วันนี้ของ เรนเจอร์ คำอุ่น และผองเพื่อนที่รอดชีวิตจากมหันตภัยไฟป่า
อัพเดทอาการ น้องเรนเจอร์ คำอุ่น โควิด เคอร์ฟิว ฟุ้งปลิว ส้มป่อย สัตว์ป่าที่ได้รับความช่วยเหลือ ดูแล รักษาอาการบาดเจ็บจากสถานการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ทางภาคเหนือเมื่อต้นปี 2563
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา น้องเรนเจอร์ และ คำอุ่น ได้เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจคนไทยที่ติดตามข่าวมหันตภัยไฟป่าที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของไทยอย่างน่าเป็นห่วง
รวมทั้งภารกิจอันหนักหน่วงของ ‘มดงาน’ หลายกลุ่มที่เข้าไปช่วยกันดับไฟป่า ก็เป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มที่คนไทยเอาใจช่วย และหนึ่งในมดงานเหล่านั้นคือคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่คนไทยติดตามในนาม เพจเฟซบุ๊ค Wildlife Clinic - Chiangmai ซึ่งทำให้คนไทยรักและรู้จัก ‘น้องเรนเจอร์’ กับ ‘คำอุ่น’
Wildlife Clinic – Chiangmai คือเพจเฟซบุ๊คเพจของ คลินิกสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ที่ใช้สื่อสารการทำงานของคลินิกสัตว์ป่าฯ เชียงใหม่ พร้อมสอดแทรกข้อมูลของสัตว์ป่าแต่ละชนิดที่ให้การรักษาดูแล
“คลินิกสัตว์ป่าฯ ตั้งมาได้ 5 ปี เป็นงานใหม่ที่อยู่ในส่วนของ ‘กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช’ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” สมชาย บริสุทธิ์ หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า
ในด้านงานอนุรักษ์สัตว์ป่า ดูแลโดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า มีความคิดจะทำหน่วยงานในลักษณะ คลินิกสัตว์ป่า เพื่อรองรับสัตว์ป่าที่บาดเจ็บ พลัดหลง หรือได้รับแจ้งจากราษฎรที่สัตว์ป่าเข้าไปทำความเดือดร้อน ซึ่งมีทั้งสัตว์ป่าบาดเจ็บหรือพลัดหลงที่ชาวบ้านพบเจอแล้วนำมามอบให้ดูแล รวมทั้งที่เจ้าหน้าที่ออกไปรับมอบ เพื่อนำมาดูแลรักษาตามอาการและควบคุมโรค-กักกันโรคของสัตว์ป่า ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หรือเก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สำหรับ ‘สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า’ เพื่อเพิ่มจำนวนสัตว์ป่าในธรรมชาติ
“แต่เดิมงานลักษณะดูแลรักษาเราไม่ค่อยได้ทำกันมากนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในส่วนกรมอุทยานฯ ไม่มีความรู้ด้านสัตวแพทย์มากนัก ตอนหลังมีการบรรจุข้าราชการที่เป็นสัตวแพทย์เข้ามาประจำ เนื่องจากเราเพิ่มงานนี้เข้ามา ในแต่ละพื้นที่ของ ‘สำนักอนุรักษ์พื้นที่’ ซึ่งมี 16 พื้นที่ทั่วประเทศ ก็จะมีสัตวแพทย์ประจำแต่ละสำนักฯ ดูแลเรื่องสัตว์ป่า แต่คลินิกสัตว์ป่าเราเพิ่งตั้งได้ 5 แห่งเท่านั้น คือที่เชียงใหม่ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสานอีกสองแห่ง เป็นต้นแบบของการเริ่มปฏิบัติงาน”
ขณะนี้ คลินิกสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) มีสัตวแพทย์ประจำ 2 ท่าน สัตวบาล 2 ท่าน และเจ้าหน้าที่ลูกจ้างประจำพนักงานราชการทำหน้าที่ช่วยเหลือสัตวแพทย์และสัตวบาล รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดภาคเหนือทั้งหมด หากงานพัฒนาการไปได้ดี ‘คลินิกสัตว์ป่าฯ’ อาจได้รับการจัดตั้งในจังหวัดอื่นเพิ่มเติม
สัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าภาคเหนือครั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่คลินิกฯ ต้องดูแล เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นสัตว์ป่าที่มาจากหลายพื้นที่ในจังหวัดลำปาง แพร่ แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ แบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มที่พลัดหลง กับ กลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บ
