ไม่ใช่แค่ 'สารสาสน์ราชพฤกษ์' ครูทุกโรงเรียนต้องรู้ 'จิตวิทยาเด็ก'
จากเคส "สารสาสน์ราชพฤกษ์" ที่พบพี่เลี้ยงและครูบางคนทำร้ายร่างกายเด็กอย่างรุนแรง ครูหลายคนไม่มีใบประกอบวิชาชีพ อีกทั้งไม่มีทักษะด้าน "จิตวิทยาเด็ก" ในการดูแลเด็กปฐมวัยให้เหมาะสม ซึ่ง "จิตวิทยาเด็ก" กับครูอนุบาลต้องเป็นสิ่งที่มาคู่กัน
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณี “สารสาสน์ราชพฤกษ์” คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ใบประกอบวิชาชีพครู” โดยเมื่อวานนี้ ทางคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง กองจรรยาบรรณวิชาชีพ คุรุสภา ได้เข้าตรวจสอบในโรงเรียนดังกล่าว จากครูทั้งหมด 411 คน พบครูที่มีใบประกอบวิชาชีพแค่ 98 คนเท่านั้น ส่วนในชั้นเรียนอนุบาลที่เป็นข่าวครูทำร้ายร่างกายเด็กนั้น พบว่าครูทั้ง 4 ราย (ครูพี่เลี้ยงจุ๋ม ครูเปิ้ล ครูนิ และครูมาร์วิน ชาวฟิลิปินส์) ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
นอกจากเรื่อง “ใบประกอบวิชาชีพครู” ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนที่ประกอบวิชาชีพครูแล้ว ในเรื่องของจิตวิญญาณความเป็นครู และการมีทักษะด้าน “จิตวิทยาเด็ก” ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่จะมาเป็น “ครูอนุบาล” ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้การมีใบประกอบวิชาชีพรับรอง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมารู้ทักษะเบื้องต้นที่ “ครูอนุบาล” ต้องมี โดยเฉพาะทักษะด้าน “จิตวิทยาเด็ก” ว่ามีความสำคัญต่อเด็กวปฐมวัยอย่างไร รวมถึงเคล็ดลับสำหรับผู้ปกครองในการเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ได้ครูที่มีประสิทธิภาพจริงๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- จากเคส 'สารสาสน์ราชพฤกษ์' ถึง 5 วิธีเช็คให้รู้เมื่อลูกถูกทำร้าย
- เปิดตัว2ทายาท 'สารสาสน์' ฟื้นอภิบาลคืนความเชื่อมั่น
- เปิด 14 ข้อตกลง 'พิสุทธิ์ ยงค์กมล' ผู้บริหารสารสาสน์ พบบิ๊กศธ.รับผิดชอบทุกกรณี
- ทักษะด้าน “จิตวิทยาเด็ก” ครูอนุบาลทุกคนต้องมี!
หากพูดในภาพรวมเกี่ยวกับทักษะวิชาชีพของผู้ที่จะมาเป็น “ครูอนุบาล” นั้น แน่นอนว่านอกจากต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูแล้ว ก็จะต้องมีทักษะด้านต่างๆ ที่เหมาะสมเพียบพร้อม รวมถึงมีบุคลิกภาพที่เหมาะกับการทำหน้าที่ครู ประกอบไปด้วย
- เป็นคนรักเด็ก ใจเย็น ใจดี : เมื่อเด็กเล็กหลายคนมารวมตัวกัน แน่นอนว่าต้องเกิดความวุ่นวาย บางครั้งเด็กอาจจะเล่นซน พูดไม่ฟัง หรือร้องไห้โยเย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นั้นหากคนเป็นครูไม่มีใจรักเด็ก ก็คงจะทำให้เกิดอาการโมโหจนทำร้ายเด็กได้
- มีจิตวิญญาณของความเป็นครู : คนที่ขึ้นชื่อว่าครูจะต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ทำหน้าที่สั่งสอนลูกศิษย์โดยปราศจากอคติใดๆ ชี้นำไปในทางที่ถูกที่ควร และต้องสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ โดยไม่ไปลงที่เด็กๆ
- รู้จักจิตวิทยาเด็ก : การสอนเด็กเล็กนั้น ครูผู้สอนในระดับชั้นอนุบาลจะต้องมีทักษะด้าน “จิตวิทยาเด็ก” ทุกคน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดและครูต้องเรียนทักษะด้านนี้มาอย่างชำนาญ เพื่อให้สามารถสอนเด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่พัฒนาการที่ดีของเด็กทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ
- ทักษะ “จิตวิทยาเด็ก” ที่ครูอนุบาลต้องรู้มีอะไรบ้าง?
