RS vs GMM แข่งกันขายอะไร? ทางรอดของค่ายบันเทิงในยุคดิจิทัล
เมื่อ 2 ค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่อย่าง อาร์เอส (RS) และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GMM) ต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในยุคดิจิทัล ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันทางธุรกิจอย่างดุเดือด
ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจ กลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ในยุคดิจิทัลมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การปรับตัวเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวนิ่งนอนใจไม่ได้
แม้กระทั่งค่ายสื่อดั้งเดิมอย่าง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ก็ประสบกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดบันเทิงไทยครั้งใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อ 3 ปีที่แล้วทั้งสองบริษัทก็ติดอยู่ในภาวะขาดทุนจนเกือบจะเอาตัวไม่รอด แต่พอมาในปี 2020 สองบริษัทนี้กลับสามารถพลิกฟื้นสภาวะขาดทุนและสร้างกำไรได้
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมองการปรับตัวของ อาร์เอส และ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ว่ามีวิธีบริหารธุรกิจ กลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ให้สามารถอยู่รอดในยุคดิจิทัลที่แข่งขันกันดุเดือดได้อย่างไร?
- กำไร - ขาดทุน
อาร์เอส (RS) บริหารงานโดย เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดอาร์เอสเคยทำรายได้มากถึง 33,000 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านของทีวีดิจิทัลในปี 2556 ตั้งแต่นั้นมารายได้รวมของบริษัทก็ลดลงเรื่อยๆ ต่ำสุดเหลือเพียง 555 ล้านบาท และมีสภาวะกำไรติดลบ จนถึงเมื่อปี 2560 อาร์เอสกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง จนถึงปัจจุบันปี 2563 พบว่าอาร์เอสมีรายได้รวมในไตรมาสแรก 990.15 ล้านบาท กำไรสุทธิ 186.48 ล้านบาท และเมื่อย้อนกลับไปในปี 2562 อาร์เอสมีรายได้รวม 3,611 ล้านบาท และทำกำไร 363 ล้านบาท
ส่วน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GMM) บริหารงานโดย อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก็มีภาวะขาดทุนเช่นเดียวกัน โดยในปี 2558 ขาดทุนมากถึง 1,288 ล้านบาท แต่ในปี 2562 กลับฟื้นตัวและมีรายได้รวม 6,602 ล้านบาท และได้กำไรสุทธิ 342 ล้านบาท
- RS สู่ RS Mall
บริษัทอาร์เอสมีสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นธุรกิจพาณิชย์ 54% สื่อและวิทยุ 34% เพลง 12% โดยสิ่งที่ทำให้บริษัทกลับมาอยู่รอดได้คือ RS Mall เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่แตกยอดออกมาจากการสร้างคอนเทนต์บันเทิง ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า “Entertainmerce”
RS Mall มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของอาร์เอสเอง รวมถึงการโปรโมทสินค้า และบริการส่งเดลิเวอรี่ถึงหน้าบ้าน
สำหรับสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์ม RS Mall ทั้งออนแอร์และออนไลน์ประกอบไปด้วยสินค้าของ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด 60% และสินค้าของพาร์ทเนอร์อีก 40% สำหรับสินค้าของไลฟ์สตาร์ที่ขึ้นแท่น Product Champion ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน, สินค้าในกลุ่มบำรุงสายตา, สินค้าในกลุ่มดูแลเส้นผมและผิวพรรณ และสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพและส่งเสริมการนอน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้านวัตกรรมเพื่อความงามและสุขภาพ ปัจจุบัน RS Mall มีฐานข้อมูลลูกค้า 1.4 ล้านราย และมียอดซื้อต่อครั้งอยู่ที่ 2,300 บาทต่อบิล
