"วันไหว้พระจันทร์ 2565" 10 กันยายน ชวนรู้ "ขนมไหว้พระจันทร์" มาจากไหน?

"วันไหว้พระจันทร์ 2565" 10 กันยายน ชวนรู้ "ขนมไหว้พระจันทร์" มาจากไหน?

"วันไหว้พระจันทร์" ปีนี้ตรงกับวันที่ 10 กันยายน 2565 (ตามปฏิทินจีนคือวันเพ็ญเดือน 8 ของทุกปี) ชวนย้อนรอยเทศกาล "Mid Autumn Festival" สู่การขอพรความรักของคนยุคใหม่ พร้อมเปิดที่มาของ "ขนมไหว้พระจันทร์"

สายมูเรื่องความรักต้องรู้! "วันไหว้พระจันทร์" ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 10 กันยายน 2565 (หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ของทุกปีตามปฏิทินจีน) นอกจากจะเป็นเทศกาลแห่งความสุขของครอบครัว ที่ได้มาล้อมวงกิน "ขนมไหว้พระจันทร์" อร่อย ๆ ด้วยกันแล้ว เทศกาลนี้ยังเชื่อมโยงถึงประเพณีทางสังคม ความเชื่อ และตำนานที่น่าสนใจด้วย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จักที่มาและความสำคัญของเทศกาลนี้ให้มากขึ้น 

 

  • ทำไมวันไหว้พระจันทร์ ต้องมี "ขนมไหว้พระจันทร์"

ในวันไหว้พระจันทร์ของทุกปี ชาวจีนจะนิยมทำ "ขนมไหว้พระจันทร์" ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการ "เซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ผู้ดูแลการเกษตรประจำฤดูสารทของจีนโบราณ โดยจะทำพิธีเซ่นไหว้นี้หลังจากวันสารทจีน ซึ่งทำแค่ปีละครั้งเท่านั้น เมื่อเซ่นไหว้เสร็จก็จะนำขนมไหว้พระจันทร์ไปแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องในครอบครัวและเพื่อนบ้าน นั่งล้อมวงกินขนม พบปะ พูดคุย ในค่ำคืนวันเฉลิมฉลองด้วยกัน

แต่ขนมไหว้พระจันทร์ ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก แต่เริ่มมีขึ้นหลังจากสมัยของ "พระเจ้าถังเกาจู่" (ครองราชย์ พ.ศ. 1161-1169) โดยในครั้งนั้น มีพ่อค้าชาวธิเบตนำ "ขนมเย่ว์ปิ่ง" (ขนมไหว้พระจันทร์) ที่มีลวดลายสวยงามมาถวาย 

เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรขนมนี้ก็ทรงโสมนัสอย่างยิ่ง และทรงดำรัสชี้ไปที่เดือนเพ็ญว่า ต้องชวนพระจันทร์ชิมขนมนี้ด้วย แล้วแบ่งขนมนั้นพระราชทานขุนนางทุกคน จึงเกิดประเพณีกินขนมพระจันทร์คืนเดือนแปดตั้งแต่นั้นมา จากนั้นประเพณีนี้ก็ถูกส่งต่อจากในรั้วในวังมาถึงประชาชนทั่วไปนอกวังด้วย

 

  • "ไหว้พระจันทร์" = ประเพณีเซ่นไหว้ผลผลิตการเกษตร

ส่วนในมิติทางวัฒนธรรมนั้น ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีจีนได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ "ประเพณีไหว้พระจันทร์" เอาไว้ในบทความวิชาการว่า เป็น "ประเพณีเซ่นสรวง" สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ดูแลการเกษตรประจำปี ซึ่งพิธีนี้จะเกิดขึ้นต่อจาก "วันสารทจีน"   

\"วันไหว้พระจันทร์ 2565\" 10 กันยายน ชวนรู้ \"ขนมไหว้พระจันทร์\" มาจากไหน?

โดยชาวบ้านจะนำผลผลิตจากการเกษตรครั้งแรกของปีนั้นๆ นำมาทำอาหารและขนมเพื่อใช้ในพิธีเซ่นไหว้ รวมถึงนำมาทำอาการกินในเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่ด้วย โดยกำหนดให้ "คืนจงชิว" หรือวันเพ็ญกลางเดือนแปด มาเป็นคืนแห่งการเฉลิมฉลอง เพราะเป็นคืนวันเพ็ญที่ดวงจันทร์แจ่มกระจ่าง งามกว่าวันเพ็ญเดือนอื่นๆ และกลายมาเป็นประเพณีไหว้พระจันทร์ในที่สุด

 

  • "วันไหว้พระจันทร์" เกิดขึ้นช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง

เทศกาลไหว้พระจันทร์นี้ ชาวจีนจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทศกาล "จงชิวเจี๋ย" (Mid Autumn Festival) หมายถึง เทศกาลช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่พระจันทร์เปล่งแสงสวยงามที่สุด เป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นจากประเพณีเก่าแก่ของชาวจีน และถือเป็นเทศกาลใหญ่รองจาก "ตรุษจีน" และ "สารทจีน" ของชาวจีนในแทบทุกท้องถิ่น ปัจจุบันเทศกาลนี้แพร่กระจายไปทั่วโลก

อีกทั้งยังมีความสำคัญในแง่ของการส่งเสริมความผูกพันในครอบครัว เนื่องจากสังคมชาวจีนมักจะอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ เทศกาลนี้จึงเป็นเหมือนการรวมญาติเพื่อเฉลิมฉลองและช่วยกันทำ "ขนมไหว้พระจันทร์" หลังเซ่นไหว้เสร็จ ก็จะนำขนมมาแบ่งกันกินในครอบครัว อีกทั้งมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองวันไหว้พระจันทร์ ด้วยการประดับประดาโคมไฟ เพิ่มสีสันให้ค่ำคืนวันไหว้พระจันทร์สวยงามมากขึ้น

