เบื้องหลังสีสัน 'ชุมนุม 19 กันยา' พวกเขากำลังจะบอกอะไร?

เบื้องหลังสีสัน 'ชุมนุม 19 กันยา' พวกเขากำลังจะบอกอะไร?

อีกหนึ่งความน่าสนใจของ "ม็อบ 19 กันยา" ที่ผ่านมา คือการแต่งกายของผู้ร่วมชุมนุม ที่มีทั้งสีสัน ความสร้างสรรค์ และเสียดสีการเมืองได้อย่างเจ็บแสบ แต่ยังมีคนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจว่าพวกเขากำลังสื่อสารอะไรออกมา ลองมาไขความหมายที่ซ่อนอยู่ไปพร้อมกัน

อะไรที่เคยเป็นไปไม่ได้ในอดีต  แต่ในปี 2020 กลับเป็นไปได้เสมอ! เมื่อภาพจำของม็อบหรือการชุมนุมทางการเมืองสมัยใหม่ แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมาที่มักจะเห็นภาวะกดดัน ความตึงเครียด และความรุนแรง  แต่ภาพจำของการชุมนุมยุค 2020 ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์  ความสนุกสนาน และเสียงหัวเราะที่ดึงดูดสายตาได้ดีจากทั่วทุกสารทิศ

สัญลักษณ์ป้ายคำ การแต่งกาย และท่าทาง นิยมใช้กันมากขึ้นในการชุมนุมทั่วโลก ยิ่งเพดานการแสดงออกต่ำมากเท่าไหร่ ความสร้างสรรค์ยิ่งพลุ่งพล่านมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าตัว ความน่าสนใจการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 จึงไม่ได้มีแค่ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ และอุดมการณ์อื่นๆ ในการชุมนุมเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘สีสันม็อบ’ เกิดขึ้นอย่างหลากหลายคู่ขนานกันไปด้วย

แต่ถึงอย่างนั้น บางสัญลักษณ์ก็มี ‘ความใหม่’ แบบที่ถ้าไม่ใช่คนวงในก็อาจจะตามไม่ทัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์    ชวนสำรวจความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏใน  "ชุมนุม 19 กันยา" แต่ละสัญลักษณ์จะลึกซึ้ง หรือเจ็บแสบขนาดไหน มาดูกัน!

160088168883

  • 14 ปีพอหรือยัง? เด็กชายหน้าขาว และรถถังจำลอง

ณ ทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้คนจะพบกับรถถังไซส์มินิที่มาพร้อมเด็กชายหน้าขาว และป้ายขนาดใหญ่ เรียกความสนใจจากผู้คนที่เดินทางมาร่วม  "ชุมนุม 19 กันยา"  ได้ไม่น้อย 

“ที่ผมแต่งตัวอย่างนี้ก็เพื่อจะบอกว่าให้มันจบที่รุ่นเราได้หรือยัง รถถัง ทหาร เผด็จการ  ฯลฯ  มันถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว 14  ปีตั้งแต่มีการรัฐประหารมา  ประเทศไทยไม่มีอะไรดีขึ้นเลย”

“ผมไปมาแล้วทุกม็อบ และก็ยังจะไปเรื่อยๆ ถ้าประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนโดนยึดอำนาจ ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ให้มันจบที่รุ่นเราเถอะ”

เมื่อถามถึงไอเดียของการแต่งกาย เขากล่าวว่าที่เห็นอยู่ทั้งรถถังจำลอง ชุดนักเรียนปักชื่อ เขาทำเองทั้งหมด ออกแบบเองทั้งหมด และจ่ายเองทั้งหมด แม้ว่าจะเปิดกล่องรับบริจาคสนับสนุน แต่ไม่ได้เป็นจุดประสงค์หลักของการแต่งกาย จุดประสงค์หลักคือการเดินสายจัดกิจกรรมแสดงโชว์เชิงสัญลักษณ์ให้ทุกคนเห็นมากกว่า

“ต้องจบที่รุ่นเรา หมดเวลาที่ประชาชนถูกกระชากเสรีภาพ” เด็กชายหน้าขาวบอกอย่างนั้น

160088173188

  • คนชุดดำกับแอกที่ยังต้องแบก

ชาย หญิง สองคนแต่งกายด้วยชุดดำล้วน พร้อมกับแอกที่อยู่บนบ่า และเชือกที่พันธนาการรอบตัว เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของการแต่งกายด้วยชุดนี้ พวกเขาตอบว่าทั้งคู่มาจากจังหวัดเลย และมหาสารคาม ซึ่งเดินสายแต่งตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างนี้ไปทุกม็อบ

“แอกที่เห็นก็คือ การกดขี่ทั้งหลายทั้งปวง เราจำลองตัวเองเป็นประเทศไทย เชือกที่เอามาพันตัวก็คือการ ถูกกดขี่บังคับ ความพิเศษคือเชือกนี้เราทำมันตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันนี้เราก็ยังใช้เชือกเดิม ใส่ชุดเดิม เพราะแอกยังไม่ถูกปลด ประเทศของเรามันไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ”

