ศิลปินพะเยาโชว์ ‘เปีย-เข้’ เครื่องดนตรีผสมผสาน ‘เปียโน-จะเข้’
ศิลปิน "สล่าหนานแถม" สร้าง “เปีย เข้ "เครื่องดนตรีพื้นเมืองชิ้นแรกที่ผสมศาสตร์และศิลป์ตะวันตกกับ ตะวันออก ให้เสียงเหมือนซึง
ธีรศาสตร์ เจริญสุข หรือสล่าหนานแถม ผู้สร้างตำนานหุ่นสายอันเลื่องชื่อของภาคเหนือ ศิลปินที่มีฝีมือทางทั้งการจิตรกรรม, ประติมากรรมและดนตรีพื้นเมือง ได้สร้างเครื่องดนตรีขึ้นมา เรียกว่า "เปีย เข้" ซึ่งการเป็นรวมเอาเครื่องดนตรีทางสากลคือเปียโน มารวมกับจะเข้เครื่องสายของไทย ได้เสียงหรือสำเนียงดนตรีคล้ายเสียงซึงของภาคเหนือ
สล่าหนานแถม เปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดการระบาดของโควิด- 19 งานทุกอย่างที่ทำต้องหยุดหมด ภาพก็ขายไม่ได้ หุ่นสายก็โชว์ไม่ได้ ก็ไปสอนดนตรีก็ทำไม่ได้ จึงไปอาศัยอยู่บ้านสวนในพื้นที่ อ.งาว จ.ลำปาง เพื่อหนีความวุ่นวายให้จิตใจ สมองสงบ จู่ๆได้ยินสียงเปียโนทางวิทยุ ก็เกิดไอเดียขึ้นมาทันทีว่าจะเอาเอกลักษณ์ของเปียโนมาผสมกับเครื่องดนตรีไทยชิ้นใดจึงจะได้เสียงหรือสำเนียงดนตรีให้เป็นทางภาคเหนือจนในที่สุดก็มาจบที่จะเข้ จากนั้นก็ลงมือทำทันทีและลองผิดลองถูกเกือบ 2 เดือน จึงได้เปีย เข้ ตัวแรกขึ้นมา หลังจากที่ระบบลงตัวจึงเริ่มฝึกฝนทั้งตัวเองและลูกสาวเพื่อที่จะเล่นให้มันไพเราะ พลิ้วไหว
เมื่อนำไปลงในเฟซบุ๊คกลับได้เสียงตอบรับที่ดีมาก จึงทำตัวที่สองขึ้น ทันทีที่สร้างเสร็จตรวจเช็คเรียบร้อยก็มีคนมาซื้อถึงบ้าน ซึ่งก็มองว่านอกจากจะได้อนุรักษ์ ส่งเสริมดนตรีพื้นเมือง สร้างรายได้จากความคิดและการประดิษฐ์ขอตนเอง ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างเปีย เข้ ขึ้นเป็นคนแรก จึงพัฒนาต่อไป ซึ่งจะเป็นตัวหรือรุ่นที่ 3 ซึ่งสามารถเล่นดนตรีได้ทั้งทางสากลและพื้นเมืองโดยจะมีแฟลตหรือชาร์ป เพิ่มขึ้นมา ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบ
นางบุญมี ข่ายสุวรรณ อายุ 71ปี ช่างซอฝีปากเอกของพะเยา ซึ่งเมื่อทราบว่าสล่าหนานแถมได้สร้างเปีย เข้ และเสียงที่ได้มีความเป็นพื้นเมืองดี อยากจะได้มาใช้ประกอบกับการขับซอของตนเอง จึงมาขอซื้อและฝึกซ้อม พบว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นง่าย เสียงดี ถ้าตนเองเล่นจนชำนาญแล้วจะนำติดตัวไปทุกแห่งที่ตนเองได้ไปแสดงการขับซอ เพื่อเป็นการอนุรักษ์การขับซอ อันมรดกทางวัฒนธรรมของคนภาคเหนือไว้