พูดคนเดียว ช่วย พัฒนาตัวเอง ได้! รู้จักข้อดีของการคุยกับตัวเอง
เปิด 3 ข้อดีของการ "พูดคนเดียว" ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องแปลก แต่แท้ที่จริงแล้วพฤติกรรมนี้มีส่วนช่วยในพัฒนาตัวเองได้ และอาจมีประโยชน์กว่าที่คิด
เชื่อว่าหลายคนเคยเห็นคนที่กำลัง "พูดคนเดียว" รำพึงรำพันคนเดียว หรือบางครั้งก็อาจเผลอพูดคนเดียวกับตัวเองเหมือนกันในบางเวลา ใครที่เคยอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ไม่ต้องตกใจ นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการพูดกับตัวเองคือเรื่องปกติที่มนุษย์ทำได้ หรือทำเป็นประจำได้แบบไม่ได้เพี้ยนอย่างที่หลายคนเข้าใจ
โดยข้อมูลจาก Phychology-spot และ Bigthink เปิดเผยผลวิจัยระบุว่า การพูดหรือรำพึงรำพันคนเดียวไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แถมยังเป็นเรื่องดีกับตัวผู้พูดอีกด้วย หากสิ่งที่เรากำลังพูดกับตัวเองเป็นเรื่องที่ดี หรือเรื่องที่ควรพูด และบางครั้งก็ยังทำให้ผู้พูดฉลาดขึ้นอีกด้วย เพราะพฤติกรรมนี้จะช่วยให้เข้าใจความคิดของตัวเองได้ดีขึ้น
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปทำความรู้จักกับข้อดีของการพูดคนเดียว ดังนี้ จากการวิจัยหลายชิ้นพบว่า "การพูดคนเดียว" มี 3 ข้อดีซ่อนอยู่ ดังนี้
1. ช่วยพัฒนาสมอง
- เพิ่มความจำ
หลายคนอาจเคยประสบปัญหา ต้องการทำอะไรบางอย่าง แต่เดินๆ ไปแล้วลืมว่าตัวเองจะทำอะไร ทำให้เลือกใช้วิธีการพูดออกเสียงกับตัวเองเพื่อกันลืม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่หลายคนทำ และบ่งบอกว่าการพูดกับตัวเองช่วยเตือนความจำให้เรากำลังจดจ่อกับห้วงเลยปัจจุบันได้ดี
โดยนักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน ได้ทดลองโชว์ภาพให้อาสาสมัครดูจำนวน 20 ภาพ และขอให้พวกเขาค้นหาภาพหนึ่งภาพที่เห็นก่อนหน้านี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครต้องทำงานนี้แบบเงียบๆ อีกครึ่งหนึ่งต้องพูดชื่อของวัตถุที่ต้องการหาออกมากับตัวเอง
ภาษาไม่ได้เป็นเพียงวิธีการสื่อสารกับคนอื่นเท่านั้น เมื่อเรานำไปใช้กับตัวเราเอง หรือพูดบางอย่างกับตัวเอง ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราคิดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มการรับรู้ เพิ่มความจำได้
หลังจากนั้นพบว่า ผู้ที่พูดชื่อวัตถุออกมาในระหว่างการทดสอบ พบวัตถุนั้นเร็วขึ้น 0.1 วินาทีในขณะที่คนอื่นๆ ต้องใช้เวลา 1.2-2 วินาที ซึ่งช้ากว่าอย่างมีนัยสำคัญ
นักวิจัยเหล่านี้จึงเชื่อว่าภาษาไม่ได้เป็นเพียงวิธีการสื่อสารกับคนอื่นเท่านั้น เมื่อเรานำไปใช้กับตัวเราเอง หรือพูดบางอย่างกับตัวเอง ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราคิดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มการรับรู้ เพิ่มความจำได้
- พัฒนาสมอง
แน่นอนว่าเมื่อเราได้ใช้สมองอยู่บ่อยๆ จากการพูดกับตัวเอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้พัฒนาสมอง มีข้อมูลวิจัยชี้ให้เห็นว่า การพูดกับตัวเองอาจช่วยให้ "สมองทำงานได้ดีขึ้น" การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Acta Psychologica ขอให้ผู้เข้าร่วมอ่านคำแนะนำและดำเนินการตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง โดยใช้วิธีคล้ายงานวิจัยด้านบน คือให้อีกกลุ่มอ่านอย่างเงียบๆ และอีกกลุ่มอ่านออกมาดังๆ ผลการวิจัยพบว่าการอ่านออกเสียงช่วยรักษาสมาธิและเพิ่มประสิทธิภาพ
