โอกาสธุรกิจ 'กำจัดขยะ'
ขยะยังคงเป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง แม้การจัดการขยะอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
จากข้อมูลโดยกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะกว่า 50.6 ล้านตัน มาจากชุมชน 56% อุตสาหกรรม 43% และสถานพยาบาล 1% แม้กากอุตสาหกรรมจะมีปริมาณไม่มากเท่ากับขยะจากชุมชน เเต่นับเป็นขยะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง ต้องได้รับการจัดการที่เหมาะสม
กากอุตสาหกรรมสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กากของเสียไม่อันตราย คิดเป็นกว่า 95% ของปริมาณกากอุตสาหกรรมทั้งหมด เช่น กากอ้อย เศษเหล็ก กากน้ำตาล เถ้าลอย และกากของเสียอันตราย เช่น ตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย น้ำกรดจากการกัดผิวเหล็ก น้ำทิ้ง น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว เป็นต้น
กากอุตสาหกรรมจำเป็นต้องได้รับการจัดการที่รัดกุม ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทขยะและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกากของเสียอันตรายที่มีเงื่อนไขในการติดตามตั้งแต่แหล่งกำเนิดขยะ การขนส่งอย่าง ระบบเอกสารกำกับ การขนส่งของเสียอันตราย (Manifest System) รวมถึงการบำบัด ซึ่งนอกจากจะมีการกำหนดคุณสมบัติในการรับเข้าบำบัดแล้ว ยังต้องใช้เทคโนโลยีการกำจัดที่เหมาะสมด้วย
นอกจากจะมีการกำหนดคุณสมบัติในการรับเข้าบำบัดแล้ว ยังต้องใช้เทคโนโลยีการกำจัดที่เหมาะสมด้วย สำหรับกากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายแม้จะไม่มีข้อบังคับ มากเท่ากากอุตสาหกรรมอันตราย แต่ก็จำเป็นที่จะต้องตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เหมาะสม รวมถึงมีการบริหารจัดการพื้นที่กำจัดอย่างรัดกุม รวมถึงด้านความปลอดภัย เพราะมีโอกาสที่จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายได้เช่นไฟไหม้ได้
ในปี 2562 จากข้อมูลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีปริมาณกากขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว อยู่ที่ประมาณ 2 แสนตัน ส่วนใหญ่เป็นประเภทของเสียไม่อันตราย (คิดเป็นกว่า 70%) ซึ่งกากขยะอุตสาหกรรมพบได้มากที่สุดใน จ.ระยอง คิดเป็น 51% ของปริมาณกากขยะจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ทั้งหมด
จากการสนับสนุนของภาครัฐให้ลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC เริ่มส่งผลให้มีจำนวนโครงการที่ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 เพิ่มขึ้นกว่า 32%YOY โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ EIC คาดว่าปริมาณกากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวจะขยายตัวทั้งประเภทอันตรายและไม่อันตราย และจะมีความต้องการในการกำจัดกากอุตสาหกรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี ธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม เป็นธุรกิจที่มี barrier of entry สูง เนื่องจากจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบการขนส่ง ระบบคัดแยกและแปรรูป ระบบบำบัด และอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการขนส่งกากขยะอุตสาหกรรมมายังโรงบำบัด โดยเฉพาะกากขยะอันตรายที่การขนส่งต้องเป็นไปอย่างรัดกุม ตรงตามที่กฎหมายกำหนด
ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุน โดยให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ โรงงานที่มีกระบวนการแปรรูปเพิ่มเติมและกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) สามารถได้รับการยกเว้นอากร ทั้งการนำเข้าเครื่องจักร การนำเข้าเพื่อวิจัย และพัฒนาวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี
ขณะที่โรงงานคัดแยกขยะสามารถยกเว้นได้ 5 ปี ทั้งนี้คาดว่านโยบายส่งเสริมจากภาครัฐจะสามารถแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในธุรกิจดังกล่าว สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย และคนทำงานในพื้นที่ EEC ดีขึ้นอีกด้วย