'โคโรน่าไวรัส' กับความสัมพันธ์ระหว่าง กลิ่น-รส-โรค

'โคโรน่าไวรัส' กับความสัมพันธ์ระหว่าง กลิ่น-รส-โรค

ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง "โคโรน่าไวรัส" กับ "กลิ่น" และ "รส" ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกัน และกันอย่างแยกกันไม่ออก

ไอดินกลิ่นฝน กลิ่นดอกตีนเป็ด กลิ่นทุเรียนหน้าร้อน กลิ่นน้ำหอม กลิ่นของความทรงจำ กลิ่นของเจลล้างมือ หรือกลิ่นอะไรก็ตามแต่ คุณเคยสังเกตตัวเองบ้างมั้ย?

ในทุกๆ วัน กลิ่นผ่านเข้าและออกจมูกของเรานับครั้งไม่ถ้วน บางกลิ่นถึงกับชวนให้ท้องร้อง บางกลิ่นอาจชวนให้สะอิดสะเอียนอยู่บ้าง  บางกลิ่นก็ชวนให้นึกถึงความทรงจำบางสิ่งบางอย่าง

เรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ถูกส่งผ่านกลิ่นได้อย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงแล้วกลิ่นเป็นการสัมผัสในระดับโมเลกุล เพราะโมเลกุลของกลิ่นลอยเข้ามากระทบจมูกเราโดยตรง ต่างกับการดูหรือฟังที่มีแค่คลื่นเสียงหรือคลื่นไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเข้ามากระทบโดยตรง นักเคมีเกี่ยวกับกลิ่นประเมินว่ามนุษย์อาจสามารถแยกแยะกลิ่นระเหยได้ถึง 1 หมื่น รูปแบบ  ที่เป็นอย่างนั้นเป็นเพราะเซลล์รับกลิ่นมียีนที่เฉพาะเจาะจงเพียง 1 ยีนเท่านั้น ดังนั้นแล้วเซลล์รับกลิ่นจึงมีอยู่เป็นจำนวนมากและมีหลายชนิด

158684379042

นักจิตวิทยากล่าวไว้ว่า กลิ่นส่งผลต่อความทรงจำของเรามากที่สุด ในทุกๆ สัมผัสของคนเรา สัมผัสแห่งกลิ่นนั้นจะมีความเชื่อมโยงมากที่สุดระหว่างความทรงจำและอารมณ์ และส่งผลถึงกระทั่งพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์  ดังนั้นการรับกลิ่นจึงเป็นประสาทสัมผัสอันทรงพลังที่สุด ที่ผ่านมามีนักวิจัยสนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกลิ่นกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลิ่นกับความทรงจำ มีผลการวิจัยยืนยันว่า กลิ่นที่จะทำให้เรานึกถึงใครบางคนและบางสิ่งได้นั้นจะฝังลึกลงในสมองคนเราและกลายเป็นลายเซ็นของความทรงจำนั้นๆ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากความทรงจำประเภทอื่นๆ

ความมหัศจรรย์ของกลิ่นมิเพียงแค่มันสามารถฟื้นอดีตได้เท่านั้น แต่มันยังใช้เป็นตัวชี้วัดสุขภาพพื้นฐานของคนเราได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เวลาที่เราเป็นหวัด มีไข้ ไข้ที่เป็นอยู่อาจส่งผลต่อระบบประสาทสัมผัสการรับกลิ่นรับรส ทำให้บางคนที่เป็นไข้มีอาการปากจืด หรือปากคนมีอาการปากขม กินอะไรไม่ค่อยอร่อยเหมือนเคย มิหนำซ้ำบางคนอาจมีอาการไม่ได้กลิ่นอะไรเลย เหมือนอย่างที่ในวัฒนธรรมไทใหญ่ มีคำทักทายว่า อยู่ดีกินหวานไหม แปลว่า สบายดีไหม หมายความว่าถ้าไม่ได้เจ็บไข้อะไร ก็ยังได้กลิ่นและรู้รสปกติ คือ ยังกินหวาน หรือ กินอร่อย รู้รสอยู่ แต่ถ้ารู้สึกว่ากินไม่หวาน คือกินแล้วรู้สึกขม ก็แสดงว่าเจ็บไข้ได้ป่วย