- GMM ลุยธุรกิจสื่อบันเทิงอย่างต่อเนื่อง
ด้าน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สัดส่วนรายได้แบ่งเป็นธุรกิจเพลง 53% พาณิชย์ 36% อื่นๆ อีก 11% ยังคงยึดธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจหลักของบริษัทประกอบด้วยการจำหน่ายสินค้าเพลง, ดิจิทัลมิวสิค, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, ธุรกิจโชว์บิซ, ธุรกิจบริหารศิลปิน และธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียมฟรีทูแอร์ช่องแฟนทีวี รายได้รวมจากธุรกิจเพลงในปี 2562 เท่ากับ 4,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของรายได้จากการขายสินค้า การให้บริการ และค่าลิขสิทธิ์ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของธุรกิจโชว์บิซ ธุรกิจดิจิทัลมิวสิค และธุรกิจการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์
ในปี 2562 ที่ผ่านมา งานโชว์บิซของกลุ่มบริษัทฯ ได้เสียงตอบรับที่ดี เช่น “คอนเสิร์ต 2019 The Return of BBB #11 Restage” , “SINGING BIRD CONCERT BY REQUEST ตอน เพลงตามคำขอ” , “Peck Palitchoke Concert #2: Love in Space” , “POTATO Magic Hours Concert #มันคือเรื่องจริง” และ “Bodyslam Fest วิชาตัวเบา Live in ราชมังคลากีฬาสถาน” ที่สร้างปรากฏการณ์ขายบัตรคอนเสิร์ตหมดภายในวันแรกที่เปิดขายบัตร
นอกจากนี้ยังมีเทศกาลดนตรีที่ได้รับความนิยม เช่น “Big Mountain Music Festival 2019” เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ “เชียงใหญ่เฟส” เทศกาลดนตรีภาคเหนือที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในขณะที่รายได้จากธุรกิจดิจิทัลมิวสิคเพิ่มสูงขึ้นจากค่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์และส่วนแบ่งรายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ การหันมาจับกลุ่ม ซีรีส์วาย เพิ่มมากขึ้น จากกลุ่มธุรกิจร่วม จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง หรือทีวีช่อง "จีเอ็มเอ็ม25" โดยซีรีส์วายไม่ใช่แค่มีรายได้จากตัวโฆษณาเท่านั้น แต่ยังสามารถทำเงินได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขายแพ็คคู่ศิลปินดาราในงานโฆษณา อีเว้นท์ หรือกลยุทย์การเปิดขายบัตรงานแฟนมีตติ้งที่มีราคาสูงเทียบเท่าบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินดัง ซึ่งขณะนี้ราคาของบัตรเข้างานแฟนมีตติ้งเริ่มตั้งแต่ราคา 1,000 บาท ไปจนถึงบัตรวีไอพีราคา 5,000 บาท
ราคานี้เป็นราคาที่เปิดขายให้ทั้งแฟนคลับชาวไทยและแฟนคลับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ที่ลงทุนบินข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาร่วมงานแฟนมีตติ้งดังกล่าว และถึงแม้ว่าจะเปิดขายบัตรในราคาแพงมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเหล่าบรรดาแฟนคลับ ทำให้บางครั้งผู้จัดต้องจัดงานขึ้น 2 รอบในวันเดียว และยังสามารถต่อยอดธุรกิจโดยการนำภาพหรือวิดีโอภายในงานไปทำเป็น Box set ขายได้อีกด้วย
นอกจากการจัดงานแฟนมีตติ้งในประเทศแล้ว ด้วยความนิยมในตัวศิลปินดาราที่ลุกลามไปไกล ทำให้สามารถขายอีเว้นท์ลักษณะนี้ในต่างประเทศได้อีกต่างหาก โดยเฉพาะที่ประเทศจีนและประเทศเกาหลีพบว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว
โดยสรุป.. คีย์เวิร์ดสำคัญของการอยู่รอดของธุรกิจกลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนท์ในยุคดิจิทัล คงหนีไม่พ้นคำว่า "การปรับตัว" ซึ่งทางฝั่งอาร์เอสนั้นเลือกที่จะปรับตัวให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ต่อยอดจากของเดิม ส่วนทางฝั่งแกรมมี่ยังคงใช้โมเดลธุรกิจเดิมแต่เจาะกลุ่มเป้าหมายให้หลากหลายมากขึ้นนั่นเอง