“กลุ่มพลัดหลง ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เล็กๆ ที่เป็นลูกสัตว์ พลัดกับแม่ที่หนีไฟป่า แม่อาจมาหาไม่ได้แล้ว หรือแม่ตายไปแล้วก็ตาม ชาวบ้านพบเข้า ก็นำมาให้, กลุ่มได้รับบาดเจ็บ เช่นโดนไฟลวกไฟไหม้ หรือบางตัวที่หนีออกมาแล้วเจอสัตว์บ้านทำร้ายก็มี” หัวหน้าสมชาย อธิบาย
วันที่ 4 เมษายน ขณะที่คนไทยเศร้าใจกับภาพผืนป่าดอยสุเทพวอดท่ามกลางมหันตภัยไฟป่า คนไทยที่รักสัตว์ก็ได้รู้จักและร่วมกันโอบอุ้ม อีเห็นข้างลาย (Asian Palm Civet) ที่บอบช้ำจากการหลบหนีเหตุการณ์ไฟป่ามาพึ่งเย็นในความดูแลของคลินิกฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ร่วมกันตั้งชื่อให้ว่า น้องเรนเจอร์ (Ranger)
“กรณีอีเห็นฯ ที่เรารับมา มีอาการเบ้าตาถลนออกมาด้วย การบาดเจ็บนี้เราไม่ทราบสาเหตุจริงๆ อาจมีการต่อสู้ระหว่างสัตว์ป่าด้วยกันก่อนหน้านั้น เพราะตอนมาถึงเรา ไม่ใช่บาดแผลใหม่แล้ว แต่บาดแผลใหม่คือโดนไฟลวกไฟไหม้” หัวหน้าสมชาย กล่าว
สัตวแพทย์ประจำ ‘คลินิกสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่)’ บันทึกอาการ ‘น้องเรนเจอร์’ ไว้ส่วนหนึ่งว่า
‘เพิ่งเห็นน้องขับถ่ายเมื่อเช้านี้ (12 เม.ย.) ดีใจมากๆ เพราะตั้งแต่ได้น้องมาดูแลตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 ก็ยังไม่เห็นน้องถ่ายเลย (เห็นแต่ตอนน้องถ่ายปัสสาวะ) อึของน้องออกจะหอมหน่อยๆ ด้วยนะ...
วันนี้ให้น้องกินผลไม้ตั้งหลายอย่าง ทั้งกล้วย มะละกอ และมะม่วงสุก น้องชอบมาก รีบกินเลยทีเดียว...
ตอนนี้น้องเริ่มแต่งตัวเลียขนหลังอาหาร ดูมีเรี่ยวแรงมากขึ้น...
เวลากินอาหาร พี่ๆ ต้องคอยขยับถาดอาหารมาใกล้ๆ ให้น้องค่อยๆ ก้มลงไปกินอาหารช้าๆ (จากการสังเกตคาดว่า ตาขวาของน้องที่ยังเหลืออยู่และประสาทการดมกลิ่นคงไม่ค่อยดีมาก อาจเป็นเพราะน้องมีอายุมากแล้ว)’
“ล่าสุดอาการน้องเรนเจอร์ดีขึ้นมาก จริงๆ เขามีอายุพอสมควรแล้ว ถ้าเป็นคนก็อยู่ในช่วงอายุสูงวัย ความคล่องแคล่วยังไม่คืนตัวเร็ว แต่เรื่องกินอาหาร การขับถ่าย โอเคหมดแล้ว สัญชาตญาณก็กลับคืนมาส่วนใหญ่แล้ว” หัวหน้าสมชาย ให้สัมภาษณ์ ‘กรุงเทพวันอาทิตย์’ เมื่อวันอังคารที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา
วันที่ 9 เมษายน คลินิกสัตว์ป่าฯ เชียงใหม่ ก็รับสมาชิกใหม่เข้ามาดูแลคือ หมาไม้ สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดหายาก ได้รับการตั้งชื่อว่า คำอุ่น เนื่องจากหนีไฟป่ามาตัวยังอุ่นอยู่ และยังไม่หย่านม น่าจะอยู่ในกลุ่มพลัดหลงกับแม่
คำอุ่นหลับปุ๋ย
“เราให้การเลี้ยงดู ‘คำอุ่น’ ตั้งแต่การป้อนนม ดูแลให้เขาโต ให้เขาแข็งแรง พัฒนาการก็ดีขึ้น ตอนนี้เราก็เปลี่ยนแยกไปไว้ในกรงใหญ่ขึ้น ให้เขามีโอกาสปีนป่ายมากขึ้น ช่วงแรกมาถึงเราเขามีอายุเดือนเศษๆ ตอนนี้ก็น่าจะสองเดือนได้แล้ว”
วันที่ 14 เมษายน คลินิกสัตว์ป่าฯ เชียงใหม่ ได้รับมอบ ลูกอีเห็นข้างลาย ที่ถูกพบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ อ.แม่แตง อีก 4 ตัวที่ยังไม่หย่านม คาดว่าไฟป่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ ‘แม่อีเห็น’ จำเป็นต้องต้ดใจทิ้งลูกๆ ไป มีทั้งตัวที่เจ้าหน้าที่ไปดับไฟแล้วพบเห็น กับชาวบ้านพบเห็นแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ให้นำมาส่ง
‘ลูกอีเห็นข้างลาย’ ทั้ง 4 ตัว ได้รับการตั้งชื่อตามผลโหวตจากประชาชนที่อยากให้ชื่อของน้องอีเห็นทั้ง 4 ตัว เป็นตัวแทนเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ที่ควรจารึกไว้
