'มาคอว์' และ 'วิหคบำบัด' ที่เป็นมากกว่าเพื่อนแก้เหงาของคนเรา

'มาคอว์' และ 'วิหคบำบัด' ที่เป็นมากกว่าเพื่อนแก้เหงาของคนเรา

รู้จัก "มาคอว์" และ "วิหคบำบัด" เปิดมุมมองสัตว์เลี้ยงในฐานะนักบำบัดสำหรับมนุษย์

ปัจจุบันคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้นอย่าง มาคอร์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า นกแก้วมาคอร์ ที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเกิดจากความชอบเฉพาะบุคคล ความเหงา ความโสด แต่รู้หรือไม่? เมื่อมองให้ลึกลงไป สัตว์เลี้ยง เป็นมากกว่าเพื่อนแก้เหงาหรือเฝ้าบ้าน

กรมสุขภาพจิตเปิดเผยรายงานการศึกษาของ E.Paul Chemiack และคณะ จากสถาบันผู้สูงอายุ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไมอามีมิลเลอร์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ได้เผยแพร่ในวาร Current Gerontol Geratic Research ปี 2014 ในฐานข้อมูล NCBI ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ โดยทำการศึกษาเรื่อง The Benefit of Pet and Animal-Assisted Therapy to the Health of Older Individuals เพื่อวัดประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้าและจิตเภท ด้วยการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด

ผลการศึกษาพบว่าสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ สุนัข มีส่วนช่วยสร้างภาวะสุขภาพจิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ช่วยให้ห่างไกลจากความเหงา ความโดดเดี่ยว การแยกตัวจากสังคม ฯลฯ

159400595729

ภาพจาก pixabay

แม้จะยังไม่มีรายงานการศึกษาใดยืนยันผลทางวิทยาศาสตร์ว่าช่วยบำบัดโรคได้มากน้อยเพียงใด แต่การศึกษานี้ดูเป็นผลดีต่อสัตว์และเพื่อนมนุษย์ ทำให้ในสหรัฐอเมริกามีบริการสัตว์เลี้ยงบำบัดมากกว่า 50,000 ตัว และบริการในลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น นอร์เวย์ บราซิล เป็นต้น

โดยสุนัขที่ทำหน้าที่เยียวยาหรือรับบทบาทเป็น นักบำบัด จะต้องเข้ารับการฝึกฝนและมีใบรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ ก่อนที่จะส่งพวกมันไปยังโรงพยาบาลหรือตามศูนย์ต่างๆ เพื่อบำบัดผู้ป่วยต่อไป

นอกจากสุนัขแล้ว ยังมีสัตว์อื่นๆ ที่ช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าในมนุษย์ได้อีกหรือไม่? คำตอบคือ ก็เจ้ามาคอว์ และ สัตว์ปีกพวกนี้ไง!

“วิหคบำบัด หรือการบำบัดอาการซึมเศร้าด้วยนก ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยและการใช้งานจริงแล้ว พบว่าการให้กลุ่มผู้สูงอายุมาดูแลนก ทำให้มีสภาพอารมณ์ที่ดีขึ้น ช่วยลดภาวะซึมเศร้า”

น.สพ.ณฐวุฒิ คณาติยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงพรีเมียร์ เปิดเผยว่านอกจากสุนัข ยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่นำมาบำบัดโรคในมนุษย์ได้

ที่พบบ่อยในบ้านเราคือการนำ ม้า (อาชาบำบัด) และโลมา มาใช้บำบัดในกลุ่มเด็กพิเศษ ในลักษณะของการใช้ประสาทสัมผัส เรียนรู้พฤติกรรมสัตว์เหล่านี้ เพื่อเสริมพัฒนาการ

นอกจากการบำบัดผู้ป่วยด้วยสัตว์ขนาดใหญ่อย่างที่กล่าวมา ยังมีการนำนกมาใช้ในการบำบัด หรือที่เรียกว่าวิหคบำบัดด้วย

