คลี่ปมปริศนา ‘สโตนเฮนจ์’ ความลับที่ซุกซ่อนอยู่ใน 'ป่าเวสต์วูดส์'

คลี่ปมปริศนา ‘สโตนเฮนจ์’ ความลับที่ซุกซ่อนอยู่ใน 'ป่าเวสต์วูดส์'

เปิดผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับ "สโตนเฮนจ์" ที่มาของแท่งหินทรายขนาดยักษ์อายุนับพันปี ความเชื่อมโยงกับตำนานแห่ง "ป่าเวสต์วูดส์"

สโตนเฮนจ์ หนึ่งในโบราณสถานลึกลับและสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางได้สร้างความหงุดหงิดและรำคาญใจให้กับนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีมานานหลายศตวรรษเพราะมันมีความลึกลับมากมาย ตั้งแต่สร้างขึ้นได้อย่างไร สร้างขึ้นเพื่ออะไร และแท่งหินทรายขนาดยักษ์ที่ตั้งสูงตระหง่านเหล่านั้นมาจากไหน

แต่ในที่สุดคำตอบของคำถามสุดท้ายก็สามารถคลี่คลายได้หลังจากที่ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วระบุว่า แท่งหินยักษ์ส่วนใหญ่ที่สโตนเฮนจ์ที่รู้จักกันในชื่อหินซาร์เซน ดูเหมือนจะมีแหล่งที่มาที่เดียวกันคือมาจากป่าเวสต์วูดส์ ใกล้เมืองมาร์โบโร่ ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณที่ตั้งอนุสรณ์สถานโบราณไปประมาณ 25 กิโลเมตรและเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์

การคลี่ปมปริศนาดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งช่วยเสริมทฤษฎีที่ว่า แท่งหินมหึมาเหล่านั้นถูกนำมาที่สโตนเฮนจ์ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตศักราชซึ่งเป็นช่วงของการก่อสร้างเฟสที่ 2 ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าคนสร้างมาจากสังคมที่มีการจัดการและเป็นระเบียบสูง

ผลการศึกษายังขัดแย้งกับข้อเสนอก่อนหน้านี้ที่ว่า ‘หินฮีล’ ซึ่งเป็นหินแท่งแรกที่ยังคงประจำการอยู่ที่ปากทางเข้าสโตนเฮนจ์เป็นหินที่มาจากบริเวณใกล้เคียงของสถาปัตยกรรมลี้ลับชิ้นนี้และถูกนำมาวางไว้ก่อนหินแท่งอื่นๆ

ผลการศึกษาดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Science Advances

159711209917

ภาพ: เอเอฟพี

สโตนเฮนจ์เป็นกลุ่มแท่งหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางทุ่งราบซัลลิสเบอร์รี่ ในบริเวณตอนใต้ของอังกฤษ ประกอบไปด้วยแท่งหินขนาดยักษ์ 112 ก้อน ตั้งเรียงกันเป็นวงกลมซ้อนกัน 3 วง แท่งหินบางอันตั้งขึ้น บางอันอยู่ในแนวนอน และบางอันก็ถูกวางซ้อนขึ้นไปข้างบน

เดวิช แนช นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์กายภาพแห่งมหาวิทยาลัยไบรจ์ตัน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยศึกษาแหล่งที่มาของหินที่สโตนเฮนจ์บอกกับเอเอฟพีว่า เขาและทีมต้องคิดค้นเทคนิคใหม่เพื่อใช้วิเคราะห์หินซาร์เซนซึ่งมีความสูงถึง 9 เมตร และมีน้ำหนักมากถึง 30 ตัน

พวกเขาใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์แบบเคลื่อนที่ในการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของซาร์เซนซึ่งมีสารซิลิกอนไดออกไซด์หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าซิลิการ้อยละ 99 แต่ก็พบร่องรอยของสารประกอบตัวอื่นๆ ด้วย

“นั่นแสดงให้เห็นว่าหินส่วนใหญ่มีคุณสมบัติทางเคมีร่วมกัน ซึ่งทำให้เราระบุได้ว่าเรากำลังมองหาแหล่งที่มาของหินจากแหล่งเดียวกัน” เดวิดกล่าว