ตัวผู้ตัวที่หนึ่ง ชื่อ โควิด สถานการณ์ที่ทำให้โลกชะงัก แต่ก็ทำให้ผู้คนกลับมาสนใจและช่วยเหลือกันมากขึ้น
ตัวผู้ตัวที่สอง ชื่อ เคอร์ฟิว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลก ทำให้คนกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น
ตัวเมียตัวที่หนึ่ง ชื่อ ฟุ้งปลิว ระลึกถึงหมอกควันและ PM2.5 ที่เชียงใหม่
ตัวเมียตัวที่สอง ชื่อ ส้มป่อย ตัวแทนน้ำมงคลคู่ประเพณีสงกรานต์ที่ปีนี้เป็นปีแรกที่ทั่วประเทศไม่ได้จัดงาน
นอกจากนี้ยังมี ลูกแมวดาว เพิ่มมาทีละตัวสองตัว จนเป็นแปดตัว และ ลูกลิงเสน ลูกนก ลูกกระรอก เหยี่ยวรุ้ง เป็นอาทิ ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของคลินิกสัตว์ป่าฯ เชียงใหม่
หลังจากรักษาอาการบาดเจ็บของสัตว์ป่าหายเป็นปกติ หรือเลี้ยงดูลูกสัตว์ป่าจนเติบโตแข็งแรงดีแล้ว หัวหน้าสมชายกล่าวว่า คลินิกสัตว์ป่าฯ เชียงใหม่ มี 2 แนวทางที่จะดำเนินการต่อไปคือ ปล่อยสัตว์ป่าคืนธรรมชาติ โดยพยายามเลือกถิ่นเดิมที่สัตว์ป่าจากมา ซึ่งทำประวัติไว้
ในกรณีที่สัญชาตญาณสัตว์ป่าหายไป หรืออะไรก็ตามที่ทำให้สัตว์ป่าชนิดนั้นไม่สามารถดำรงชีวิตในป่าได้อีกแล้ว จะให้ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า พิจารณาว่าต้องการทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนปล่อยคืนธรรมชาติ ป้องกันการสูญพันธุ์ และเพิ่มศักยภาพของธรรมชาติ เนื่องจากการเพาะพันธุ์ในธรรมชาติบางครั้งก็มีปัญหาภัยคุมคาม เช่น ไฟป่า หรือสัตว์ป่าบางตัวอาจต้องนำไปปรับพฤติกรรมเพื่อให้มีสัญชาตญานเพียงพอในการกลับสู่ป่า
ไม่ว่าใครคิดจุดไฟในป่าด้วยวัตถุประสงค์ใด หรือคิดไม่มากพอ จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่า หัวหน้าสมชาย บริสุทธิ์ ฝากข้อคิดไว้ว่า
“จริงๆ ผมว่าทุกท่านทราบดีว่าปัญหาเรื่องไฟรุนแรงมาก บ้านเหมือนที่อยู่อาศัย ป่าก็เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การที่บ้านเราถูกไฟไหม้ เราเดือดร้อนขนาดไหน ก็น่าจะเปรียบเทียบได้ว่า สัตว์ป่าเมื่อบ้านของเขาถูกไฟไหม้ เขาจะต้องเดือดร้อนขนาดไหน
ลูกสัตว์ป่าตัวเล็กๆ จะต้องตายไป ที่หนีไม่ได้ก็ต้องตายไป ถึงหนีได้ แต่ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย รังถูกทำลาย โพรงที่เคยอยู่ถูกทำลาย ก็เป็นปัญหาเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับชีวิตพวกเขาทั้งนั้น
คนที่จุดไฟ เผาไฟ บางทีอาจจะไม่ได้คิดไกล ไม่ได้คิดยาว ว่ากระทบแม้แต่ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ สัตว์ในป่าไม่ใช่มีแต่ตัวใหญ่ที่เราเห็นเท่านั้น ยังมีแมลงบางชนิดที่มีความสำคัญ สัตว์ที่อยู่ไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมอย่างรวดเร็วแบบนี้ ก็จะสูญเสียไปโดยง่าย
นอกจากเสียต้นไม้ เสียถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าเราคิดให้กว้าง จะรู้ว่าการจุดไฟในป่าแต่ละครั้ง มันเกิดผลกระทบมหาศาล
ไฟป่าเกิดแล้วควบคุมยาก เจ้าหน้าที่ถึงแม้พยายามดับกันเท่าไร ผมเชื่อว่ายังสู้ไม่ไหวกับภาวะของไฟที่เกิดขึ้น มีความร้อน มีความยากลำบากสารพัด กว่าจะเข้าถึงไฟได้ จะสามารถดับได้แค่ไหน ไฟป่าถ้าเกิดแล้ว..ภัยคุกคามรุนแรง คนที่คิดจะจุดไฟหรือทำให้เกิดไฟไหม้ลุกลามเข้าไปในป่า เป็นผู้สร้างความเสียหายมหาศาล”
ก่อนจุดไฟในป่า ก่อนดีดก้นบุหรี่ออกนอกรถ โปรดมองเข้าไปในดวงตาสัตว์ป่าเหล่านี้สักครั้ง
-----------------------------------------------
ขอบคุณภาพสัตว์ป่าจาก Wildlife Clinic – Chiangmai