กลิ่น-รส โควิด

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19  กลิ่นและรส กลายเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่สามารถนำมาใช้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้ที่มีอาการสูญเสียประสาทการรับกลิ่น (Anosmia) -รับรส(Ageusia) ชั่วคราว โดยไม่มีอาการอื่นๆ หรืออาจมีอาการไอแห้ง มีไข้ คล้ายกับโรคโควิด-19 ร่วมด้วย จำเป็นต้องแยกกักตัวในเบื้องต้น เพราะอาจมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อโควิด-19
ในรายงานผู้ป่วยของหลายประเทศระบุว่า มีการตรวจพบอาการสูญเสียประสาทการดมกลิ่น-รับรสชั่วคราวในผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนไม่น้อย แต่ลักษณะอาการดังกล่าวยังถูกจัดอยู่ในผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงมากและมักพบในผู้ป่วยที่อายุยังน้อย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดท้องและเจ็บตาร่วมด้วย

เว็บไซต์ นิวยอร์กไทม์ ของสหรัฐฯ เผยแพร่บทความของ Roni Caryn Rabin เรื่อง “Lost Sense of Smell May Be Peculiar Clue to Coronavirus Infection” บทความดังกล่าวระบุว่า กลุ่มแพทย์ได้แนะนำให้ทดสอบและแยกเชื้อสำหรับผู้ที่สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่น และรสชาติแม้ว่าจะไม่มีอาการอื่น

อย่างกรณีของแม่ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถดมกลิ่นผ้าอ้อมของลูกน้อยได้ พ่อครัวที่รู้ชื่อเครื่องเทศทุกชนิดในจานอาหาร แต่อยู่ๆ ก็เกิดไม่สามารถได้กลิ่นแกงกะหรี่ หรือกระเทียม และรสชาติอาหารที่มีรสชาติหวาน ซึ่งอาการดังกล่าว เรียกว่า “Anosmia” หรือการสูญเสียการได้กลิ่น ซึ่งกลายเป็นสัญญาณอันแปลกประหลาดของเชื้อโควิด-19

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแพทย์ด้าน หู คอ จมูก ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 3 เรื่อง ข้อแนะนำเรื่องอาการสูญเสียการได้กลิ่นในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 (หมายถึงมีผลตรวจเป็นบวกแล้ว) พบมี anosmia (อาการสูญเสียการได้กลิ่น) ได้ถึง 2 ใน 3 ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการอื่นๆ (ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล) ไม่มาก จะพบว่ามี anosmia (อาการสูญเสียการได้กลิ่น) เป็นอาการหลักถึงร้อยละ 30

158684373220

ก่อนหน้ายุคโควิด เมื่อรู้สึกว่ามีอาการสูญเสียการได้กลิ่น ไม่รู้รส อาจบ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่าเป็นอาการของคนเป็นหวัด มีไข้ คัดจมูก  ต่อมาเมื่อมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 มีงานวิจัยและรายงานของผู้ป่วยออกมามากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาการสูญเสียการได้กลิ่น (anosmia) กับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งจะเห็นว่าในยุคโควิด กลิ่น และรสก็ยังคงใช้เป็นตัวคัดกรองเบื้องต้นที่ดีอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี มิใช่ว่าการสูญเสียการได้กลิ่นจะบอกว่าติดเชื้อหรือเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังพบว่า ในอดีตการได้กลิ่นนั้น เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นสาเหตุของการเป็นโรค

กลิ่น-รส เชื้อโรคโบราณ

มนุษย์ในยุคปัจจุบันต่างรู้ดีว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคระบาดและคนตายกันเป็นจำนวนมากนั้นมีสาเหตุมาจากเชื้อโรค แต่กว่ามนุษย์จะรู้ว่าเชื้อโรคนี่แหละเป็นตัวการ ทำให้ผู้คนล้มตายกันเป็นแสนเป็นล้าน ก็กินเวลายาวนานหลายศตวรรษ

