อายุ 70 ที่มีความหมายใน 'สังคมสูงวัย'
เมื่อสังคมเข้าสู่วัยสูงอายุ จะใช้ประโยชน์จากประชากรสูงวัยเหล่านี้อย่างไร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ จุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนในประเทศมองสังคมสูงวัยเป็นโอกาศทางเศรษฐกิจ ต้องเริ่มจากคนในวัยเกษียณ หรือคนในสังคมสูงวัยเองที่ต้องมองโลกต่างไปจากเดิม
เพื่อนๆ ผมและคนที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ขณะนี้เป็นคนสูงวัย อายุมากขึ้น คือเลย 65 ปี อยู่ในวัย "เกษียณ" ตามความเข้าใจของคนไทย
หลายคนไม่อยากทำอะไรมากหลังเกษียณเพราะมองว่ากำลังอยู่ในวัยทอง อยากหาความสุขให้ตัวเองหลังทำงานมากว่า 40 ปี ซึ่งก็จริง และคนเราควรต้องพักผ่อน และหาความสุขบ้าง แต่ก็มีอีกกลุ่มที่ชอบที่จะทำงานต่อ หาอะไรทำตลอด เพราะมองว่า ถ้ายังมีแรง สุขภาพยังไหวก็อยากจะทำอะไรต่อไป อยากใช้ความรู้ความสามารถที่มีให้เป็นประโยชน์ ทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่น ทำให้ชีวิตไม่เหงา เป็นความสุขอีกแบบของคนสูงวัย
สิ่งที่ผมพูดถึงนี้ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมสูงวัยทั่วโลก คือ คนในสังคมอายุมากขึ้น (aging) พร้อมกับมีอายุยืนยาวขึ้น (Longevity) เป็นสองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมสูงวัยทุกประเทศ คือ คนสูงอายุมีมากขึ้น และอายุยืนขึ้นเที่ยบกับแต่ก่อน เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ความหมายของสังคมสูงวัยต่างไปจากในอดีต อดีตคือความหมายว่า คนสูงวัยที่เกษียณเป็นความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ เพราะคนเหล่านี้จะไม่ทำงาน ไม่อยู่ในตลาดแรงงาน และมีภาระทางเศรษฐกิจที่ต้องดูแลคนเหล่านี้ เป็นต้นทุนให้กับเศรษฐกิจ จึงมองว่าสังคมสูงวัยเป็นปัญหาต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ นี่คือมุมมองจากในอดีต
สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ คนในสังคมอายุยืนขึ้น เป็นผลจากการใช้ชีวิตที่ระมัดระวัง ความก้าวหน้าด้านการแพทย์ และมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา กรณีของไทย อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยปี 2017 คือ 76.5 ปี เทียบกับ 49.3 ปีในปี 1950 เพิ่มขึ้น 27.2 ปี ใน 67 ปี หรือปีละห้าเดือน เมื่อคนอายุยืนขึ้น คำถามคือ เราจะใช้เวลาหลังเกษียณที่นานขึ้นอย่างน้อยอีก 17 ปี ทำอะไร โดยเฉพาะที่ปัจจุบันสุขภาพของคนอายุ 60 ปี จะดีกว่าคนอายุ 60 สมัยก่อนมาก
โจทย์นี้ทำให้ความหมายของสังคมสูงวัยได้เปลี่ยนไป เพราะจำนวนคนสูงวัยจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบันอัตราส่วนประชากรสูงวัยในประเทศกำลังพัฒนาสูงกว่าในประเทศอุตสาหกรรม และอัตราส่วนอาจเพิ่มเป็นสองในสามในปี 2030 และสามในสี่ในปี 2050 คนสูงวัยเหล่านี้มีทั้งความรู้ ประสบการณ์ เงินออมสะสม และกำลังซื้อ คำถามคือ เราจะใช้ประโยชน์จากประชากรสูงวัยเหล่านี้อย่างไร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคม เป็นโจทย์ที่นโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อสร้างสังคมสูงวัยให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ นี่คือทิศทางที่นโยบายสังคมสูงวัยของประเทศเราจะต้องเดิน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น เพราะถ้าเรามองสังคมสูงวัยเป็นต้นทุนอย่างที่เป็นอยู่ ประเทศเราก็ไม่มีทรัพยากรที่จะดูแลความเป็นอยู่ของสังคมสูงวัยได้เพียงพอ ดังนั้นโจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรให้คนไทยอายุ 70 ปี เป็นวัยทองที่มีความหมายในสังคมสูงวัย
เราจะใช้ประโยชน์จากประชากรสูงวัยเหล่านี้อย่างไร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคม เป็นโจทย์ที่นโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อสร้างสังคมสูงวัยให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ
ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนในประเทศมองสังคมสูงวัยเป็นโอกาศทางเศรษฐกิจ ต้องเริ่มจากคนในวัยเกษียณ หรือคนในสังคมสูงวัยเองที่ต้องมองโลกต่างไปจากเดิม
