ลงทะเบียน ‘เราเที่ยวด้วยกัน' พร้อมท่องเที่ยวแบบ Ecotourism

ลงทะเบียน ‘เราเที่ยวด้วยกัน' พร้อมท่องเที่ยวแบบ Ecotourism

จองสิทธิ์ "เราเที่ยวด้วยกัน" ได้แล้ว ก็อย่าลืมท่องเที่ยวแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมดูแลสถานที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปด้วย ทำสิ่งเล็กๆ อย่างการพกขวดน้ำไปเติมเอง, แยกขยะ, ปิดไฟและแอร์ทุกครั้งก่อนออกจาห้องพัก เป็นต้น

เริ่มแล้ว! สำหรับการลงทะเบียน "เราเที่ยวด้วยกัน" มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว โดยการมอบส่วนลดเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยงบประมาณ 22,400 ล้านบาท และสามารถใช้สิทธิ์ส่วนลดต่างๆ ดังกล่าวในการท่องเที่ยวได้ในระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่ กรกฎาคม-ตุลาคม 2563

ขาเที่ยวทั้งหลายอาจจะต้องวางแผนการท่องเที่ยวให้ดี พร้อมเข้าไปเช็คร้านอาหารและที่พักที่เข้าเงื่อนไขผ่านทาง www.เราเที่ยวด้วยกัน.com

ทั้งนี้สิ่งสำคัญนอกจากการเช็คร้านอาหารและโรงแรมที่พักแล้ว ก็คือการปรับวิถีท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการท่องเที่ยวปี 2020 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทำความรู้จักเทรนด์การท่องเที่ยวแบบ Ecotourism ที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับสถานที่ท่องเที่ยวได้แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

  • Ecotourism คืออะไร

Ecotourism เป็นคำที่เกิดใหม่ในวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยนำคำ 2 คำมารวมกัน ได้แก่ Eco และ Tourism คำว่า Eco แปลตามรูปศัพท์ว่า สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ส่วน Tourism แปลว่า การท่องเที่ยว

Ecotourism จึงมีหมายความว่า การท่องเที่ยวที่เน้นดูแลเอาใจใส่ในด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์

สำหรับภาษาไทยนั้นคำว่า Ecotourism ถูกแปลว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำมาใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2541

159474440295

ทั้งนี้องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) สมาคมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism Society) และองค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) ให้คำนิยามของ Ecotourism ไว้ว่า “เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นการรบกวนลักษณะทางธรรมชาติ มุ่งหวังในด้านการศึกษา มีความพอใจต่อทัศนียภาพ พืชพรรณ และสัตว์ตามธรรมชาติ มีความเข้าใจต่อวัฒนธรรม ประวัติความเป็นมาของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยไม่เป็นการรบกวนต่อระบบนิเวศ ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์ต่อทรัพยากรของประชากรในท้องถิ่น”

โดยสรุปความหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ การท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังแหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ มีการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม โดยมีการควบคุมผลกระทบ และสร้างบรรยากาศของการศึกษาเรียนรู้ ธรรมชาติแวดล้อม พร้อมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตแหล่งธรรมชาติ รวมทั้งแหล่งวัฒนธรรมอย่างมีความรับผิดชอบ โดยไม่ก่อให้เกิดการรบกวนหรือทำความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากคำว่า Ecotourism แล้ว ยังมีคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกันอีกหลายคำ ได้แก่ Green tourism แปลว่า การท่องเที่ยวสีเขียว หมายถึง การท่องเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติโดยสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ Biotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงชีวภาพ ซึ่งหมายถึง การท่องเที่ยวที่เน้นการศึกษาสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ และ Agrotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นในด้านเกษตรกรรม เพื่อให้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของพืชผลไร่นา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร

  • Ecotourism มีกี่ประเภท

เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนหรือการเที่ยวแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม อาจจะทำให้ทุกคนนึกถึงการเที่ยวแบบเดินป่า ชมภูเขา แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะการท่องเที่ยวแบบ Ecotourism ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภททางเลือกคือ

1. แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (Natural Attractions) หรือที่เกิดจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ประกอบด้วย สภาพภูมิอากาศ (climate) ทิวทัศน์ที่สวยงาม (Scenery) และสัตว์ป่า (Wildlife)

2. แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Manufactured Attractions) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตรงกันข้ามกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เน้นชมสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน สถานที่ราชการที่ก่อสร้างขึ้น เช่น พระราชวัง อาคารเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ

3. แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต เน้นการท่องเที่ยวแบบชมอารยธรรมในอดีต หรือวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อย รวมถึงพิธีกรรม พิธีการงานฉลองรื่นเริงต่างๆ ศิลปะการแสดง ดนตรี เพลงพื้นบ้าน การร่ายรำ การละเล่น และงานหัตถกรรมต่างๆ

159474442170

  • ควรท่องเที่ยวแบบ Ecotourism อย่างไร

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่นานาประเทศให้ความสำคัญ หลักการง่ายๆ ของการท่องเที่ยวแบบ Ecotourism ก็คือ

1. ควรไปเที่ยวในแหล่งพื้นที่ธรรมชาติ ที่มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเป็นหลัก และอาจรวมถึงแหล่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมที่ปรากฏในพื้นที่ด้วย

2. ควรเป็นการท่องเที่ยวที่ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติและระบบนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม

3. เน้นให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ได้รับประสบการณ์ และการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยตรง อีกทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

4. เป็นการท่องเที่ยวที่ให้ประโยชน์กลับคืนสู่ธรรมชาติ เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม

5. มุ่งเน้นคุณค่าลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ในการดึงดูดใจนักท่องเที่ยว แต่ไม่เน้นที่การเสริมแต่ง พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก

สรุปง่ายๆ ก็คือการไปเที่ยวสถานที่ที่ใดที่หนึ่งพร้อมกับการพัฒนาจิตสำนึกของนักท่องเที่ยวให้มีความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

159474446897

  • เริ่มต้นเที่ยว Ecotourism แบบง่ายๆ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะทำให้บางคนถอดใจถึงการเที่ยวแบบเชิงนิเวศ เพราะดูมีขั้นตอนยุ่งยาก แต่ขอบอกว่าการเริ่มต้นด้วยสิ่งเล็กๆ ก็สามารถทำให้เราผันตัวสู่การเป็นนักท่องเที่ยวแบบ Ecotourism ได้ง่ายๆ อย่างไม่รู้ตัว เช่น การพกขวดน้ำไปเติมเอง การแยกขยะ หรือแม้แต่การปิดแอร์ปิดไฟทุกครั้งก่อนออกจากห้องพัก ก็ถือว่าเป็นการเที่ยวเชิงนิเวศแล้ว

สำหรับกิจกรรมที่แนะนำคือ กิจกรรมขี่จักรยานตามเส้นทางธรรมชาติ กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น

โดย Lonely Planet Traveller (Thailand) ได้คัดสรร 5 สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของไทยซึ่งถูกยกย่องให้เป็น “ที่สุดของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งปี” การันตีด้วยรางวัล LP Recommendations Awards ได้แก่ บ่อหินฟาร์มสเตย์, โฮมสเตย์ท้องตมใหญ่, ทัวร์กุยบุรี, โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย และ เกาะทะลุไอส์แลนด์รีสอร์ท

159474448360