"รับมือกับโควิด-19 อย่าให้จิตตก" ชัยชน สวันตรัจฉ์
คุยเรื่องผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 กับโก้-ชัยชน สวันตรัจฉ์ ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ Good Mixer และ Muse by Good Mixer เมื่อสัปดาห์ก่อน ลูกค้าหลักของโก้คือจีนและอาหรับ ไม่ต้องถามถึงรายรับ นิ่งสนิท แต่ได้ข้อคิดดีๆกลับมา
"อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป แต่ว่าสิ่งที่เราต้องเอาไว้มากที่สุดคือตัวเอง อย่าให้ตัวเองจิตตก อย่าให้ตัวเองป่วย อย่าให้ความคิดของเราทำร้ายตัวเองหรือว่าคนรอบข้าง
ทุกอย่างมันมีทางแก้ไขได้อยู่แล้ว แต่ว่าเราต้องปรับตัวเราให้อยู่ได้ทุกสถานการณ์" โก้ บอกกับเรา
30 ปีบนเส้นทางนักออกแบบแฟชั่น โก้บอกว่าผ่านเรื่องราววิกฤตมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้สยามสแควร์ การชุมนุมทางการเมือง
“เรียกว่าอยู่ร่วมในทุกเหตุการณ์ ลุ่มๆดอนๆมาตลอด คือ กำลังจะเงยหัวขึ้นมาได้ก็เจออีก ตอนนี้นิ่งขึ้นเยอะ
เหมือนกับว่าเราก็เข้าทางธรรมะไปซะส่วนหนึ่งแล้ว คือ ปลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว อะไรจะเกิดก็เกิด”
ดูแลจิตและกายไม่ให้ป่วย ทำงานต่อไปอย่างรัดกุม รอบคอบ เพราะว่ายังมีช่างตัดเย็บและทีมงานที่ต้องดูแล ในขณะเดียวกันเขาก็หันมาทำงาน “ศิลปะ” มากขึ้น
“การทำงานศิลปะมากขึ้นเหมือนยกระดับจิตใจตัวเอง เป็นทางออกทางหนึ่งที่ทำให้เราผ่อนคลายจากการที่เราต้องมานั่งคิด หาเงิน หาเงิน หาเงิน มาทำงานศิลปะเพื่อผ่อนคลายและได้ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งและได้เจอคนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้เจอคนที่ชื่นชมงานเรา”
โก้ เล่าถึงผลงานออกแบบโคมไฟในชุด Peace/สงบ ที่ร่วมแสดงในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2562 (Chiang Mai Design Week 2019) และ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020)
“ตอนเปิดร้านเสื้อผ้าผู้ชายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นตังค์ไม่ค่อยมี เลยไปเดินจตุจักรแล้วไปหยิบเศษวัสดุมา นู่นนี่นั่นมาประกอบขึ้นมาเป็นแชนเดอร์เลียอันหนึ่งมาวางไว้ในร้านใหญ่มาก ใหญ่จริงๆลูกค้าต่างชาติที่เข้าร้านจะ ถามว่าเธอไปซื้อแชนเดอร์เลียมาจากไหน เราบอกว่าทำเองทุกคนจะตกใจว่าทำได้ยังไง จากตอนนั้นเรายังมีวัสดุเหลืออยู่ตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้วนะ เก็บไว้อยู่ที่บ้าน
จนมาถึงงานเชียงใหม่ดีไซน์วีค ตอนแรกยังไม่รู้ว่าจะทำในรูปแบบไหนหรอก คิดไปเรื่อยๆมีการดึงเอา สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราคือ ไปมีบ้านที่เชียงใหม่ เดินกาดหลวงเยอะ เห็นวัสดุจากกาดหลวงเยอะมีพวกมาลัยปลอม ดอกไม้ทองเหลือง ดอกไม้ไหวต่างๆนานา ทุกอย่างมันรวบรวมมาอยู่ในหัวของเราหมดเลย
