โควิด-19 กับสุขภาพจิต รัฐบาลต้องใส่ใจ
โควิด-19 นอกจากอันตรายต่อสุขภาพกายและเศรษฐกิจ นับวันยิ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตประชาชน สมาคมจิตเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอเมริกัน 1 ใน 3 รู้สึกว่าตนได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตระดับสูงจากโควิด-19 หรือในไทย ที่ปรากฏข่าวมีจำนวนคนฆาตัวตายให้ได้ยินถี่ขึ้น
โควิด-19 ส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วยสาเหตุอย่างน้อย 4 ประการ ประการแรก จากสาเหตุทางสุขภาพ คนส่วนใหญ่กังวลว่าตนได้รับเชื้อหรือไม่ คนในครอบครัวปลอดภัยหรือเปล่า ทั้งยังกลัวสูญเสียคนที่รัก ประการที่สอง เครียดจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมากเกินไป
ประการที่สาม เครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนเผชิญ ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการชั่วคราวจากมาตรการรัฐ ที่เปิดอยู่ก็ค้าขายซบเซา ประชาชนบางส่วนตกงาน ขาดรายได้ มีหลายครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวตกงานพร้อมกัน ส่งผลต่อความสามารถในการดำรงชีพ
ประการที่สี่ ความเครียดของผู้คนบางส่วนยังเกิดจากวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ต้องทำงานจากบ้าน ไม่ได้พบเจอเพื่อนร่วมงาน ไม่สามารถไปออกกำลังกาย ไปร้านกาแฟ หรือเจอเพื่อนและครอบครัว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลให้มีคน “เหงา” จำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ (lockdown) ทำให้คนจำนวนมากต้องกักตัวในบ้าน ประมาณการว่าปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกราวหนึ่งในสามหรือกว่า 2,600 ล้านคน ที่วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากมาตรการล็อกดาวน์
โดยสรุป โควิด-19 ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนจำนวนมาก ก่อทั้งความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า และอันตรายขนาดทำร้ายร่างกายตนเองหรือครอบครัว
มีตัวอย่างงานสำรวจในประเทศจีนที่เผชิญสถานการณ์ล็อกดาวน์มาก่อน พบว่าประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิต สอดคล้องกับผลสำรวจของ Kaiser Family Foundation ที่สำรวจคนอเมริกันระหว่าง 25-30 มี.ค. พบว่า 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตจากการแพร่ระบาดของโรค โดยเพศหญิงรู้สึกได้รับผลกระทบสูงกว่าเพศชาย คนมีลูกได้รับผลกระทบสูงกว่าคนไม่มีลูก ทั้งนี้หากมีการกักตัว งานวิจัยในอดีตยังพบว่า พ่อแม่ที่มีลูกและบุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตสูง
ผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตชี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่ในสถานการณ์ปัจจุบัน คนจะอยู่ในภาวะเครียดหรือวิตกกังวล เพราะทุกคนกำลังเผชิญความไม่แน่นอนในระดับสูง ความเครียดเป็นพฤติกรรมอัตโนมัติที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความไม่แน่นอนเหล่านี้
ความเครียดหรือวิตกกังวลจะมากหรือน้อย ยังขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาของการใช้มาตรการล็อคดาวน์ อัตราการแพร่ระบาดของโรค อย่างจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ ความสามารถในการดำรงชีพหรือสถานะทางการเงิน ความสามารถในการเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันโรค
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ด้วยว่า ผลกระทบต่อสุขภาพจิตประชาชนจากโควิด-19 อาจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงสั้นๆ แม้การแพร่ระบาดของโรคจะลดลง หรือมาตรการล็อกดาวน์ถูกยกเลิกแล้ว ผลกระทบต่อสุขภาพจิตประชาชนจะดำรงอยู่ไปอีกระยะเวลาหนึ่ง เช่น 3-6 เดือนทีเดียว และนี่คือต้นทุนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น คนไม่อยากไปทำงาน เพราะกลัวติดโรค หรือเครียดจนส่งผลให้ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้นสำหรับรัฐบาล ต้องตระหนักถึงผลกระทบของสถานการณ์ปัจจุบันต่อสุขภาพจิตประชาชน เช่น ในการกำหนดมาตรการล็อกดาวน์ ควรกำหนดภายใต้ระยะเวลาที่จำเป็น ควรให้ข้อมูลที่เพียงพอและทันสถานการณ์ต่อประชาชน จัดหาอุปกรณ์ดูแลสุขอนามัยให้ประชาชนเข้าถึงได้ มีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึง ส่งเสริมให้คนในสังคมเข้าใจและปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่ถูกกักตัวอย่างเหมาะสม ตลอดจนจัดหากลไกสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิต
งานวิจัยยังพบว่า การล็อกดาวน์ยิ่งยาวนานขึ้นเท่าใด ยิ่งส่งผลให้คนที่แต่เดิมไม่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือที่คิดว่าตัวเอง “เอาอยู่” ยิ่งลดลง จากคนที่ไม่มีปัญหาจะกลายเป็นมีปัญหาเพิ่มขึ้น
รัฐบาลยังควรใส่ใจประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มเผชิญปัญหาสุขภาพจิตเป็นพิเศษ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่แนวหน้า เด็กและเยาวชนอายุน้อย ผู้สูงอายุ ผู้ที่พื้นฐานมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว คนพิการ และผู้มีรายได้น้อย
ปัญหาสุขภาพจิตจากโควิด-19 เกิดขึ้นได้กับเราทุกคน ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เราควรเห็นอกเห็นใจ ใส่ใจซึ่งกันและกัน เพื่อนำพาสังคมให้รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้