คำถามคือ คนโบราณไม่รู้จักเชื้อโรคกันหรือจริงๆ แล้วจะบอกว่าไม่รู้ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะในเอกสารโบราณของไทยเองมีคำว่า “อายพิศม์” ซึ่งเชื่อว่าเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคระบาด

อายพิศม์ เป็นคำที่ใช้เรียกกลิ่นไอพิษที่ระเหยจากดินและพืช หรือสิ่งโสโครก  เป็นความคิดความเชื่อที่สืบทอดกันมานานว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรค

แนวคิดดังกล่าวเป็นความคิดความเชื่อที่มีร่วมกันในหลายวัฒนธรรมทั้งในยุโรป และเอเชียก่อนที่แพทย์จะรู้จักเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื่อว่าอายพิศม์เป็นที่มาของโรคระบาดร้ายแรงอย่างอหิวาตกโรค และไข้จับสั่น เป็นต้น อย่างในกรณีของไข้จับสั่นหรือที่เราเรียกกันว่าไข้ป่านั้น ในตะวันตกก่อนที่การแพทย์ตะวันตกจะรู้ว่าโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อปาราสิต ที่เรียกว่า plasmodium หรือเชื้อมาลาเรีย (malaria) โรคนี้เคยถูกอธิบายว่า เกิดจากการหายใจเอากลิ่นพิษเข้าไปในร่างกาย ชื่อไข้จับสั่นที่เรียกว่ามาลาเรีย มาจากคำว่า mal แปลว่า เสีย รวมกับคำว่า aria แปลว่า อากาศ ซึ่งก็คือ กลิ่นไอพิษ ที่ลอยมากับอากาศนั่นเอง

เช่นเดียวกันกับที่มีไข้ชนิดหนึ่ง ซึ่งทางภาคเหนือ และภาคอีสานของไทยเรียกว่า “ไข้หมากไม้” คำว่า หมากไม้ หมายถึง ผลไม้ ที่เรียกอย่างนั้นเพราะเชื่อกันว่าได้ไข้ เพราะสูดดมกลิ่นที่เกิดจากการทับหมักหมมของใบไม้ ต้นไม้ และพืชต่างๆ ที่อยู่ในโคลนตม ไข้หมากไม้มักระบาดในช่วงเปลี่ยนฤดูหรือช่วงที่ผลไม้ออกมาก หรือช่วงต้นและปลายฤดูฝน

ดังนั้น เชื้อโรคของคนโบราณหรืออายพิศม์ จึงมีกลิ่นเป็นกลิ่นบูดเน่าจากเศษซากที่ทับถมหมักหมมในดิน

158684383422

นอกจากอธิบายว่า โรคเกิดจากลิ่นไม่พึงประสงค์แล้ว มนุษย์ สมัยโบราณ มีวิธีใช้กลิ่นต่างๆ ที่แปลกประหลาดอย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากกลิ่นคือหนึ่งในประสาทสัมผัสที่ไวต่อความรู้สึก และยังสามารถกระตุ้นความปรารถนา ความลุ่มหลงได้มากกว่าสัมผัสอื่น  ซึ่งอำนาจของกลิ่นถูกนำมาใช้ในหลากหลายสถานการณ์  ใครจะเชื่อว่าเพียงแค่ดมกลิ่นก็ทำให้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของโลก จนต้องจารึกเอาไว้ อย่างในสมัยของพระนางคลีโอพัตรา ที่อาศัยกลิ่นกายที่เย้ายวนจากการอบร่ำด้วยเครื่องหอมและน้ำดอกไม้ จนทำให้แม่ทัพนายกองอย่าง มาร์ค แอนโทนี ลุ่มหลงอย่างบ้าคลั่งมาแล้ว

และไม่ว่าจะเป็นกลิ่นไหน มีกลิ่นอย่างไร หรือไม่มีกลิ่น  สามารถที่จะเอามาใช้ประโยชน์และอธิบายในเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ได้หลากหลาย เพียงแค่ดมกลิ่น...

เหมือนกับที่มีรายงานศึกษาออกมาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ยืนยันว่า กลิ่น-รส ก็ยังใช้บอกโรคได้ดีอยู่เสมอ