มหัศจรรย์ สระน้ำขั้นบันได

 มหัศจรรย์ สระน้ำขั้นบันได

คนทั่วไปมักพูดถึงการไปเที่ยวอินเดียว่า ไม่รักก็เกลียด แต่ถ้าไปถาม เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จะได้คำตอบว่า “ยิ่งไปยิ่งรู้ว่าไม่รู้ ยิ่งศึกษายิ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้ มันซับซ้อนอะไรขนาดนี้”

หลังจากสายการบินไทยสมายล์เปิดเส้นทางบินตรงไปยังอาห์เมดาบัด อดีตเมืองหลวงของแคว้นคุชราต เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรื่องราวและภาพของสระน้ำขั้นบันไดอันใหญ่โตโอฬารที่ขุดลึกลงไปใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำขั้นบันไดรานี กีวาว (Rani  Ki Vav) ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก สระน้ำขั้นบันไดรุทาเบาลี (Ruda Baoli) รวมไปถึงสระน้ำขั้นบันไดแห่งเมืองโมเฑระที่เทวาลัยพระสุริยะ ก็ได้รับการเผยแพร่กันอย่างต่อเนื่อง

157881254714

วาว กับ เบาลี มีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร สถาปัตยกรรมอันซับซ้อนทว่าสวยงามและน่าตื่นตะลึงนี้สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด เราชวนไปหาคำตอบจาก ผศ.ดร.เชษฐ์  ติงสัญชลี ผู้ได้รับทุนพระราชทานจากมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ศึกษาต่อปริญญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่ National Museum Institute,New Deli,India

 วาว กับ เบาลี มีความหมายเหมือนกันครับ เบาลีเป็นภาษาฮินดี” อาจารย์เชษฐ์ อธิบายก่อนเกริ่นให้ฟังถึงสภาพภูมิอากาศของแคว้นคุชราตที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียว่าค่อนข้างแห้งแล้ง ในช่วงมรสุมแม้ว่าจะมีฝนแต่ฝนจะมาอย่างรวดเร็ว การขุดสระเพื่อเก็บกักน้ำจึงเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่หาวิธีเก็บกักน้ำไว้ใช้

“สระน้ำขั้นบันไดสร้างขึ้นด้วยเหตุผล 3 ประการ ข้อแรก คือ สร้างขึ้นในพื้นที่แห้งแล้งของอินเดียเพื่อให้ได้น้ำใต้ดินธรรมชาติใน พื้นที่ไหนที่อุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้นจะไม่มีสระน้ำขั้นบันได เราจะไม่เห็นสระน้ำขั้นบันไดในเบงกอลที่มีฝนตกชุก เช่นเดียวกับที่อินเดียใต้มีน้อยมากแทบจะไม่มีเลย เพราะฝนตกชุก

เหตุผลต่อมาคือเพื่อความเย็นสำหรับหน้าร้อน คนสามารถหนีไปอยู่ใต้ดินได้ เนื่องจากอุณหภูมิใต้ดินจะต่ำกว่าด้านบนราว 5 องศาเซลเซียส

เหตุผลสุดท้าย ทำบันไดให้คนทุกเพศทุกวัยรวมทั้งสัตว์สามารถลงบันไดไปดื่มน้ำได้ใช้น้ำตักน้ำ ไม่ว่าระดับน้ำจะสูงต่ำขนาดไหนก็สามารถไปถึงน้ำได้ ถามว่าบ่อน้ำชักรอกมีไหมมีแต่อยู่อีกด้านหนึ่ง สระน้ำขั้นบันไดเป็นของส่วนรวมมากกว่า”

จากสระน้ำขั้นบันไดที่เกิดมาจากความจำเป็นในชีวิตประจำวัน พัฒนามาเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความวิจิตรตระการตาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 คุชราตปกครองโดยราชวงศ์ โสลังกี มีเมืองหลวงอยู่ที่ปาทัน

สระน้ำขั้นบันได รานี กี วาว ที่สร้างถวายให้แก่พระมเหสีของพระเจ้าภีมเทวะที่ 1 ในราชวงศ์นี้ถือได้ว่ามีความยิ่งใหญ่ด้วยขนาด 65x17 เมตร ขุดลึกลงไปในดินกว่า 18 เมตร สร้างเป็นขั้นบันไดทางเดินนำไปสู่อาคารใต้ดินลึก 7 ชั้น งดงามด้วยลวดลายแกะสลักแทบทุกส่วนของสถาปัตยกรรม

157881259258

“สระน้ำแห่งนี้ขึ้นเพื่ออุทิศให้พระวิษณุ จึงมีประติมากรรมที่สัมพันธ์กับศาสนาฮินดูเป็นสำคัญ ประกอบกับพระวิษณุมีความเกี่ยวข้องกับน้ำเพราะพระวิษณุนอนอยู่กลางทะเล (วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ หรือ นารายณ์บรรทมสินธุ์) มีรูปปั้นพระวิษณุนอนอยู่กลางทะเลอยู่ที่ปลายสุดของสระน้ำที่นี่

 เวลาเราเดินลงไปจะเต็มไปด้วยรูปประติมากรรมประติมากรรมนั้นถ้าน้ำสูงก็ท่วมไปเลย ถ้าน้ำต่ำก็จะเห็นประติมากรรมเช่น จะเห็นอวตารทั้ง 10 ของพระวิษณุ เช่น อวตารเป็นคนขี่ม้า เป็นพระพุทธเจ้า พระราม พระกฤษณะ รวมไปถึงเทพเจ้าในศาสนาฮินดู”

