ไปม็อบ ส่อง pop culture อะไรคือเบื้องหลัง ติดโบว์ขาว-ชูสามนิ้ว?

ไปม็อบ ส่อง pop culture อะไรคือเบื้องหลัง ติดโบว์ขาว-ชูสามนิ้ว?

Popular Culture ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการแสดงออกทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ ม็อบประชาชนปลดแอก ที่มีให้เห็นตั้งแต่การชูสามนิ้ว ติดโบว์ขาว เอาตัวการ์ตูนแฮมทาโร่มาเป็นสื่อ จนถึงการร่วมร้องเพลง Do You Hear the People Sing?

ม็อบของเด็กไทยรุ่นใหม่ปี 2020 นี้ ไม่ได้มีภาพจำเหมือนครั้งในอดีต ที่มีแต่ความรุนแรง การสูญเสีย ความน่ากลัว และบรรยากาศอึมครึมอีกต่อไปแล้ว เพราะม็อบในวันนี้ ความสนุกของการชุมนุมมีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าข้อเรียกร้อง (จุดประสงค์หลักที่ทำให้เกิดการรวมตัวกัน)

ดังที่เราได้เห็นว่า ความสนุกหลักๆ เกิดจากความครีเอทของผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การเขียนถ้อยคำ จนลามไปถึงสัญลักษณ์ที่ใช้ร่วมกันเช่น ชูสามนิ้ว การร้องเพลง Do You Hear the People Sing ผูกโบว์ขาว ไปจนถึงการสร้างธีมหลักของประท้วง ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงแฮมทาโร่ แต่งตัวแดร็กควีน ทั้งหมดนี้ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย ในปี 2020 ที่นอกจากจะเป็นสีสันภายในม็อบแล้ว ยังนับเป็นเครื่องมือการแสดงออกทางการเมืองที่ดึงความสนใจของผู้คนได้แบบอยู่หมัด

วัฒนธรรมร่วมสมัย หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า popular culture หมายถึง วัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมสำหรับคนในแต่ละยุค Pop Culture นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามยุคตามสมัย ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น อย่างเช่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วัยรุ่นไทยนิยมฟังเพลงร็อก ฟังวงบอดี้สแลม แต่ในปีนี้ คนนิยมฟัง BNK ดังนั้นแล้ววงบอดี้สแลมจึงนับเป็น popular culture เมื่อ10 แล้ว แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นวง BNK แทน

และด้วยความที่ popular culture นั้นนับเป็นเรื่องที่คนหมู่มากรู้จัก มันจึงนำมาใช้เป็นเครื่องมือการแสดงออกทางการเมืองได้ดีเช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่าในปีนี้ popular culture เพิ่งจะมาถูกใช้ทางเรื่องการเมือง เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็มีการดึงเอา popular culture มาใช้โดยตลอด สำหรับการเคลื่อนไหวการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ที่เริ่มโดยคณะเยาวชนปลดแอก ที่ popular culture ก็ถูกหยิบมาใช้อย่างชัดเจน

1597839949100

159783996765

  • ติดโบว์ขาว

วันนี้ (19 ส.ค) มีกิจกรรม #เลิกเรียนไปกระทรวง เป็นรวมตัวเป่านกหวีดขับไล่ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษา รวมถึงเรียกร้องปฏิรูประบบการศึกษา สัญลักษณ์ในการแสดงออกทางการเมืองที่ใช้ประจำกิจกรรมนี้คือการติดโบว์ขาว โดยก่อนหน้านี้โลกออนไลน์มีการถกเถียงถึงการติดโบว์ขาวว่ามีความผิดหรือไม่ เพราะในอดีตการติดโบว์ขาวนี้ นับเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับบางโรงเรียน

ที่มาของติดโบว์ขาวเรียกร้องทางการเมืองนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ในปี 2537 หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล จำนวน 14 คน ต่อมาในปี 2542 องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (UN) ได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวัน “ขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล” และในประเทศไทย คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยมี ริบบิ้นขาว” เป็นสัญลักษณ์

ดังนั้นแล้วจุดประสงค์ของการติดโบขาวในกิจกรรม #เลิกเรียนไปกระทรวง หมายถึงการเลิกใช้ความรุนแรงต่อเด็กนักเรียน ทั้งการข่มขู่ การโดนคุกคามภายในโรงเรียนโดยที่ได้ผู้ดูแลหรือ ครูนั่นเอง

159783999096

159784001691

  • ชูสามนิ้ว

เรียกว่าเป็นเทรนด์กันไปแล้วสำหรับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการ "ชู 3 นิ้ว" นับตั้งแต่ที่เหล่าเยาวชนปลดแอก หรือ ประชาชนปลดแอก หรือล่าสุดที่เหล่านักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ หลายแห่งได้ออกมาแสดงออกผ่านสัญลักษณ์ดังกล่าว โดยมีนัยความหมายแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านการคุกคามประชาชน ไม่เอาเผด็จการ

สำหรับการชู 3 นิ้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2557 ก็มีการใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้วเพื่อต่อต้านรัฐประหาร- ต่อต้านการใช้อำนาจของคสช. โดยในครั้งนั้นให้เหตุผลของการชู 3 นิ้ว ว่าหมายถึง "สันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ"

การชูสามนิ้วนับเป็น popular culture ที่เริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ที่นางเอกของเรื่อง “Katniss Everdeen” ได้ชูสัญลักษณ์ดังกล่าว ที่มีความหมายว่า ขอบคุณ ,สรรเสริญ และ ลาก่อน แต่ต่อมาถูกนำมาใช้เพื่อต่อต้านอำนาจจากเหล่าผู้ปกครอง และเกิดการเลียนแบบ แพร่หลาย ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลที่ถกเถียงเกี่ยวกับการชู 3 นิ้ว ว่ามีมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 1789-1799 ซึ่งในยุคสมัยนั้นได้เกิดคำขวัญขึ้นมาเป็นครั้งแรกว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย" (Liberté, Égalité, Fraternité, ou la Mort)

การชูสามนิ้วเป็น popular culture ที่นิยมกันทั่วโลก การประท้วงในหลายๆ ประเทศทั้งฝรั่งเศส อเมริกาก็นำเอาการชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์การแสดงออกหลายต่อหลายครั้ง ประเทศไทยเองก็ไม่พลาดที่จะนำมาใช้เช่นเดียวกัน

159784004913

159784005932

  • ร้องเพลง Do You Hear the People Sing?

บทเพลงที่ถูกขับร้องในการชุมนุมประท้วงมากที่สุดคือเพลง Do You Hear the People Sing? การชุมนุมของประชาชนปลดแอกที่ผ่านมาก่อนจบก็มีการร้องเพลงนี้ปิดท้ายเช่นกัน

เพลง Do You Hear the People Sing? เป็นเพลงที่ใช้ในการแสดงละครเวทีเรื่อง Les Misérables ภาษาไทยคือเหยื่ออธรรม ซึ่งเปิดแสดงครั้งแรกในเดือนกันยายนปี 1980 ที่โรงละคร Palais des Sports ในปารีส ก่อนจะถูกจัดแสดงซ้ำและนำไปทำเป็นภาพยนตร์อีกหลายครั้ง โดยแก่นของเนื้อเรื่องคือ รัฐบุรุษที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ซึ่งเนื้อเรื่องอิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากความไม่พอใจที่อำนาจซึ่งควรเป็นของประชาชนถูกแย่งชิงไปครั้งแล้วครั้งเล่าในประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นแล้วเพลงนี้จึงมีเนื้อหาที่มีการปลุกใจ และความน่าสงสารของประชาชนไปพร้อมกัน

หลังจากที่ละครเวทีเวอร์ชันแรกเปิดแสดงในปี 1980 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว Do You Hear the People Sing? ถูกนำไปใช้ปลุกใจทางการเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนทั่วโลก

159784010138

  • ม็อบแฮมทาโร่

การเมือง Thailand only ที่มีที่เดียวในโลกคือม็อบแฮมทาโร่ (Hamtaro) ที่สื่อต่างชาติไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวญี่ปุ่น nikkei asia หรือ BBC และCNN ต่างยกให้เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจในเดือนกรกฎาคม 2563

ม็อบแฮมทาโร่ เกิดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งนี้แฮมทาโร่เป็นตัวการ์ตูนชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น และนับเป็น popular culture ของเด็กยุค 90 โดยม็อบนักศึกษาไทยนำมาใช้ในเชิงสัญลักษณ์ในการชุมนุมครั้งดังกล่าว โดยมีการแปลงเนื้อเพลง ท่อนที่ร้องว่า “ของอร่อยที่สุดก็คือเมล็ดทานตะวัน” เป็น “ของอร่อยที่สุดก็คือภาษีประชาชน” เพื่อเป็นการเสียดสีการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำนักข่าวรอยเตอร์วิเคราะห์ว่า การใช้ตัวการ์ตูนในการชุมนุมประท้วงนั้นคือทางเลือกที่สามารถทำได้ภายใต้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด และ สำนักข่าว AFP สรุปหลังจากสัมภาษณ์หนึ่งในผู้ชุมนุมว่า นี่คือวิธีการสื่อสารของม็อบคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอย่างแท้จริง

Pop Culture คือวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่คนส่วนมากรู้จัก เมื่อนำมาแสดงออกทางการเมืองทางการเมืองก็นับเป็น soft power ที่น่าสนใจ พร้อมกันนั้นยังสามารถเรียกพื้นที่สื่อได้อย่างล้นหลาม!