มารี-เบฟฟา หนึ่งในผู้เขียนรายงานการศึกษานี้ตั้งข้อสังเกตว่า "การพูดออกมาดังๆ เมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่าน แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำงานของความรู้ความเข้าใจสูง แทนที่จะป่วยทางจิต มันสามารถทำให้คุณมีสติปัญญามากขึ้นได้"
2. ได้เผชิญกับความท้าทาย
การพูดเพียงลำพังไม่เพียงช่วยทวนความจำกับตัวเองเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ได้ "กระตุ้นตัวเอง" ได้เป็นอย่างดี
นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์เคยทดสอบเรื่องนี้ โดยให้ผู้ทดลองตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นและแก้ไขปัญหาบางอย่าง โดยให้บางคนคิดเรื่องนี้ในใจ และให้คนที่เหลือต้องพูดออกมาเป็นเสียงดังๆ อยู่ตามลำพัง
นักวิจัยพบว่าการพูดเพียงลำพังพูดดังๆ ทำให้ได้ "แรงจูงใจ" มากกว่าโดยเฉพาะการใช้คำพูดคล้ายๆ กับพูดกับคนอื่นอยู่ เช่น การพูดกับตัวเองด้วยคำว่า "คุณ" แทนที่จะเป็น "ฉัน" หรือใช้คำพูดว่า "คุณทำได้" แทนที่จะเป็น "ฉันทำได้"
ซึ่งการพูดในลักษณะนี้จะช่วยจูงใจตัวเองได้มากกว่า และส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงรู้สึกพึงพอใจกับการแสดงออกของตัวเองมากขึ้นด้วย
นักจิตวิทยาเหล่านี้มองว่า การพูดกับตัวเองโดยการใช้บุคคลที่สองเข้ามาสนับสนุน วิธีนี้คนเรารู้สึกดีขึ้น ได้รับความปลอดภัย และมีความมั่นใจมากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามาเช่น งานที่ท้าทายความสามารถ การตัดสินใจในเรื่องยากๆ ก็จะทำให้ทำได้ดี และไม่รู้สึกต้องต่อสู้เพียงลำพัง
3. ช่วยลดความเครียด
บางครั้งการพูดคนเดียว ก็ช่วยคลายความเครียดได้แบบไม่รู้ตัว ในเรื่องนี้นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าการพูดกับตัวเองช่วยให้เราคลายความเครียดได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องรู้จักที่จะพูดกับตัวเองให้ดีด้วย
โดยนักวิจัยเหล่านี้ทดลองสร้างความเครียดและความวิตกกังวลในหมู่ผู้ทดลอง โดยบอกพวกเขาว่า พวกเขาต้องเตรียมคำพูดสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญที่จะพิจารณาคุณสมบัติของพวกเขาเพื่อรับสมัครงานที่พวกเขาต้องการ โดยให้เวลา 5 นาทีเพื่อเตรียมความพร้อม และห้ามใช้กระดาษโน้ต
จากนั้นผู้ทดลองครึ่งหนึ่งเลือกใช้วิธีพูดกับตัวเอง ด้วยการตั้งคำถาม เช่น "ทำไมฉันถึงรู้สึกประหม่า" คุยกับตัวเองเพื่อลดความเครียด
ขณะเดียวกันอีกครึ่งหนึ่ง ให้ผู้ทดลองพูดกับตัวเอง ในฐานะของบุคคลที่สามโดยเปลี่ยนการตั้งถามเป็น "ทำไมคุณถึงประหม่า" เพื่อลดความเครียดแทน
การติดตามผู้ทดลองแต่ละคนพบว่า ผู้ที่พูดกับตัวเองในฐานะบุคคลที่ 3 บอกว่ารู้สึกประหม่าน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของคนเหล่านี้ดีขึ้นและน่าเชื่อถือมากขึ้นอีกด้วย
ความลับของการพูดคนเดียวคือความจริงที่ว่า เมื่อเราคิดว่าตัวเองเป็นคนอื่น เราจะมีระยะห่างทางจิตใจจากปัญหา ซึ่งช่วยให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ของเราเปิดใจ มองเห็นปัญหาได้หลายแง่มุมและพิจารณามุมมองอื่นๆ มากขึ้นได้นั่นเอง และนั่นทำให้การพูดคนเดียวช่วยลดความเครียดได้แม้ในสถานการณ์คับขัน
ที่มา: Bigthink Psychology-spot