่านแว่นตา AR ที่ช่วยให้สามารถค้นหาเส้นทางได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่คิดถึงจุดหมายปลายทางเท่านั้น ซึ่งมากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นเรื่องธรรมดาในปี 2030 โดยเทคโนโลยีนี้อาจนำไปสู่การให้บริการ โฆษณาที่ตรงจุดมากกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงความคิดส่วนตัวมากเกินไปอาจไม่ใช่ผลดี ทั้งในมิติของการนำข้อมูลไปใช้อย่างเหมาะสม และความเป็นส่วนตัว ที่จะต้องนำไปสู่การนิยามความหมายใหม่ และต้องขบคิดอย่างจริงจังเมื่อสิ่งเหล่านี้กำลังจะมาถึง

กรณีที่สมองไม่สามารถจำชื่อของคนที่เคยรู้จักได้ เมื่อเจอหน้าแบบจังๆ
แว่นตา AR จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับคนที่พบ เช่น ชื่อหรือสถานที่เคยพบกันมาก่อนได้

157856366879

  • สร้างเสียงที่ต้องการได้เอง

การพัฒนาระบบดิจิตอลครั้งใหญ่ ทำให้การฟัง การได้ยิน และการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยภายในปี 2030 คาดว่า ผู้บริโภคจะสามารถควบคุมเสียงได้อย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่เสียงที่ได้ยิน แต่ยังสามารถควบคุมสิ่งที่คนอื่นได้ยินจากพวกเขาได้ด้วย

ผู้บริโภคจะสามารถสร้างโลกที่ตัวเองพอใจ
และไม่จำเป็นต้องฟังเสียงรอบข้างที่ไม่ต้องการอีกต่อไป!

โดยผู้บริโภคจะสามารถสร้างโลกที่ตัวเองพอใจและไม่จำเป็นต้องฟังเสียงรอบข้างที่ไม่ต้องการอีกต่อไป โดยมากกว่า 7 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าในอนาคตจะมีหูฟังที่แปลภาษาอัตโนมัติแบบไร้ที่ติ แถมอุปกรณ์นี้ยังสามารถโทรหาใครก็ได้ในโลก ด้วยภาษาใดก็ได้ และมีเสียงเหมือนตัวเองอีกด้วย โดย 67% เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถรับฟังเสียงของใครก็ได้ที่เหมือนเสียงจริง และอาจเหมือนจนถึงขั้นที่สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถแยกแยะเสียงจริงและเสียงปลอมได้เลยทีเดียว

  • ลิ้มรสผ่านดิจิทัล

รสชาติจะถูกแปลงเป็นดิจิทัล และต่อมรับรสของเราในอีก 10 ปีข้างหน้าจะสามารถสร้างประสบการณ์ส่วนตัวที่ทรงพลัง เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะนำไปสู่อุปกรณ์ที่สามารถใส่เข้าไปในการเพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถลิ้มรสใดๆ ก็ได้อย่างที่ตัวเองต้องการ 

โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 44% คาดว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้จริงในปี 2030 ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ เนื่องจากนวัตกรรมเหล่านี้จะทำให้มนุษย์สามารถทานอาหารเพื่อสุขภาพ(ที่ปกติมักไม่อร่อย) ในรสชาติเหมือนร้านอาหารมิชลินได้แบบสบายๆ

ในมิติของธุรกิจอาหาร ผู้คนจะสามารถลองชิมก่อนซื้อ ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า จะมีการปฏิวัติการชอปปิงออนไลน์เกิดขึ้น เพราะสามารถลิ้มลองอาหารตัวอย่างแบบดิจิทัลจากความสะดวกสบายได้ทุกที่ผ่านของอุปกรณ์ส่วนตัวของแต่ละคน

10 ปีข้างหน้ามนุษย์จะสามารถทานอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีรสชาติระดับมิชลินได้แบบสบายๆ

นอกจากนี้เกือบทุกคนเชื่อว่าจะมีรายการทำอาหารทีวีที่ให้คุณได้สัมผัสกับรสชาติอาหารบนหน้าจอ ที่สำคัญยังมีการคาดการณ์ว่าข้อมูลทางประสาทสัมผัสดิจิทัลประเภทนี้จะได้รับการสนับสนุนการเงินจากบรรดาโฆษณาต่าง ๆ อีกด้วย