“เรามาช่วยลูกๆ หลานปลดแอก คอนเซ็ปต์ของชุดคือ  "ชุดปลดแอกประเทศไทย" เราเลยมาร่วมกับลูกๆ หลานๆ เพื่อปลดแอก ถ้าแอกถูกปลดเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราถึงจะเลิกใส่ชุดนี้”

160088177332

  • ปล้นอำนาจกลับคืน ชุดดาลีจากซีรีส์เรื่องทรชนคนปล้นโลก

ชุดจัมป์สูทสีแดง หน้ากากขาวหนวดยาว คือหนึ่งในส่วนประกอบของซีรีส์ดังที่ชื่อว่า Money Heist ทรชนคนปล้นโลก และถูกพบเห็นในบรรยากาศของการ  "ชุมนุม 19 กันยา" เช่นเดียวกัน

“เราต่อต้านเผด็จการ สำหรับการสวมใส่ชุดดาลีนี้เราอยากแสดงออกถึงการต่อต้านเผด็จการ เมื่อน้องๆ มีความรู้สึกว่าหาทางออกไม่ได้ พวกเราจะออกมาช่วยกัน” หนึ่งในสมาชิกกล่าว

“แรงบันดาลใจการแต่งตัวมาจากซีรีส์ ซึ่งซีรีส์มันมีความหมายต่อเราในการทวงอำนาจของประชาชนกลับมา พลังคนรุ่นใหม่ยิ่งใหญ่เสมอ   เราต้องเดินต่อไปข้างหน้า จะไม่มีกลับหลัง”

สมาชิกอายุน้อยที่สุดของกลุ่มบอกว่า “ได้เข้าร่วมการชุมนุมในทุกครั้งที่ผ่านมา ครั้งก่อนๆ แต่งตัวปกติ แต่มาครั้งนี้เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ เลยมีการคุยกันในกลุ่มว่าเราต้องมีคอนเซ็ปต์การแต่งตัวได้แล้ว  หลังจากถกกันอยู่สักพักก็มาลงตัวที่ชุดนี้จากเรื่อง ทรชนคนปล้นโลก”

160088182156

  • มีตัวตน ไม่ใช่แค่สีสันสนุกสนาน

อีกหนึ่งความตื่นตาตื่นใจที่พลาดไม่ได้ของ "ชุมนุม 19 กันยา"  ในครั้งนี้ก็คือการเดินขบวน LGBTQ พร้อมธงสายรุ้งผืนใหญ่ ซึ่งหนึ่งในผู้เดินขบวนกล่าวว่า เราไม่ได้ต้องการเป็นแค่สีสันของงาน แต่เรามีตัวตนในสังคม

“อยากจะบอกว่าเราไม่ได้ตั้งใจมาเป็นสันสันม็อบ แต่เราแค่อยากให้ผู้คนได้รู้ว่าเรามีตัวตน การที่แต่งตัวเป็นแดร็กควีน เราไม่ได้ตั้งใจให้คนดูแล้วรู้สึกวีดว๊าย แต่เราต้องการให้โลกรู้ว่าเรามีตัวตนเหมือนกัน”

“ณ ตอนนี้ประเทศไทยยังมองไม่เห็นว่าเรามีตัวตนเท่าที่ควร ยังไม่ให้สิทธิที่เราสมควรจะได้ เราไม่ได้ต้องการสิทธิเหนือเพศอื่นๆ เราแค่ต้องการสิทธิที่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ สิทธิการสมรสยังคงเป็นแค่ของคนรักต่างเพศอยู่ เราเลยออกมาเรียกร้องว่า เราก็อยากแต่งงานเหมือนกัน เห็นตัวตนเราหน่อย”

“การมีประชาธิปไตยที่แท้จริงเมื่อไหร่ เมื่อนั้นมันจะนำสิ่งที่เราต้องการมาได้ง่ายขึ้น เราเชื่ออย่างนั้น”

160088184396

  • บางระจันจะไม่ทน

อีกกลุ่มที่ช่างภาพให้ความสนใจมากไม่แพ้กันก็คือกลุ่มคนใส่ชุดชาวบ้าน  “บางระจัน” ที่มาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2

“เราแต่งตัวเป็นชาวบ้านบางระจันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักสู้ พร้อมสู้เพื่อประชาธิปไตย พร้อมเป็นแรงสนับสนุนนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่”

“นี่เป็นครั้งแรกที่แต่งตัวแฟนซีมาม็อบ พวกผมอยากจะแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ว่า จะไม่ยอมให้น้องๆ ต่อสู้เพียงลำพัง ถ้าในอดีตมีตำนานชาวบ้านบางระจันรวมตัวกันต่อสู้กับศัตรู ต้านศึกไว้ได้ วันนี้ชาวบ้านอย่างพวกเรามารวมตัวกับน้องๆ แล้ว ผมคิดว่าพวกเราก็น่าจะชนะครับ”

ทั้งหมดนี้แม้จะต่างที่มา ต่างไอเดีย แต่สุดท้ายแล้วอุดมการณ์ของการแต่งกายเหล่านี้คือ การเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง การใช้ความสนุกกลบความน่ากลัว นับว่าเป็นวิธีสร้างสรรค์ที่เหมาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่แห่งปี 2020