รวมคำศัพท์ต้องรู้ ยุค 'โควิด-19'

รวมคำศัพท์ต้องรู้ ยุค 'โควิด-19'

รวบรวมคำศัพท์ใกล้ตัว ที่น่ารู้ ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ซึ่งล้วนเป็นคำศัพท์ใกล้ตัวที่น่ารู้ในสถานการณ์วิกฤตินี้ ทั้งในมิติทางสังคม การแพทย์ และธุรกิจ

สถานการณ์ "โควิด-19" ยังระบาด ทำให้วิถีชีวิตของหลายคนเปลี่ยนไป และมีเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องทำความรู้จัก และทำความเข้าใจในหลากหลายมิติ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติมากที่สุดระหว่างที่ยังต้องระวังโรค

"กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมคำศัพท์ที่พบบ่อยนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ที่ทำให้เกิด โควิด-19” ซึ่งล้วนเป็นคำศัพท์ใกล้ตัวที่น่ารู้ในสถานการณ์วิกฤตินี้ ทั้งในมิติทางสังคม การแพทย์ และธุรกิจ ซึ่งหลายคำอาจกลายเป็นสิ่งที่อาจเปลี่ยนการใช้ชีวิตของเราไปตลอดกาลนับจากนี้

 

158736490229

  •  Social distancing การรักษาระยะห่างทางสังคม 

การรักษาระยะห่างทางสังคม คือการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ลดการพบปะหรือเข้าสังคมในที่ที่มีคนจำนวนมาก เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 ต้นตอของโรคโควิด-19

 

  •  Physical distancing การเว้นระยะห่างทางกายภาพ 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เปลี่ยนมาใช้คำนี้ แทนคำว่า Social distancing (การรักษาระยะห่างทางสังคม) เนื่องจากโควิด-19 แพร่กระจายผ่านละอองฝอย โดยเฉพาะเวลาไอหรือจาม ดังนั้น การรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย หรือการรักษาระยะห่างระหว่างกัน (ทางกายภาพ) จะช่วยลดโอกาสการรับเชื้อ และแพร่เชื้อได้ ซึ่งส่งผลดีกว่า Social distancing เนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคมอาจรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพใจ

 

  •  Super Spreader : ผู้ที่แพร่เชื้อไปในวงกว้าง 

Super Spreader หมายถึง คนที่แพร่โรคไปยังบุคคลอื่นๆ จำนวนมาก โดยเฉลี่ยคนหนึ่งคน จะแพร่เชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้อีก 2 คน ซึ่งหากกรณีไม่สามารถควบคุมโรคได้ จะทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดย Super spreader หนึ่งคนจะแพร่เชื้อมากกว่าค่าเฉลี่ยหลายๆ เท่า หรือประมาณแพร่เชื้อได้ถึง 20 คนหรือมากกว่านั้น

 

  •  State quarantine : การกักกันโรคที่ศูนย์ควบคุมโรคซึ่งหน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้น 

สถานที่ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้นกักตัว และควบคุมโรค โดยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาไทย รัฐได้จัดพื้นที่ State quarantine เป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่กรุงเทพฯ และส่วนกลาง เพื่อกระจายการเฝ้าระวังโรคอย่างทั่วถึง

 

  •  Self quarantine : การกักกันตัวที่บ้าน สำหรับกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ 

การให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแยกตัวเองออกจากครอบครัว ชุมชน หรือสังคม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19

  158737498884

  •  Lockdown/ Shutdown : การปิดประเทศ หรือปิดเมือง โดยห้ามบุคคลเดินทางเข้าออก หรือสั่งหยุดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค 

มาตรการปิดประเทศ หรือปิดพรมแดน ซึ่งมีลักษณะห้ามบุคคลในประเทศเดินทางออกนอกประเทศ และห้ามบุคคลภายนอกประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศ รวมถึงการสั่งหยุดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค

 

  •  Curfew (เคอร์ฟิว) : การประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ตามเวลาและพื้นที่ที่กำหนด 

การประกาศ "พรก.ฉุกเฉิน" หรือ "เคอร์ฟิว" คือ การประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด ตามระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ภายใต้บังคับของกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอื่นๆ ในเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่นอยู่ในภาวะสงครามหรือมีเหตุกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐอย่างรุนแรง 

สำหรับสถานการณ์ "เคอร์ฟิว" ช่วง "โควิด-19" มีการประกาศห้ามออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด แต่ยกเว้นให้กลุ่มคนบางอาชีพ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานตามคำสั่งของทางการ โดยต้องมีเอกสารรับรองความจําเป็น หรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้า หรือเอกสารการเดินทางและมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกําหนด

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

- ‘เคอร์ฟิวคืออะไร ร้ายแรงแค่ไหนในสถานการณ์ 'COVID-19' 