157881266155

ในสมัยราชวงศ์โสลังกี ยังมีสระน้ำขั้นบันไดที่มีความตระการตาอีกแห่งหนึ่งที่เทวาลัยพระสุริยะ อาจารย์เชษฐ์กล่าวว่า

“เทวาลัยแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่อบูชาพระอาทิตย์ คนอินเดีย บูชาเทพเจ้าธรรมชาติ บูชาพระอินทร์เทพแห่งฝน พระอัคนีเทพแห่งไฟ บูชาพระสุริยะเทพแห่งอาทิตย์ ตอนหลังพระสุริยะได้รับการยกย่องเป็นพิเศษเพราะเป็นผู้ที่ทำให้เกิดวันเกิดฤดูกาลมีผลต่อจักรวาล

วางผังเทวาลัยให้มีสระน้ำเพื่อคนจะได้ไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดก่อนเข้าไปเดินเข้าไปในสภามณฑป อาคารหินแกะสลักเป็นห้องโถงเอาไว้เต้นรำในพิธีกรรม ด้านหลังเป็นอาคารทึบเป็นห้องที่ประดิษฐานพระสุริยะ”

157881272436

อยากจะรู้ว่าประติมากรรมใด คือ พระสุริยะ อาจารย์เชษฐ์แนะว่าให้สังเกตรูปบุคคลถือดอกบัว

“ พระสุริยะมีท่าประจำคือ มีดอกบัว 2 ดอกอยู่ในมือ มีม้าเป็นบริวารตัวชักลากรถ เพราะอินเดียเชื่อเหมือนอียิปต์คือพระอาทิตย์เคลื่อน ชาวกรีกเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์นั่งรถม้า ของอินเดียบอกว่ามีม้า 7 ตัวแทน 7 วัน รอบเทวาลัยพระสุริยาจะมีรูปม้าลากรถ อยู่ 7 องค์

ประติมากรรมประกอบสภามณฑปจะเป็นเรื่องนางเต้นรำเพราะเอาไว้เต้นรำ จะมีประติมากรรมเล็กน้อยที่กระจัดกระจายเช่นเทพเจ้าประจำทิศ อยู่ที่มุมของเทวาลัย ตรงฐานจะมีรูปช้างล้อม ช้างเป็นสัตว์รองรับจักรวาล

157881277018

นอกจากนี้บริเวณฐานยังแสดงรูปคน สามารถทำเป็นรูปต่างๆได้ตั้งแต่ชีวิตประจำวันมหากาพย์ของอินเดีย ภาพเมถุนหรือการร่วมเพศ หมายถึง การร่วมเพศสอนว่า ถ้าอยากให้ครอบครัวมีความสุขต้องรู้เรื่องการร่วมเพศ เป็น 1 ในอาศรม 4 ของศาสนาฮินดู การร่วมเพศจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ สลักไว้ที่เทวาลัยก็ทำให้เทวาลัยอุดมสมบูรณ์ด้วย อวยพรเรื่องการมีลูก อาศรมที่ 2 ของอาศรม 4 คืออาศรมคฤหัสถ์ คนเมื่ออายุ 25 ถึง 50 ปีก็ต้องแต่งงาน ต้องร่วมเพศเพื่อให้มีลูกต่อไป”

ส่วนสระน้ำขั้นบันไดรุทา เบาลี สร้างขึ้นในยุคหลังมีอายุราว 500 ปี ตั้งชื่อตามพระนางรุทา พระมเหสีของกษัตริย์ราชวงศ์วาฆระ ราชวงศ์สุดท้ายที่นับถือศาสนาฮินดู แม้ว่าจะมีขนาดที่เล็กกว่า หากมีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อนกว่า กล่าวคือ มีอาคารที่สร้างลึกลงไปใต้ดิน 4 ชั้น รองรับด้วยเสาหินและระเบียง มีบันไดหิน 3 ด้านทอดลงไปสู่สระน้ำทรง 8 เหลี่ยมด้านในสุด

157881283449

157881290442

“ในช่วงนี้อิทธิพลศิลปะมุสลิมเข้ามาผสมแล้ว ประติมากรรมเป็นรูปเทพเจ้าไม่มีแล้วหายไปหมด แต่ว่าโครงสร้างข้างในมีพัฒนาการที่ซับซ้อนกว่าเดิม แม้ว่ารุทา เบาลี จะเล็กกว่าแต่มีผังทางเดินที่ยาวและลึกกว่า ที่คุชราตยังมีดาดา ฮารี นี วาว (Dada Hari Ni Vav) อีกแห่งที่มีโครงสร้างสวยงามอันนี้สร้างอยู่หน้ามัสยิดเลย” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

นอกจากแคว้นคุชราตแล้ว สระน้ำขั้นบันได้ยังพบที่แคว้นราชสถาน ถ้าสนใจเรื่องโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมคุชราตมีความโดดเด่นกว่า แต่ถ้าสนใจเรื่องความซับซ้อนของบันไดยกให้ราชสถาน

“เรียกว่าเก่งกันคนละอย่างดีกว่า” อาจารย์เชษฐ์ สรุปสั้นๆ

มหัศจรรย์อินเดียยังมีอีกมาก ยิ่งไปยิ่งไม่รู้ คือ ความจริงแท้

หมายเหตุ นารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือ วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ คือ ตอนที่พระวิษณุการบรรทมในช่วงการสร้างโลก การบรรทมแต่ละครั้งนั้น จะเกี่ยวกับยุคเวลาในแต่ละกัลป์ ในคัมภีร์วราหปุราณะ กล่าวถึงพระวิษณุ กำลังบรรทมอยู่นั้น ได้ทรงสุบิน เกิดปัทมขึ้นจากพระนาภี บนปัทมได้บังเกิดพระพรหม และพระพรหมทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ และสิ่งต่าง ๆ