‘สลิ่ม’ กินไม่ได้ แต่ ‘ซาหริ่ม’ กินได้
เปิดประวัติซาหริ่ม ขนมหวานหลากสีพร้อมลายแทงตามชิมในกรุงเทพฯ
ขนมเส้นยาวเล็กละเอียดหลากสีสันทั้ง แดง เขียว ขาว ชมพู ราดด้วยน้ำกะทิขาวนวล โปะด้วยน้ำแข็งเย็นชื่นใจ คือ ซาหริ่ม อาหารหวานคลายร้อนสำหรับคนไทยมาตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ความพีคของซาหริ่มกลับมาฮิตอีกครั้งในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ จากการแสดงจุดยืนของนักศึกษาต่อกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ สำหรับใครที่กำลังสับสนว่าขนมหวานคลายร้อนมาเกี่ยวโยงกับการเมืองอย่างไร?
อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ซาหริ่ม ในเคลื่อนไหวการเมืองสมัยใหม่นี้ ไม่ใช่ ซาหริ่ม แต่คือ สลิ่ม
โดยคำนี้ถูกเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา การออกเสียงว่า ซา-หริ่ม ที่สะกดว่า สลิ่ม คือ คำเรียกกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านระบบทักษิณ ในปี 2557 (ลักษณะนามจากการใส่เสื้อหลากสีของกลุ่มคนดังกล่าว) แต่ใครจะสลิ่ม ก็ปล่อยให้เขาสลิ่มไป! เรามาสนใจ ซาหริ่ม ขนมหวานขวัญใจใครหลายๆ คนดีกว่า เพราะนอกจากความอร่อย ซาหริ่มยังพาเราไปเรียนรู้ประวัติชาวชวา มลายู ได้อย่างน่าสนใจ
ซาหริ่ม มาจากชวา มลายู
ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ ได้เสพหริ่มพิมเสนโรย...
จากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒
ซาหริ่ม นั้นมีต้นกำเนิดที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่มีการบันทึกไว้ว่าชาวกรุงศรีอุยธยารู้จักซาหริ่มมาตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เมื่อพูดถึงขนมหวานช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว จะนึกถึงใครไม่ได้นอกจาก “ราชินีขนมไทย ท้าวทองกีบม้า” หรือ “มารี กีมาร์” ผู้สร้างตำนานขนมหวานไทยอย่างทองหยิบ ทองหยอดที่รู้จักกัน จึงมีข้อสันนิฐานว่า ขนมหวานซาหริ่มนั้นเป็นหนึ่งในผลผลิตของ ท้าวทองกีบม้า
อย่างไรก็ตาม อาจารย์เพ็ญสุภา สุขคตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติสาสตร์ไทยได้ให้ข้อมูลลงคอลัมน์ปริศนาโบราณคดี มติชนออนไลน์ ว่า ซาหริ่มไม่ได้มีต้นกำเนิดจากท้าวทองกีบม้า หรือขนมโปตุเกส อย่างขนมหวานไทยอื่นๆ เพราะ สูตรขนมหวานของมารี กีมาร์ หนักไปทาง “ขนมแห้ง” มากกว่า “ขนมเปียก” หากย้อนไปมองขนมหวานของชาวมอญ กลุ่มลอดช่อง ปลากริม ที่เน้นแป้งหยอดในน้ำกะทิ ก็พบว่ามีความแตกต่างกันอีก เพราะซ่าหริ่มไม่ได้ใช้น้ำกะทิที่เอาน้ำตาลปึกไปเคี่ยวปนเกลือปะแล่มๆ แต่เป็นการแยกกะทิสดกับน้ำหวานที่เชื่อมน้ำตาลทราย แถมกินแบบเย็นอีกด้วย
เมื่อวิเคราะห์จากรูปภาษา “ซาหริ่ม” เป็นคำยืมจากชวา เมื่อค้นหาขนมหวานของเพื่อนบ้านแถบอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ นั้นพบว่าทั้งซาหริ่ม ทับทิมกรอบ และลอดช่องสิงคโปร์ ทั้งหมดเป็นขนมแป้งเหนียวใสคล้ายวุ้นเส้นผสมสี ตระกูล Rice Vermicelli ใส่น้ำเชื่อม+กะทิสด ไม่เจือเกลือผสมน้ำตาลปึกแบบขนมมอญ-ไทย
นักนิรุกติศาสตร์ (นักภาษาศาสตร์) ชวาอธิบายว่า Sa-Rim คำนี้พวกเขาเคยใช้ในอดีตนานโขแล้ว เป็นคำยืมจากอินเดียใช้เรียกขนมวุ้นใสเป็นเส้นๆ ที่ใส่กะทิ
แต่ปัจจุบันชาวชวา-มลายูเรียกขนมนั้นว่า Dawet ดาเวต เรียกตัวแป้งวุ้นว่าเชนดอล Cendol (Chen-dul/Jendol)
ดังนั้นแล้วจึงอาจสรุปได้ว่า ซาหริ่มเป็นขนมที่มาจากชาวชวา มลายู และในสมัยอยุธยาสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในยุคนั้นมีข้าหลวงชาวมลายูที่เป็นเชลยจากปัตตานีหลายนางเข้ามาถวายงานรับใช้ในราชสำนัก อยู่ภายใต้การดูแลของพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสองพระองค์ คือเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ ทั้งสองพระองค์โปรดปรานวัฒนธรรมของชวามาก จึงเป็นไปได้ว่า ซาหริ่ม เป็นขนมที่ดั้นด้นมาจากชวาสู่กรุงศรีอยุธยาตอนปลายตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่ตัวขนมถูกดัดแปลงไม่เป็นขนมแบบวุ้นๆ ทำเลียนแบบคล้ายลอดช่อง โดยทำตัวซาหริ่มให้เส้นเล็กลงไม่ใหญ่เท่าลอดช่องและมีหลากหลายสีและเส้นเหนียวกว่า
ซ่าหริ่มทำจากแป้งถั่วเขียว มีส่วนผสมหลักคือ น้ำลอยดอกมะลิ น้ำใบเตย กะทิ และน้ำตาลทราย (สามารถเติมสีให้มีความหลากสีขึ้นได้ สมัยก่อนสีต่างๆ ได้จากธรรมชาติ แต่สมัยนี้ใช้สีผสมอาหาร) การรับประทานโดยการตักตัวซ่าหริ่มใส่ถ้วย ราดด้วยน้ำเชื่อม หรือน้ำกะทิ และเติมน้ำแข็ง
ในปัจจุบัน ซาหริ่ม หารับประทานได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป แต่ในกรุงเทพมหานครนี้มีร้านเด็ดเรื่องซาหริ่มได้แก่
-ร้าน ชูถิ่น ร้านขนมไทยที่มาอายุยาวนาน 80 ปี มี 2 สาขา ได้แก่ คอกวัว และ สะพานควาย
-ร้าน ทับทิมกรอบ แม่ดวงพร วงเวียนใหญ่ ที่ขายซาหริ่มเลื่องชื่อมา 40 ปี
-ร้าน เช็งซิมอี๊ ลือลั่นสะท้านโลกันต์ ที่มีสาขาทั่วกรุงเทพฯ