1.ต้องมองว่า อายุเป็นเพียงตัวเลข และจำนวนปีในอายุที่มากขึ้นไม่ได้บ่งบอกถึงความเข้มแข็งของสุขภาพที่ต้องลดลงเหมือนสมัยก่อน คือ อายุตามปีปฏิทิน(Chronological age) กับ อายุตามชีวภาพ คือ อายุที่สื่อถึงสภาวะร่างกายที่แท้จริง (Biological age) นับวันจะต่างกัน เพราะคนเราอายุยืนขึ้น ทำให้คนอายุ 60 ปัจจุบันสุขภาพและความพร้อมที่จะทำอะไรต่อมีสูงกว่าคนในอดีตมาก ทำให้อายุไม่ได้เป็นเหตุผลหรือข้อแก้ตัวที่จะไม่ทำอะไร หรือไม่ยอมทำอะไร เรายังสามารถทำงานได้และพึ่งตัวเองได้อีกมาก
2.คนที่อายุกว่า 60 ทำงานมาแล้วอย่างน้อย 40 ปี ต้องถือว่า ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีประสบการณ์และได้เรียนรู้อะไรต่างๆ มากมาย ทั้งดีและไม่ดี บางเรื่องเป็นประสบการณ์ที่หายากที่บางคนอาจไม่เคยมีในชั่วชีวิตหนึ่ง สิ่งเหล่านี้มีค่า ที่ต้องมองว่าเป็นความเข้มแข็งไม่ใช่จุดอ่อน ในทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย มีข้อมูลว่าสมองที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และความรู้กว่า 40 ปี ต้องถือเป็นสินทรัพย์ หรือ asset ไม่ใช่เป็น liabilities หรือ หนี้สิน
3.เมื่ออายุยืนยาวขึ้น เวลาหลังเกษียณอายุของแต่ละคนก็จะมากขึ้น อย่างน้อยก็อีก 17 ถึง 20 ปี ที่เราสามารถใช้เวลาเหล่านี้เป็นโอกาสที่จะทำอะไรแตกต่างจากที่เคยทำ ที่เราจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์อย่างที่เราอยากทำ ถือเป็นโอกาสที่สองของชีวิตก็ว่าได้ ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าอย่างที่เราอยากทำ ทั้งเพื่อตัวเองและส่วนรวมเพื่อให้ช่วงเวลาหลังเกษียณเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาของชีวิตที่มีความหมาย
นี่คือจุดเริ่มต้นที่จะนำสังคมสูงวัยไปสู่การเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแนวหน้าของสังคมสูงวัยก็ได้ทำให้เห็นแล้ว คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ต้องการหยุดทำงานเมื่ออายุ 65 และร้อยละ 40 ของคนที่อายุมากกว่า 60 ปี ยังทำงานอยู่ ไม่เกษียณ และต้องการทำงานต่อไปจนกว่าสุขภาพจะไม่อำนาย ขณะที่อีกร้อยละ 35 อยากทำงานจนถึงอายุ 70 ทำให้ญี่ปุ่นมีสัดส่วนคนสูงวัยที่ยังทำงานอยู่มากที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม คือ ร้อยละ 22 – 23 ของกำลังแรงงานเป็นผลจากคนสูงวัยเองที่อยากทำงาน และคุณค่าที่สังคมให้กับคนสูงวัยที่ทำงานที่ยังสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคม นี่คือสังคมสูงวัยญี่ปุ่นที่ได้เปลี่ยนไป
ช่วงที่ผมสอนหนังสือที่ญี่ปุ่น ตอนต้นปี เพื่อนช่าวญี่ปุ่นผมคนหนึ่ง เป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์และเป็นคนในสังคมสูงวัยที่ยังทำงานอยู่ ได้พูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “จะอยู่อย่างไรอย่างมีความสุขเมื่ออายุ 70 (How to enjoy life at 70) เขียนโดย มาริโกะ แบนโด (Mariko Bando) นักเขียนสุภาพสตรี ชื่อดังของญี่ปุ่น ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนญี่ปุ่นใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความหมาย มองว่า อายุ 70 คือวัยทองของคนญี่ปุ่นที่ในอนาคต อาจมีอายุขัยเฉลี่ยมากถึง 100 ปี หนังสือให้คำแนะนำอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตวัยเกษียณไว้สิบข้อ ผมขอสรุปสิบข้อนี้เป็นสามข้อหลัก ตามความไม่เป็นภาษาญี่ปุ่นของผม ดังนี้
1.อย่าใช้อายุเป็นข้อแก้ตัว อย่าทำตัวเหมือนชีวิตได้จบแล้ว คือไม่ยอมทำอะไรอ้างอายุ เช่น บอกว่ามันช้าไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะลองอะไรใหม่ๆ ตรงกันข้าม ต้องคิดเสมอว่า เรายังเติบโตได้อีก ต้องพยายามหาอะไรทำ ไปไหนมาไหนทุกวัน อย่ารีบร้อนที่จะไม่ใช้ชีวิต อดีตคืออดีต ภูมิใจในตัวเอง อย่าเปรียบเทียบกับคนอื่น คนอื่นคือคนอื่น อย่าปฏิเสธตัวเอง เราผ่านชีวิตมาเยอะ และนี่คือเรา
2.อารมณ์ดีเสมอ ให้ความสำคัญและซาบซึ้งในภาระหน้าที่ที่มีและทำหน้าที่ให้ดี จำและตอบแทนคนที่ดีกับเรา ช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่จะทำได้ มองคนในแง่ดี ยินดีกับความสำเร็จของคนรอบข้าง และเน้นส่วนที่ดีของทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาว
3.แต่งกายดีเสมอ นึกว่าวันนี้เป็นวันที่เราอายุน้อยสุด คือน้อยกว่าพรุ่งนี้ แต่งตัวเต็มที่ อย่าไปกังวลเรื่องสุขภาพจนเกินไป ยอมรับมันถ้าเราเจ็บป่วย ให้เวลากับตัวเอง อยู่ตามลำพังบ้าง มีความสุขกับเวลาเงียบๆ ของตัวเอง
นี่คือสังคมสูงวัยที่กำลังปรับตัว เป็นตัวอย่างของการปรับตัวของสังคม นโยบาย และระดับบุคคล