160127708640

 

  • "วันไหว้พระจันทร์" กับความเชื่อขอพร "ความรัก"

นอกจากความสำคัญในแง่ประเพณีทางสังคมแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่มาคู่กันเสมอคงหนีไม่พ้นเรื่อง "ความเชื่อ" ต่อเทพเจ้าจีน โดยชาวจีนเชื่อกันว่ามีเทพเจ้าหลายองค์ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ได้แก่ 

- เทพฉางเอ๋อ : เทพแห่งดวงจันทร์ผู้ทรงคุณธรรมและความดี เน้นขอความเยาว์วัยสวยงามมีเสน่ห์

- เทพเย่ห์เหล่า : รู้จักกันในนาม "เฒ่าจันทรา" เป็นกามเทพของชาวจีน เน้นขอพรในเรื่องความรัก ท่านเป็นผู้ที่คอยดูแลเรื่องความรักของมนุษย์บนโลก หากพบว่าใครมีดวงสมพงศ์เป็นคู่ครองกัน ท่านก็จะนำด้ายแดงไปผูกไว้ที่มือของทั้ง 2 คนเพื่อให้ได้พบกัน

\"วันไหว้พระจันทร์ 2565\" 10 กันยายน ชวนรู้ \"ขนมไหว้พระจันทร์\" มาจากไหน?  เทพเย่ห์เหล่า

- ไท้อิมแชกุง : เทพแห่งดาวนพเคราะห์ประจำดวงจันทร์ขอความคุ้มครองให้ดวงชะตา

- พระจันทรประภาโพธิ์สัตว์ : ผู้คุ้มครองดูแลดวงจันทร์ของทางพุทธมหายาน

 

  • ตำนาน "ฉางเอ๋อ" เหตุผลของการ "ไหว้พระจันทร์"

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า วันไหว้พระจันทร์มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าด้วย หนึ่งในเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพมากก็คือ "ฉางเอ๋อ" ว่ากันว่าการไหว้พระจันทร์เป็นการบูชาและรำลึกถึงคุณงามความดีของเทพฉางเอ๋อ โดยมีตำนานเล่าว่า 

โลกของเราในยุคหนึ่ง มีพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 10 ดวง เดือดร้อนชาวโลกเป็นอันมาก "ราชาโฮ่วอี้" ผู้มีชายาแสนงดงามชื่อ "ฉางเอ๋อ" จึงได้ขึ้นไปบนยอดเขาคุนหลุน แล้วใช้ธนูยิงอาทิตย์ดับไป 9 ดวง ทำให้ได้รับการแซ่ซ้องจากชาวเมือง มีผู้คนมาขอเรียนวิชาธนูมากมาย รวมถึง  "เฝิงเหมิง"  ผู้มีจิตใจชั่วร้ายด้วย

ต่อมาราชาโฮ่วอี้ได้ "ยาอายุวัฒนะ" จากผู้วิเศษท่านหนึ่ง และได้ฝากยานั้นไว้กับพระชายาฉางเอ๋อ ไม่นาน.. เฝิงเหมิงก็รู้เรื่องนี้เข้า จึงฉวยโอกาสที่โฮ่วอี้ไม่อยู่บุกเข้าวังไปชิงยาจากฉางเอ๋อ แต่นางไม่ยอมและกินยาอายุวัฒนะเสียเอง  ผลจากการกินยาวิเศษดังกล่าว ทำให้ร่างของนางล่องลอยไปถึงดวงจันทร์ กลายเป็นเทพีสถิตบนดวงจันทร์

\"วันไหว้พระจันทร์ 2565\" 10 กันยายน ชวนรู้ \"ขนมไหว้พระจันทร์\" มาจากไหน?

พอราชาโฮ่วอี้กลับมาและรู้ข่าวนี้เข้า ก็ลงมือกำจัดเฝิงเหมิงจนตายไป  แต่ก็ไม่สามารถนำฉางเอ๋อกลับมาจากดวงจันทร์ได้ จากนั้นพระองค์ก็ได้แต่เศร้าโศกคิดถึงพระชายา "ฉางเอ๋อ" เสมอมา โดยเฉพาะวันเพ็ญเดือนแปดที่ดวงจันทร์งามกระจ่าง ราชาโฮ่วอี้จะจัดเครื่องเซ่นบูชาพระจันทร์เพื่อรำลึกถึงนางทุกปี

อีกหนึ่งตำนานเล่าต่างออกไปเล็กน้อย คือ เมื่อราชาโฮ่วอี้ได้รับ "ยาอายุวัฒนะ" มาแล้ว ก็กลายเป็นคนชั่วร้าย เบียดเบียนข่มเหงประชาชน ฉางเอ๋อกลัวชาวบ้านจะเดือดร้อนหากโฮ่วอี้เป็นอมตะ จึงชิงยาอายุวัฒนะมาดื่มเสียเอง แล้วลอยไปอยู่บนดวงจันทร์ ผู้คนจึงรำลึกถึงความดีงามของเธอด้วยการ "ไหว้พระจันทร์" กลางเดือนแปดสืบมา 

---------------------------------------

อ้างอิง บทความ “เทศกาลไหว้พระจันทร์ : ความกลมเกลียวของชาติ-ครอบครัว”. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. ถาวร สิกขโกศล., silpa-magเทศกาลไหว้พระจันทร์ซินแสนัตโตะ