พอถึงเวลาปุ๊บทำเลยแล้วมันก็มาเรื่อยๆ เริ่มพัฒนาจากอันแรกมาเป็นผสมงานปักจากเสื้อของเรา มีลูกไม้คลี่คลายมาเรื่อยๆจนกลายเป็นงานทองเหลือง
ตอนนี้สนุกแล้วพอทำปุ๊บพอเปิดไฟปั๊บ มันไม่เคยมีความคาดหวังที่จะเคยเห็นภาพเหล่านี้มาก่อน คือมันได้ใจมาก มันพองฟูอยู่ในหัวใจว่า เฮ้ย !แฮปปี้ แล้วมันเหมือนเป็นแสงแห่งความสงบเลยนะเหมือนชื่องานมันคือ ความสงบคือความนิ่ง นิ่งแบบว่าเงียบ” โก้ เล่าด้วยแววตาเป็นประกาย
“ไม่ต้องคิดไม่ต้องอะไรเลยอยู่เฉยๆนิ่งๆ มีความสุขกับมันตรงนั้นเลย ทุกอย่างเป็นสมบัติสะสมของเรา เกิดจากการนำมาประกอบเข้าด้วยกันอย่างไม่มีข้อจำกัด การทำงานแบบนี้ให้แรงบันดาลใจกับเรา มันมี Reaction กับภายในของเรา เป็นเรื่องของประสบการณ์เหมือนกันนะ เมื่อก่อนตอนเรียนมหาวิทยาลัย (คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร) ก็ขุดคุ้ยของเก่าตามวัดมหาธาตุ ประทับใจอันไหนซื้อเก็บ เห็นไอ้นู่นแล้วก็เก็บมาทำงาน เวลาทำเสื้อเราไม่ได้ไปดูเสื้อตามเทรนด์เลยนะ ไม่เคยทำ
ตอนนี้เวลานำโคมไฟไปส่งให้ลูกค้าจะแฮปปี้มาก มีความสุขมาก พอตัวงานได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม จากความสวยที่เราคิดว่ามันสวยอยู่แล้วมันจะสวยขึ้นไปอีก”
สำหรับโก้ในวันนี้ การทำงานศิลปะถือได้ว่าเป็นการเยียวยาจิตใจ ในขณะเดียวกันก็ได้ย้อนกลับไปค้นพบตัวเองอีกครั้ง
“ตัวเองเป็นคนชอบศิลปะอยู่แล้วมาตั้งแต่เด็กๆ คุณตาเป็นช่างสิบหมู่ ทำเทียนพรรษาคนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี คุณยายทอผ้าไหม คุณแม่จบเพาะช่าง พี่น้องทุกคนทำงานแนวศิลปะหมด พวกนี้มันมีอยู่ในตัวเราอยู่แล้วล่ะแต่ว่า
การมาเป็นนักออกแบบแฟชั่นมันเป็นเรื่องที่เราไม่เคยคิดมาก่อนในชีวิตอยู่ดีๆเรากระโดดเข้ามาตรงนั้นแล้วเราก็หาสตางค์ได้ เราทำงานมีเงินเดือนแล้วอยู่ตรงนั้นเพราะว่ามันหาเลี้ยงตัวเรา สร้างหลักฐานมั่นคงให้กับตัวเองและครอบครัวได้ก็อยู่มาเรื่อยๆ
แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าจริงๆอีกส่วนหนึ่ง เรายังอยากทำงานศิลปะอยู่ ตอนนี้คิดว่าอยากจะทำงานโคมไฟให้เป็นศิลปะมากกว่านี้”
ก่อนจากกัน โก้บอกว่ากว่าจะถึงวันนี้ ชีวิตไม่ง่าย
“ล้มไม่รู้จะนับไปกี่ครั้งแล้ว แต่ว่าล้มแล้วต้องลุกแล้วต้องเดินต่อไป เจ็บใจเสียใจอะไรยังไง นอนร้องไห้มีมาหมดแล้วหมด แต่ว่าไม่เคยมีใครเห็นภาพอะไรแบบนั้นหรอกนะ
คนจะมองว่าทำไมเราอยู่ได้ เราต้องอยู่ให้ได้ ตราบที่กำลังภายในของเรายังมีอยู่ ไหว้พระไหว้เจ้าทำบุญทำทานไป”
คุยกับโก้- ชัยชน สวันตรัจฉ์ ครั้งนี้ได้ข้อคิดดีๆตั้งแต่ต้นจนถึงบรรทัดสุดท้าย เวลานี้ “อย่าให้จิตตก” ท่องเอาไว้ค่ะ