157856369799

  

  • ดมกลิ่นที่ไหนก็ได้

ปัจจุบันประสาทสัมผัสเรื่องกลิ่นแทบจะเป็นไปไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะดิจิทัลเหมือนประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ แต่ 10 ปีข้างหน้า กลิ่นจะมีบาทมากขึ้น แต่มาในรูปแบบใหม่ โดยภายในปี 2030 ประชากรโลกจะอยู่ห่างจากธรรมชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้มนุษย์ต้องการประสบการณ์จากธรรมชาติเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามจึงคาดว่าพวกเขาจะสามารถเยี่ยมชมป่าหรือชนบท และสัมผัสกับกลิ่นธรรมชาติตามสถานที่เหล่านั้นเสมือนไปในสถานที่จริงในอนาคต

6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่า พวกเขาจะสามารถเยี่ยมชมป่าหรือชนบท
และสัมผัสกับกลิ่นธรรมชาติตามสถานที่เหล่านั้นเสมือนไปในสถานที่จริงในอนาคต

แม้ว่าที่ผ่านมา จะเคยมีความพยายามรวมกลิ่นในภาพยนตร์ย้อนหลังไปจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 1960 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากการขาดเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่ได้รับความนิยม ซึ่งในปี 2030 ผู้ตอบแบบสอบถาม 56% คาดหวังว่าจะสามารถรับกลิ่นทั้งหมดในภาพยนตร์ที่พวกเขารับชมแบบดิจิทัลได้แล้ว เพราะประสิทธิภาพของเทคโนโลยีถูกพัฒนาจนเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

  

  • ทุกอย่างสัมผัสได้

ผู้บริโภคคาดหวังว่า จะสามารถสั่งงานผ่านการสัมผัสได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ เมื่อในอนาคตความสามารถในการสัมผัสพื้นผิวแบบดิจิทัลอาจไปไกลกว่าขอบเขตของหน้าจอสมาร์ทโฟน

โดย 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่า จะมีโอกาสใช้งานมีสายรัดข้อมือที่กระตุ้นประสาทเพื่อให้รู้สึกว่ามีวัตถุดิจิทัลเกิดขึ้นตรงหน้า ในปี 2030 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถสัมผัสได้ทุกอย่างจากดิจิทัลอย่างง่ายๆ อาทิ ลูกบอล พื้นผิวต่างๆ ไปจนถึงผิวหนังของบุคคลอื่น โดยแอปพลิเคชันของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสัมผัสอาจไร้ข้อจำกัดกว่าที่คิด เช่น เราอาจจะรู้สึกถึงสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากประสาทสัมผัสของมนุษย์ หรือรู้สึกถึงสภาพอากาศที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะพายุฝน หรือคลื่นความร้อน ได้เลยทีเดียว

แน่นอนว่าหากเทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานได้ดีและมีต้นทุนที่จับต้องได้ ย่อมถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในเชิงธุรกิจ เพื่อตอบสนองต้องการของผู้บริโภคที่จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีความเป็นไปได้แค่ไหนเมื่อเวลานั้นมาถึง

ในปี 2030 ผู้บริโภคคาดหวังว่า จะมีอุปกรณ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถสัมผัสได้ทุกอย่างจากดิจิทัลอย่างง่ายๆ อาทิ ลูกบอล พื้นผิวต่างๆ ไปจนถึงผิวหนังของบุคคลอื่น!!!

ทั้งนี้ รายงานนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากผู้บริโภคที่ยาวนานของ Ericsson จากการสำรวจออนไลน์ของผู้อยู่อาศัยใน กรุงเทพฯ เดลีจาการ์ตา โยฮันเนสเบิร์ก ลอนดอน เม็กซิโกซิตี้ มอสโก นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก เซาเปาโล เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ สตอกโฮล์ม ซิดนีย์และโตเกียว โดยเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2019 รวบรวมผู้ตอบแบบสอบถาม 500 คนจากแต่ละเมือง (ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีคุณสมบัติ 7,608 คนอายุระหว่าง 15–69 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ใช้ทั่วไปของความเป็นจริง (AR), ความเป็นจริงเสมือน (VR) หรือผู้ช่วยเสมือนจริงหรือผู้ที่ตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในอนาคต)