#ถ้านวัตกรรมดี กับ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

#ถ้านวัตกรรมดี กับ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

มองวิกฤติหลากหลายผ่านสายตาอดีตเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาจนถึงบทบาทแก้ไขความยากจนเหลื่อมล้ำ ในยุคที่ต้องใช้ ‘นวัตกรรม’ นำหน้า

ทั้งวิกฤติไวรัส ทั้งความอัตคัดขัดสนทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างส่งผ่านความเดือดร้อนไปสู่ซอกมุมต่างๆ อย่างไม่มีใครหลบเลี่ยงได้ ภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นน้ำเลี้ยงหลักของประเทศไทยก็เสียหายรุนแรง ข้าวยากหมากแพงยิ่งทวีความเหลื่อมล้ำในสังคม ดูเหมือนว่าปัญหาจะหาทางคลี่คลายไม่เจอ

แต่ในวิกฤติ ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสภา มองว่า นวัตกรรม จะเป็นตัวละครลับที่ทำให้ปัญหาที่สะสมค่อยๆ สะสางได้

  • ในฐานะอดีตเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ มองสถานการณ์การท่องเที่ยวกับโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างไร

เรามองเฉพาะประเทศไทยไม่ได้ เราต้องมองสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นประเทศใดทำสองอย่างได้ หนึ่งคือการรักษาให้ตัวเลขต่ำอย่างที่ไทยทำ แล้วก็รักษาให้ต่ำมานานมาก นี่เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาว่าอะไรคือปัจจัยในนั้น ผมคิดว่าความร่วมมือของประชาชนไม่ใช่คำตอบเดียวเท่านั้น แต่มีเรื่องของวัฒนธรรมเองด้วย

ความรู้ไม่เกี่ยวแล้ว ความรู้แตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ ออสเตรเลีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ยังมีคนเดินประท้วงเกี่ยวกับไม่เห็นด้วยที่จะใส่หน้ากาก แสดงว่าความรู้ในประเทศพวกนี้มีมาก แต่ความรู้ที่ให้ผลต่อวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ของบ้านเรามีคนที่อาจไม่รู้เรื่องไวรัสวิทยามากนัก แต่วัฒนธรรมคือความร่วมมือ ซึ่งความร่วมมือไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาได้ ดังนั้นเอาตัวเลขของไทยไปเทียบกับต่างประเทศ ของไทยจึงโดดเด่นมาก

ขณะเดียวกันตัวเลขชุดที่สองที่ต้องดูคือมีประเทศที่ต้องพึ่งพาการเดินทางเข้าออกที่ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยว แต่คนของเขาต้องเดินทางไปต่างประเทศเยอะมาก เช่น เกาหลีใต้ ต่อให้เขาปิดไม่รับนักท่องเที่ยวเลย ก็ต้องมีคนของเขาที่ไปประจำการตามประเทศต่างๆ เพราะบริษัทของเกาหลีใต้ปรากฏตัวอยู่หลายประเทศ เป็นต้น

ประเทศต่างๆ ที่มีความรู้แต่ไม่ร่วมมือ ผมมองว่าเป็นเพราะศิลปะการถ่ายทอด การสื่อสารระหว่างเครือข่ายต่างๆ ในสังคม ศิลปะการสื่อสารที่ไม่เน้นอำนาจเกินไป และไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของท้องที่มากเกินไป จะต้องมีส่วนผสมที่พอดีๆ ของมัน ในแต่ละภูมิวัฒนธรรมก็ใช้นวัตกรรมที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นคีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงนี้แหละว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ว่ามันลงตัวจากหลายปัจจัย ชัดเจนว่านั่นใช้กับคนที่เข้ามาคุ้นเคยกับวัฒนธรรมภายในของเราแล้ว

  • คิดว่าการรับมือจะเป็นอย่างไร

ขอจำแนกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ ของการทำงาน หมวดที่ 1 คือหมวดการเตรียมความพร้อมในหน้างานภาคสนาม หมวดที่ 2 คือการสื่อสารสาธารณะ ซึ่งทั้งคู่เป็นนวัตกรรมทั้งคู่เลย ถ้าการสื่อสารในสนาม นวัตกรรมเกี่ยวกับเรื่องการสับเปลี่ยนกำลัง การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ ภาษาภาพ ที่จะไปถึงกลุ่มเป้าหมาย มีตั้งแต่คนที่กำลังจะเดินเท้าเข้ามาไปจนถึงชาวบ้านที่กำลังกังวล กลัว ไปจนถึงไม่รับรู้ ควรจะใช้เครื่องมือ ภาษา จังหวะ อย่างไร

ส่วนกลุ่มที่จะรับการบินเข้ามาเพราะอยากได้รายได้ทางเศรษฐกิจจากเขา ก็ต้องใช้เครื่องมือที่แตกต่างไป สองชุดนี้ ผมอาจไม่มีโอกาสเข้าไปร่วมสำรวจตรวจสอบเครื่องมือพวกนี้ จึงได้แต่ติดตามอยู่ห่างๆ เพราะทั้งสองกรณีนั้น ถ้าการสื่อสารไม่เคลียร์ โอกาสรั่วก็ย่อมสูง

160013273412

  • แนวทางที่ควรจะเกิดขึ้นกับเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ของบ้านเรา?

ถ้าเป็นเมืองต่างจังหวัดตามปกติค่าครองชีพจะถูกกว่ากรุงเทพฯแน่นอน แค่ตู้ปันสุขก็ทำให้คนแถบนั้นพออยู่กันได้แล้ว แต่กรณีเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต สมุย ฯลฯ ค่าเช่าแพงมาก ถามว่าตอนนี้เจ้าของที่ลดค่าเช่าให้หรือยัง ลด แต่การลดนั้นน่าจะยังไม่เพียงพอสำหรับการลดค่าครองชีพทั้งระนาบ ผมจึงเสนอว่าเราค้นต้นทุนชีวิตของทั้งเมืองเลยมาว่าฝ่ายผู้ให้เช่ามีที่ไหนบ้าง เช่าทุกอย่างเลยนะ แล้วมาถามกันว่าถ้าเรายังเอาลูกค้าจำนวนมากๆ เข้ามาได้ เราจะรักษาให้ระบบมันพอเดินไปได้อย่างไร

ข้อเสนอที่สองคือลดบรรดาต้นทุนค่าเช่าพร้อมกัน ก็จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่กำลังกังวลว่ามีคนแพ็คของออกจากเกาะ ออกจากพื้นที่ เพราะเขาสู้ต้นทุนค่าครองชีพไม่ไหว ต้องลดค่าครองชีพกันและกันเพื่อให้อยู่กันได้

ข้อเสนอที่สามคือแลกเปลี่ยนกัน (Barter) ถ้าจะแลกกันนั้นเป็นไปได้ไหมว่าเอาสิ่งที่พอมีอยู่ในพื้นที่มาทำบัญชีดิจิทัล แล้วเถ้าแก่มาตกลงกันเพื่อให้ลดต้นทุนแก่กันและกัน เช่น หอพักนี้เหลือห้องว่าง 30 เปอร์เซ็นต์ ทำอะไรได้บ้าง ก็เอามาแลกให้คนบางกลุ่มได้อยู่ใกล้ขึ้นเพื่อลดต้นทุนการเดินทาง คือไม่ใช่ลดราคาให้กัน แต่เป็นการแลกเปลี่ยน ถามว่าเจ้าของได้อะไร ก็ต้องคุยกันว่าจะแลกกับอะไรบ้าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าโควิด-19 อยู่กับเราแค่ 7-8 เดือน ก็คงไม่คุ้มที่จะสร้างระบบใหม่มั้ง เพราะสื่อสารกันไม่ทัน แต่ถ้ามันอยู่กับเรา ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่ากลางปีหน้าก็ยังไม่มีใครได้วัคซีน เพราะบริษัทวัคซีนรู้แล้วว่ามีโอกาสถูกฟ้องกลับมหาศาลมากเลยถ้าเขายังทดสอบไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เราอาจต้องอยู่ในสภาพนี้อีกถึง 4 ปี ด้วยซ้ำไป

  • ดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญกับคำว่า ‘นวัตกรรม’ เป็นพิเศษ?

คำนี้มันกว้างมาก แต่มีที่น่าสนใจคือคำว่า ‘นวัตกรรมเชิงพื้นที่’ มีอยู่ 2 แนวคิดใหญ่ๆ คือ นวัตกรรมที่ส่งมาจากข้างบน หรือนวัตกรรมที่ขึ้นมาจากข้างล่าง เช่น นวัตกรรมที่ขึ้นมาจากข้างล่าง ในฐานะที่ผมเคยเป็นประธานบอร์ดขององค์การมหาชนแห่งหนึ่ง ชื่อว่าองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ผมได้ทำงานกับกลุ่มท่องเที่ยวเชิงชุมชน เราได้เห็นนวัตกรรมดีๆ ที่ขึ้นมาจากข้างล่าง

นวัตกรรมจากข้างบนลงไปจะมาในรูปของหน่วยอื่น เช่น การที่รัฐบาลมีดำริว่าจะทำให้มีคลัสเตอร์ท่องเที่ยวต่างๆ นี่ก็เป็นนวัตกรรม การมีนวัตกรรมไม่ได้แปลว่าจะต้องสำเร็จ แต่มันถูกผลิตขึ้นมาด้วยชุดความคิดใหม่ เป้าประสงค์ใหม่ แต่ถ้าใช้วิธีการเก่า นวัตกรรมนั้นก็อาจจะไม่เวิร์คก็ได้ โดยทั่วไปแล้วเราหวังว่านวัตกรรมต้องแปลว่าคุณไม่ทำอย่างเคยๆ ไม่อยู่ใน Comfort Zone และมันก่อให้เกิดผลบางอย่างซึ่งผลที่ว่านั้นมันอาจจะไม่ใช่ผลที่ตั้งไว้แต่ต้น แต่มันออกมาแล้วดี มันก่อให้เกิดแรงเชื่อมโยง การเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ มันก็เป็นสิ่งที่สมควรจะใช้

160013273437

  • ยกตัวอย่างนวัตกรรมจากข้างล่าง?

เช่นการที่ช้างป่าออกมาอาละวาดตามแปลงพืชสวนไร่นาของเกษตรกร ก็ปรากฏว่าชุมชนหนึ่งในจังหวัดเลย เขาทำท่องเที่ยวเชิงชุมชน ถามว่าวิวเขาสวยที่สุดไหม บอกไม่ คนที่ไปที่นั่นจะเห็นความงามมากกว่าที่จะเห็นความสวย งามตรงที่ว่าชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ชาวบ้านเขาปลูกแก้วมังกร เวลามันสุกช้างก็ชอบมาก ก็จะออกมาจากราวป่าเพื่อบุกเข้าไปในสวน ชาวบ้านก็ไม่รู้จะทำอย่าง ไม่อยากมีปัญหากับช้าง เขาได้ฟังมามากต่อมากว่าทำรั้วชนิดไหนก็เอาไม่อยู่ เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาด

ชาวบ้านจึงไปเอาไผ่ป่ามาปลูก พอเขาไปรดน้ำแก้วมังกรก็จะรดน้ำแนวไผ่ป่าด้วย ไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้ามันจึงโตเร็ว เมื่อรดน้ำมันได้ถึงระดับหนึ่งมันก็โตเร็วมาก ความสูงที่เขาต้องการคือสูงพอให้รำคาญ เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ไม่เคยกระโดด มันเดินอย่างเดียว และไผ่ป่ามีหนาม ยืดหยุ่น ช้างไม่สามารถโค่นไผ่ป่าได้ ถ้าเป็นต้นไม้อื่นช้างเบียดจนหักได้ แต่พอเป็นไผ่ป่ามีหนาม จะเอางวงเกี่ยวก็เจ็บ จะเดินเหยียบก็เจ็บ จะเดินลุยก็เจ็บ มันก็ไม่ข้าม และไม่ต้องสูงมาก แต่ช้างก็รู้ว่าไปยื้อมันก็เหนียว เจ็บตัวเปล่าๆ ในที่สุดแล้วทั้งคนทั้งช้างก็อยู่กันได้แบบเห็นๆ กัน โดยไม่กระทบกระทั่งกัน และไผ่ยังเป็นแนวป่าให้ด้วย ทั้งอุทยานและเจ้าหน้าที่ก็พอใจที่อยู่ดีๆ ก็มีคนสร้างแนวป่าให้ แล้วทีนี้เมื่อช้างไม่ได้กินแก้วมังกร สิ่งที่มันได้กินคือหน่อไม้ของไผ่ป่า มันก็ได้กินบ้าง แต่อย่างน้อยมันก็พอใจ สิ่งที่ชุมชนได้แถมก็คือคนไปดูช้างป่าในระยะที่ปลอดภัย นี่คือตัวอย่างนวัตกรรม

แต่นวัตกรรมอีกอย่างที่ผมมองว่าเกิดกับที่นี่คือเขาไม่ได้เปิดให้คนไปทั้งปีนะ เพราะเขามีนวัตกรรมของเขา การเป็นท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่ได้แปลว่ามีหน้าที่รับใช้ตลาด ฉันแค่ให้อนุญาตให้คนอื่นมาดูกิจกรรมของฉันในระหว่างที่ฉันสะดวก ถ้าเป็นช่วงลงมือเพาะปลูกไม่ได้มีเวลามาต้อนรับใครก็ปิด ไม่ให้คนนอกเข้า จนกระทั่งฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วถึงจะเปิดให้มาเที่ยว อย่างนี้ผมถือว่าเป็นนวัตกรรม เป็นมากกว่า ‘ธุรกรรม’ เพราะธุรกรรมคือจะทำเพื่อหาเงิน ยอมโยนทิ้งวิถีชีวิตของตัวเองเพื่อจะมาต้อนรับแขก แล้ววันไหนแขกไม่มาจะเอาอะไรกินละเนี่ย

นวัตกรรมจึงอาจจะไม่ได้แปลว่าต้องเป็นของทันสมัย วิทยาศาสตร์ มันเป็นวิธีคิด และถ้าคิดได้ถูกปรัชญาของมัน บางทีเป็นการย้อนไปสู่วิถีดั้งเดิมก็เป็นนวัตกรรมได้ เพียงแต่การกลับไปสู่วิถีดั้งเดิมนั้นไม่จำเป็นต้องหยุดการพัฒนา ตรงกันข้ามเขาอาจพัฒนามากกว่านั้นอีกคือพัฒนาเป้าหมาย ไม่ได้พัฒนาแค่วิธีการ ดังนั้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมซึ่งต่างกับ Creative Economy เพราะนวัตกรรมบางเรื่องอาจไม่เป็นครีเอทีฟก็ได้ ในขณะที่ครีเอทีฟมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 อย่าง คือ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องพรสวรรค์ แต่อีกอย่างที่คนไม่ค่อยพูดถึงเลยในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ Tolerancy ความสามารถทนกันได้ ทุกวันนี้พอเห็นใครต่างศาสนา ต่างลิทธิหน่อยก็จะตั้งแง่กัน แล้วเราจะเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วและอยู่กับความหลากหลายที่แท้จริง ปัญหาเรื่องผิวสียังคงอยู่ หรือการมองคนด้วยอคติ

  • งานวิจัยมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วยใช่ไหม?

ทุกอย่างเกิดจากพื้นฐานวิจัยทั้งนั้นเลยเพื่อจะสร้างนวัตกรรม เมื่อก่อนเรื่องการสื่อสารสังคมคือขอแค่ให้เธอได้ยิน เพราะฉะนั้นวิทยุกระจายเสียงอย่าง AM จึงไปได้ไกลมาก Shortwave ก็ไปได้ทั่วโลก แล้วเราก็ค่อยมาค้นพบว่ามีภาษาภาพ ที่เห็นกราฟิกดีไซน์ ก่อนหน้านั้นเราก็ไม่ค่อยเห็นนะครับ มีแค่ภาพ สี เล่นกับสี แต่ไม่ได้เล่นกับกราฟิกดีไซน์ ของพวกนี้ผมคิดว่าถ้ามีงานวิจัยศึกษาไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าเทคโนโลยีไม่ได้ทำให้คนรักกัน แต่งานวิจัยที่ทำให้คนเข้าใจเรื่องนวัตกรรมว่าเธอสามารถสร้างนวัตกรรมจากฐานงานวิจัยเพื่อทำให้มนุษย์ที่มีความหลากหลายของระดับการเรียนรู้ การเข้าถึงฐานทรัพยากรที่ไม่เท่ากัน เขาอยู่ร่วมกันได้

โจทย์ใหม่ของโลกคือ Disparity ความถ่างและเหลื่อมล้ำนั้นมันสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแม้พูดภาษาเดียวกันแต่มากันคนละสำนึก หายใจในตารางกิโลเมตรเดียวกัน แต่คนละชุด ชุดนี้ติดเครื่องฟอกอากาศ อีกชุดไม่ติด คนนี้นั่งในรถแอร์ ห่างกันแค่ประตูกั้น ฉันเย็น เธอร้อน ยิ่งถ้าต่างทั้งอุณหภูมิ ต่างทั้งคุณภาพของอากาศที่กำลังหายใจ เราจะเข้าใจกันได้อย่างไร ถ้าสังคมไม่เข้าใจกันไปแก้ตอนปลายไม่ทัน จึงต้องย้อนมาที่ฐานคิดว่าอย่างน้อยทำฟุตบาทให้ดีหน่อยไม่ได้หรือไร การมีหลังคาอาจตอบโจทย์ แต่จะดีกว่านั้นไหมถ้าจะทำให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แล้วหันไปใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น

นี่แหละมั้งเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันระหว่าง นวัตกรรมเชิงพื้นที่ เศรษฐกิจฐานราก และความเหลื่อมล้ำ เพราะการทำฟุตบาทให้ดี คุณไม่ต้องไปใช้บริษัทยักษ์ใหญ่จากเยอรมนีมาช่วยออกแบบ คุณใช้สมอง ใช้หัวใจ ตอนสร้างถ้าจะให้ดีเอาคนพิการคนตาบอดมาลองใช้เลย แล้วให้เขาบอกว่าจะรับไหม เพราะทางลาดนั้นส่วนมากทำแบบขอไปที เข็นขึ้นได้เฉพาะรถขนน้ำอัดลมเท่านั้นแหละ มาสองล้อแล้วงัดขึ้นไปเลย ถ้าเป็นเรื่องก่อสร้างใหญ่ๆ อาจต้องเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องฟุตบาท ช่างชาวบ้านทำได้ ชาวบ้านก็ช่วยตรวจรับงานได้ด้วย ไม่ต้องเอาเจ้าหน้าที่ซีอะไรก็ไม่รู้ที่อาจจะไม่เคยมาเดินตรงนี้เลยมาตรวจๆ แล้วก็รับๆ ไป