จากนั้นพวกเขาทำการวิเคราะห์สารประกอบจากแกนของหินที่ได้มาในระหว่างการบูรณะฟื้นฟูในปี 1958 แต่ก็สูญหายไปจนกระทั่งมีการค้นพบใหม่ในปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ

159711210038

ภาพ: เอเอฟพี

พวกเขาทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเหล่านี้ด้วยวิธีที่ซับซ้อนมากขึ้นโดยใช้อุปกรณ์และเทคนิคแมสสเปกโตรเมทรี ซึ่งสามารถตรวจจับองค์ประกอบที่ใหญ่กว่าและมีความแม่นยำสูง จากนั้นจึงนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับแหล่งที่มาที่เป็นไปได้ 20 แห่ง และพบว่ามีความใกล้เคียงกับหินในป่าเวสต์วูดส์ ในวิลธ์ไชร์เคานท์ตีมากที่สุด

มีเพียงจอห์น ออเบรย์ นักปรัชญาธรรมชาติชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 เท่านั้นที่เคยอ้างถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ‘โอเวอร์ตัน วูด’ ซึ่งอาจจะเป็นชื่อเดิมของป่าเวสต์วูดส์กับสโตนเฮนจ์

การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า 'หินบลูสโตน' ซึ่งเป็นหินก้อนเล็กของสโตนเฮนจ์มีที่มาจากเวลส์ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 200 กิโลเมตรทางทิศตะวันตก ในการศึกษาครั้งใหม่นี้บอกว่าหินสีน้ำเงินและซาร์เซนถูกนำมาวางไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน

“สโตนเฮนจ์เปรียบเสมือนการบรรจบกันของวัสดุที่ถูกนำมาจากสถานที่ที่ต่างๆ ดังนั้น มันจะต้องเป็นงานการก่อสร้างที่ใหญ่มากๆ ในตอนนั้น" เดวิดกล่าว

ส่วนข้อสงสัยที่ว่าชาวอังกฤษยุคแรกเริ่มสามารถขนย้ายหินที่หนักถึง 30 ตันเป็นระยะทาง 25 กิโลเมตรได้อย่างไรก็ยังไม่มีคำตอบ แม้ว่าความคิดที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายคือหินเหล่านั้นถูกลากโดยเลื่อนหิมะ นอกจากนี้ความสำคัญของสถานที่ตั้งก็ยังคงเป็นปริศนา

“ผมคิดว่าคุณกำลังมองหาสังคมที่มีระบบการจัดการอย่างดีที่นั่น” เดวิดกล่าวเสริม

สำหรับเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงเลือกนำหินมาจากป่าเวสต์วู้ดส์ เดวิดบอกว่ามันอาจเป็นเรื่องของลัทธิปฎิบัตินิยมเพราะป่าดังกล่าวเป็นหนึ่งในสถานที่ที่อยู่ใกล้กับสถานที่ตั้งมากที่สุด

แต่บริเวณนั้นก็เป็นแหล่งรวมของกิจกรรมยุคหินใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของสถานที่ฝังศพโบราณที่มีรูปร่างเป็นเนินดินวงกลมขนาดใหญ่ พื้นที่เพาะปลูกยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ป่าและมีการพบหินซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการลับขวานหินโบราณด้วย

159711209912

ภาพ: เอเอฟพี

เดวิดกล่าวว่า เทคนิคใหม่ที่ทีมวิจัยคิดค้นขึ้นนั้นอาจจะสามารถตอบคำถามทางโบราณคดีได้เพิ่มเติม เช่นเส้นทางที่ใช้ลำเลียงก้อนหิน ซึ่งจะสามารถสรุปได้หากมีการพบเศษหินซาร์เซนระหว่างทาง

เขาและทีมยังหวังที่จะใช้เทคนิคในการวิเคราะห์ของพวกเขากับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่สร้างด้วยหินซาร์เซนที่กระจายอยู่ทั่วอังกฤษด้วย

...............................

ที่มา: สำนักข่าวเอเอฟพี