159400607565

ภาพจาก Pixabay

น.สพ.ณฐวุฒิ เล่าว่าปัจจุบันการบำบัดด้วยนกยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลาย ที่ผ่านมามีเพียงบางประเทศที่ศึกษาวิจัยและทดลองอย่างจริงจัง

การใช้วิหคบำบัดมักจะพบในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า โดยวิธีการบำบัดไม่จำเป็นต้องให้ผู้สูงอายุคลุกคลีกับนกโดยตรง แต่มีนกอยู่ร่วมในบริเวณที่อยู่อาศัย โดยนกจะมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ผ่านทางเสียงร้อง กิริยาท่าทางต่างๆ ของนกที่แตกต่างกันออกไปแต่ละชนิด และต่างกันไปตามลักษณะนิสัยของนกแต่ละตัว ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้ที่รับการบำบัด เปิดโอกาสให้ได้สังเกต ได้ให้อาหาร ได้ตอบโต้ซึ่งกันและกัน

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เพิ่มกิจกรรมในชีวิตของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ จึงมีส่วนช่วยบำบัดได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยให้ภาวะซึมเศร้าลดน้อยลงหรือดีขึ้นได้ โดยส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการไม่จดจ่ออยู่กับอาการซึมเศร้าของตัวเอง

ทั้งนี้ น.สพ.ณฐวุฒิ มองว่า สำหรับการใช้วิหคบำบัดในประเทศไทยมีความเป็นไปได้ เพียงแต่ยังขาดการทดลองบำบัดอย่างจริงจัง และขาดผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามนกยังสามารถช่วยในด้านอื่นๆ ได้ เช่น กระตุ้นพัฒนาในเด็ก ผ่านการสอนให้จับสัมผัสนกอย่างอ่อนโยน สอดแทรกความมีจิตใจที่ดีและอ่อนโยนให้กับเด็ก และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เก็บพวกเขาแทน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ตัดสินใจเลี้ยงนก หรือสัตวชนิดใดๆ ไม่ว่าจะเพื่อการบำบัด เลี้ยงเป็นเพื่อน หรือเลี้ยงเป็นลูกก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ “สวัสดิภาพของสัตว์” ซึ่งหมายถึงการใส่ใจในคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง

ผู้ที่จะเลี้ยงสัตว์ต้องศึกษาข้อมูลว่าพฤติกรรมของสัตว์ที่จะเลี้ยงมีวิถีชีวิตอย่างไร ชอบกินอะไร มีลักษณะนิสัยแบบไหน รวมทั้งต้องดูแลเรื่องอาหาร ที่อาศัย และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้สัตว์ได้อยู่ในอยู่ในสภาวะที่ปราศจากความตื่นกลัว หรือต้องมีโอกาสที่จะได้ทำอะไรที่เป็นอิสระ เช่น พาเดินเล่น ฝึกบินอิสระ ฯลฯ

159400615667

ภาพจาก Pixabay

ที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่ลืมพิจารณาว่า เราสามารถเลี้ยงดูมันได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ สำหรับสุนัขและแมวอายุขัยราวๆ 10 ปีหรือมากกว่า แต่นกบางชนิดอายุขัยยาวนานถึง 40 ปี เช่น กลุ่มของนกแก้วมาคอว์ (Macaws) นกกระตั้ว ฉะนั้นก่อนจะนำมาเลี้ยงต้องประเมินตัวเองว่าพร้อมที่จะดูแลสัตว์เหล่านี้ยาวนานขนาดนั้นได้จริงหรือไม่

การไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนนำสัตว์มาเลี้ยง นอกจากจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังทำให้ผู้เลี้ยงเองได้รับประโยชน์ทั้งทางกายและใจจากสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

การเลี้ยงสัตว์โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์เป็นที่ตั้ง นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตของสัตว์ดีแล้ว ยังทำให้ใช้ชีวิตของผู้เลี้ยงดีตามไปด้วย