- เปิดวิธี! จำเป็นต้องออกนอกบ้านช่วง 'เคอร์ฟิว' ทำอย่างไร

  

  •  WHO (World Health Organization) : องค์การอนามัยโลก 

WHO คือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในกฎบัตรของสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2491 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างพวกเขาและหน่วยงานอื่นเพื่อส่งเสริมสุขอนามัยของทุกคน

158737443973

 

Rapid Test เป็นการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยการใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว ที่สามารถทราบผลได้ใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค

อย่างไรก็ตาม การตรวจแบบ Rapid Test  ไม่ควรนำมาตรวจเอง เนื่องจากน้ำยาเหล่านี้ทาง อย.อนุญาตใช้เฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่อนุญาตจำหน่ายทั่วไป และหากนำมาตรวจเองก็อาจจะแปลผลและสรุปผลผิดพลาด ดังนั้น จึงต้องตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง :  ชวนรู้! วิธีตรวจเชื้อ ‘โควิด-19’ ในไทยมีกี่แบบและต่างกันยังไง?

 

  •  New normal : ความปกติในรูปแบบใหม่ 

ความปกติรูปใหม่ หมายถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์ และสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นเรื่องปกติ เช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกคนต้องพยายามลดการพบปะผู้คน และไม่สามารถไปรับประทานอาอาหารในร้าน หรือห้างสรรพสินค้าได้ตามปกติ ทำให้หันมาสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น จากเดิม บริการเหล่านี้เคยเป็นเพียงทางเลือก แต่ในอนาคตมันอาจจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนทั่วไป ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น New normal หลังยุคโควิด-19

 

158737492460  

  •  Work Form Home (WFH) : การทำงานจากที่บ้าน 

การทำงานจากที่บ้าน คือการทำงานรูปแบบใหม่ที่เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การทำงานจากที่บ้านจะต้องอาศัยเทคโนโลยี และระบบการสื่อสารที่ทันสมัยเป็นตัวเชื่อมโยงให้สามารถพูดคุย ส่งข้อมูลต่างๆ ให้ได้ประสิทธิภาพคล้ายกับการทำงานในสถานที่ทำงานหรือออฟฟิศ โดย WFH เป็นนโยบายที่หลายองค์กรประกาศใช้ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งในตัวช่วยลดการพบปะระหว่างกัน ช่วยให้บุคคลสามารถระยะห่างทางสังคม และเว้นระยะห่างทางกายภาพ ทำให้ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้

  •  Challenge : กิจกรรมส่งต่อคำท้าให้ทำสิ่งต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย 

Challenge คือกิจกรรมในโลกโซเชียลมีเดีย ที่มีการท้าทายให้คนอื่นๆ ทำบางสิ่งบางอย่าง แล้วส่งต่อไปยังอีกคน หรืออีกหลายๆ คน ให้ทำในลักษณะเดียวกันต่อ Challenge กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะสถานการณ์ Covid-19 สาเหตุหนึ่งคือคนอยู่บ้านมากขึ้น มีเวลาว่างมากขึ้น และเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของการเชื่อมโยงกันของมนุษย์ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณของสัตว์สังคม ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมยามว่าง การท้าทายต่อๆ กันช่วยเยียวยาสภาพจิตใจในระหว่างที่ยังไม่สามารถพบปะพูดคุยกันได้ด้วย

 

  •  Fake news : ข่าวปลอม/ข่าวลวง 

Fake news คือ ข่าวปลอม หรือข่าวลวง ที่ถูกพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง และมีผลกระทบในระดับความเชื่อ

 

  •  Video conference : การประชุมทางไกล 

ระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference System) เป็นระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ต่างสถานที่กันได้ทั้งภาพ เสียง และข้อมูลในเวลาเดียวกัน เป็นตัวช่วยสำหรับการทำงานจากที่บ้าน (WFH) ให้คนในองค์กรสามารถพูดคุย ประชุม สั่งงาน ฯลฯ ระหว่างกันได้เสมือนการทำงานในสถานการณ์ปกติ โดยไม่จำเป็นเดินทางมาประชุมกันตัวต่อตัว 

 

คำว่า "ไดรฟ์ทรู" มาจากคำว่า "Drive-Through" หรือ "Drive-Thru" ซึ่งหมายถึงการขับรถผ่าน สื่อถึงลักษณะบริการให้สินค้าซื้อกลับบ้านโดยไม่ต้องออกจากรถ ปัจจุบันไดรฟ์ทรูกลายเป็นบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านสินค้าและบริการ โดยช่วยรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 การไดรฟ์ทรู จึงไม่ใช่แค่ "ทางเลือก" ของคนที่เร่งรีบอีกต่อไป แต่กลายเป็น "ทางรอด" ของทุกคนนับตั้งแต่วันที่ "โควิด-19" ระบาดไปทั่วโลก

อ้างอิง: จุดประกาย MCOT etda