ส่อง 5 'ที่เที่ยว' กรมศิลปากรเปิดให้เข้าชมหลังผ่อนคลายเฟส 2
รีวิว "ที่เที่ยว" ที่กรมศิลปากรเปิดให้คนไทยกลับมาเที่ยวชมได้แล้ว หลังจาก ศบค. ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, อุทยานประวัติศาสตร์, โบราณสถาน, หอสมุดแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
เมื่อไม่กี่วันก่อน มีข่าวว่ากรมศิลปากรสั่งเปิดให้บริการแหล่ง “ท่องเที่ยว” ในเชิงประวัติศาสตร์ ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, อุทยานประวัติศาสตร์, โบราณสถาน, หอสมุดแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอเกียรติยศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไป หลังจาก ศบค. ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2
แม้เปิดให้ขาเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยได้แล้ว แต่ก็ต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อยๆ, เว้นระยะห่าง) อย่างเคร่งครัดด้วย และผู้ใช้บริการต้องสแกน QR CODE ผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าออกใน “ที่เที่ยว” แต่ละแห่ง อีกทั้งต้องผ่านระบบคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ หากพบว่ามีไข้สูงก็จะงดให้บริการแก่บุคคลนั้นๆ
ก่อนจะออกไปเที่ยวให้สนุกสุดฟิน หลังจากที่ต้อง "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" กันมานาน ลองมาเช็คข้อมูล “ที่เที่ยว” เหล่านี้คร่าวๆ กันหน่อยดีกว่า ว่าแต่ละแห่งมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์อย่างไร? และมีจุดไหนน่าเที่ยวชมบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมมาให้คุณแล้ว ดังนี้
1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั่วประเทศ
จริงๆ แล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีกระจายอยู่ทั้งหมด 45 แห่งทั่วประเทศไทย ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แต่คราวนี้จะขอเริ่มรีวิวจาก "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร" ซึ่งเป็น ที่เที่ยวกรุงเทพฯ กันก่อนก็แล้วกัน เพราะเป็นสถานที่ที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และโด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติเสมอมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่บริเวณ “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ในคราวเดียวกับพระบรมมหาราชวัง พระราชวังแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชถึง 5 พระองค์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช พระราชวังแห่งนี้จึงว่างลง จึงโปรดเกล้าฯให้ “มิวเซียมหลวง” ณ ศาลาสหทัยสมาคมหรือหอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวังมาตั้งแสดง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังสถานมงคลทั้งหมดจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” และประกาศตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” เมื่อปี พ.ศ.2477 ส่วนจุดท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด ได้แก่
- ประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดิน: จัดแสดงประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่รุ่งเรืองของไทย ผ่านศิลปโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมทุกสมัยที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์
- ประณีตศิลป์สืบสมัย: ชมงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกในพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังฯ หลายพระองค์ มีทั้งเครื่องคชาธาร เครื่องสูง เครื่องนาฏดุริยางค์ เครื่องถ้วย เครื่องโลหะ เครื่องราชยานคานหาม เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา เครื่องมุก และเครื่องอาวุธ เป็นต้น
- ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยสืบสาน: จัดแสดงวิวัฒนาการของศิลปะโบราณคดี เช่น เทวรูปโบราณ ในประเทศไทย มีทั้งสมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์
- โบราณสถานวังหน้า: จัดแสดงสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อาคารโบราณสถานวังหน้า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และจิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
2. อุทยานประวัติศาสตร์ 10 แห่งทั่วไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ เป็นบริเวณสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ อาคารสถาปัตยกรรม ซากโบราณสถาน ที่อยู่อาศัย วัดวาอาราม และศาสนสถาน , สภาพแวดล้อมของโบราณสถานรวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น สระน้ำ คูคลอง ถนนและทางเดิน สวนป่า , การผสมผสานกันระหว่างการก่อสร้างของมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม โดยประเทศไทยมี "อุทยานประวัติศาสตร์" ทั้งหมด 10 แห่งด้วยกัน ได้แก่
- อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย: ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุโขทัย อยู่ห่างจากตัวเมืองสุโขทัย ไปทางทิศตะวันตก 12 กิโลเมตร
- อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย: ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ และตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อยู่ในเขตบ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย
- อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร: ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดกำแพงเพชร ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง แบ่งออก เป็น 2 เขต คือ เขตภายในกำแพงเมืองมีพื้นที่ 503 ไร่ และเขตนอกกำแพงเมืองหรือที่เรียกกันว่า เขตอรัญญิก ตั้งอยู่บนเขาลูกรังขนาดย่อม มีพื้นที่ 1,611 ไร่
- อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา: มีเนื้อที่ 1,810 ไร่ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์: ตั้งอยู่ในเขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
- อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ: ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ห่างจากแม่น้ำป่าสักไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 5 กิโลเมตร ตัวเมืองตั้งอยู่เชิงทิวเขาเพชรบูรณ์ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก
- อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี: หรือที่เรียกกันว่า “เขาวัง” เดิมเป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี
- อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย: ตั้งอยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำมูล ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศเหนือใต้
- อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง: ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าที่หมดพลังแล้ว อยู่ในเขตตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ มีพื้นที่ 451 ไร่ 11 ตารางวา
- อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท: ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ภูพระบาทเป็นชื่อภูเขาอยู่ในทิวเขาภูพาน ซึ่งทอดยาวอยู่ทางด้านทิศตะวันตก
3. โบราณสถาน (ส่วนย่อยของอุทยานประวัติศาสตร์)
"ที่เที่ยว" ถัดมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวไทย ที่เป็นส่วนหนึ่งของของอุทยานประวัติศาสตร์ ตามที่บอกไปข้างต้นใน ข้อ2 บางแห่งเก็บค่าเข้าชม บางแห่งก็ไม่เก็บค่าเข้าชม เราขอยกตัวอย่างมาให้รู้จักกันสักเล็กน้อย ได้แก่
- อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีโบราณสถานที่น่าสนใจ คือ "พระราชวังโบราณ" ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ริมแม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันเหลือแต่เพียงฐานรากพระที่นั่ง อีกหนึ่งแห่งที่สำคัญก็คือ "วัดพระศรีสรรเพชญ์" เป็นวัดที่สำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตพระราชวัง สำหรับเป็นที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ และเป็นที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล
- อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีโบราณสถานที่น่าสนใจ คือ กำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเป็นกำแพงพูนดิน 3 ชั้น ภายในเมืองมีตระพังหรือสระน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังสอ และตระพังตระกวน พบว่าโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 125 แห่ง อีกทั้งยังมีโบราณสถานบนเนินเขาที่สำรวจพบแล้วมี 10 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดสะพานหิน วัดช้างรอบ วัดเขาพระบาทน้อย วัดเจดีย์งาม วัดถ้ำหีบ วัดอรัญญิก และทำนบพระร่วง (สรีดภงส์)
- อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี มีโบราณสถานที่น่าสนใจ คือ อาคารโบราณที่มีสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสิก มีการปั้นสันหลังคา ใช้กระเบื้องกาบกล้วย สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดอยู่บนยอดเขาทั้ง 3 ยอด ได้แก่ วัดพระแก้ว (พระอุโบสถ พระสุทธเสลเจดีย์ หอระฆัง ศาลา พระปรางค์แดง), พระธาตุจอมเพชร, พระราชวังโบราณ (พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร์ ตำหนักสันถาคารสถาน)
4. หอสมุดแห่งชาติ
หอสมุดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บ รวบรวม สงวนรักษา และอนุรักษ์มรดกทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาการ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมของชาติ ในรูปของหนังสือตัวพิมพ์ เอกสารโบราณ ได้แก่ ศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิคส์ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ให้บริการความรู้และข่าวสารแก่คนในชาติ
ที่นี่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอพระสมุด 3 แห่งเข้าด้วยกันคือ หอพุทธสาสนะสังคหะ, หอพระมณเฑียรธรรม และหอพระสมุดวชิรญาณ แล้วพระราชทานนามว่า "หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร" เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2448 ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายพื้นที่ตั้งแห่งใหม่มาอยู่ตึกถาวรวัตถุ ริมถนนหน้าพระธาตุ
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายพื้นที่การให้บริการเป็น 2 แห่ง คือ "หอพระสมุดวชิราวุธ" และ "หอพระสมุดวชิรญาณ" ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงธรรมการ พ.ศ.2476 กำหนดให้หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเป็นกองหอสมุด ขึ้นอยู่ในกรมศิลปากร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "หอสมุดแห่งชาติ"
วัตถุจัดแสดงที่มีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ เอกสารโบราณ เป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ และให้บริการเอกสารโบราณประเภทจารึก หนังสือสมุดไทย คัมภีร์ใบลาน ซึ่งเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมสะท้อนภูมิปัญญาในการบันทึก สรรพวิทยาการของบรรพชนไทย รวมถึงหนังสือหายากที่มีคุณค่าเป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ จำนวนมากกว่า 50,000 เล่ม
5. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หอเกียรติยศ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2495 มีพันธกิจอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม พัฒนางานจดหมายเหตุทุกกระบวนงานให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และเป็นศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเอกสารจดหมายเหตุ โดยได้จัดเก็บเอกสารจดหมายเหตุและบันทึกต่างๆ ของรัฐบาลและของสาธารณะมากกว่าหนึ่งล้านรายการ เช่น เอกสารกระดาษ ใบตาล ภาพถ่าย รูปภาพ โปสเตอร์ วิดีโอเทป และการบันทึกเสียงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน สำหรับหอจดหมายเหตุที่ควรค่าแก่การไปเที่ยวชม ได้แก่
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช : ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 75 ไร่ ณ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี รัฐบาลได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงานพระราชพิธีราชาภิเษก จึงได้จัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในโอกาสดังกล่าว ตัวอาคารมีลักษณะเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัชกาลที่ 9
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ : มีอยู่หลายแห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ตรัง ยะลา สงขลา
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร : มีอยู่หลายแห่ง ได้แก่พะเยา อุบลราชธานี
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดจันทบุรี
- หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
- หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ทำหน้าที่รวบรวมเก็บรักษาเอกสารรวมทั้งการจัดนิทรรศการประวัติผลงานและสิ่งของที่เนื่องในภารกิจของ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี
------------------------
อ้างอิง:
https://www.facebook.com/FineArtsDept
https://www.museumthailand.com