ฉันทิดา สนิทนราทร เวชมงคลกร นักจิตวิทยาพัฒนาการและนักเล่นบำบัด เคยได้อธิบายเกี่ยวกับ “จิตวิทยาเด็ก” ไว้ในบทความวิชาการชิ้นหนึ่งว่า ตามแนวคิดของ อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) นักจิตวิทยาผู้คิดค้นทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็ก พบว่าเด็กตามช่วงวัยต่างๆ นั้นมีการพัฒนาบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน หากผู้เลี้ยงดูมีความเข้าใจในพัฒนาการบุคลิกภาพของเด็กได้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสม สุขภาพดี และมีความสุข
โดยเด็กเล็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลนั้น จะมีช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 3-5 ขวบ ซึ่งแต่ละช่วงขวบปีพวกเขาก็จะต้องได้รับการดูแลตามหลักจิตวิทยาที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- เด็กเล็กวัย 2-3 ปี วัยแห่งความเป็นอิสระ และความเชื่อมั่นในตนเอง (Sense of Autonomy VS. Sense of Doubt and Shame)
เด็กจะมีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น สามารถควบคุมเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น และควบคุมการขับถ่ายของตนได้ดีขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีอิสระที่จะทำในสิ่งที่ต้องการได้ ซึ่งหากเด็กวัยนี้ได้รับอิสระในการสำรวจสิ่งแวดล้อม มีอิสระในการเลือก คิด ตัดสินใจ เช่น การเล่นอย่างอิสระ การฝึกทดลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ทำให้เด็กมีความมั่นใจในความสามารถของตนเอง รู้สึกเป็นตัวของตัวเอง สามารถควบคุมตนเองได้ รู้สึกภาคภูมิใจตนเอง
เมื่อเด็กอยู่ที่โรงเรียน ผู้ดูแลหรือครูต้องสนับสนุนและให้อิสระแก่เด็กในการทดลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ภายใต้การดูแลของครูด้วยความรักความเอาใจใส่ อย่าบีบบังคับหรือจู้จี้กับเด็กมากเกินไป หากเด็กไม่ได้รับการสนับสนุนความเป็นอิสระนี้ หรือถูกบังคับควบคุมอย่างเข้มงวด เด็กก็จะรู้สึกละอาย คับข้องใจ จนอาจมีพฤติกรรมถดถอย อับอาย ไม่แน่ใจ และกลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตนเองในที่สุด
- เด็กเล็กวัย 3-5 ปี วัยแห่งการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Sense of Initiative VS. Sense of Guilt)
เด็กในวัยนี้จะพยายามแสดงความสามารถใหม่ๆ ออกมา หากเด็กได้รับการส่งเสริมให้มีอิสระและความมั่นใจ ก็จะช่วยพัฒนาด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฝึกให้มีความคิดริเริ่ม เป็นผู้นำในการตัดสินใจต่างๆ แม้จะพบกับปัญหาหรือความล้มเหลว เด็กก็จะตั้งต้นใหม่ได้เร็ว เพราะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะแก้ไขปัญหา
เมื่อเด็กอยู่ที่โรงเรียน ผู้ดูแลหรือครูต้องสนับสนุนให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น แต่งตัวเอง ติดกระดุมเสื้อเอง ส่งเสริมให้เด็กฝึกประดิษฐ์ ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ แต่หากเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ หรือถูกตำหนิ บังคับ ควบคุม เด็กก็จะเกิดความรู้สึกผิด ไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง เพราะกลัวทำผิดซ้ำอีก ทำให้เด็กขาดความเป็นผู้นำ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ขาดความสามารถใหม่ๆ เป็นต้น
- เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ เลือก “ครูดี” ให้ลูกยังไงดี?
หมอแพม - แพทย์หญิงปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ และเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก เจ้าของเพจเฟซบุ๊ค “หมอแพมชวนอ่าน” มีคำแนะนำให้พ่อแม่ในการเลือกโรงเรียนและเลือกครูให้ลูก ซึ่งอ้างอิงตามหลัก “จิตวิทยาเด็ก” โดยระบุว่า
เด็กในช่วงปฐมวัยเป็นเวลาแห่งการรับรู้ตัวตนของเด็ก โดยตั้งแต่ 0-1 ปีแรก เด็กจะสร้างความไว้วางใจกับโลกภายนอก (thrust or mistrust) , ถัดมาช่วง 1-3 ปี เด็กจะเริ่มสร้างสายสัมพันธ์กับแม่ ครอบครัว และกับโลกภายนอก (attachment) , ส่วนช่วง 3 ปีขึ้นไป เด็กจะสร้างตัวตนของตัวเอง (self) ซึ่งเป็นวัยที่เด็กๆ ส่วนใหญ่เข้าโรงเรียนอนุบาล
เมื่อถึงวัยที่ลูกเข้าเรียนอนุบาล และพ่อแม่ตัดสินใจให้ลูกไปโรงเรียนแล้ว นั่นคือการยอมรับว่า “ครู” จะเข้ามามีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของลูกเราด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกของครู คำพูดของครู คำชม คำติ คำเปรียบเทียบ ทุกอย่างที่ครูแสดงออกจะส่งผลต่อบุคลิกภาพของลูกแน่นอน ซึ่งเกณฑ์ในการเลือกโรงเรียนแห่งแรกให้ลูกปฐมวัยตามแนวคิดของหมอแพม ได้แก่
1. พ่อแม่อย่าเลือกโรงเรียนเพียงแค่เหตุผลว่า โรงเรียนที่ดีที่สุด ดังที่สุด มีสถิติของนักเรียนที่สอบเข้า ป.1 ได้ดีที่สุด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบ แต่ “หัวใจหลัก” ที่พ่อแม่ควรเลือกอย่างแรกคือ “เลือกครูที่ดีที่สุดให้แก่ลูก” เพราะสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น สิ่งที่สำคัญมากกว่าวิชาความรู้ คือ “แบบอย่างที่ดี”
2. ไม่ได้ต้องการครูอนุบาลที่จบวุฒิการศึกษาสูงๆ ไม่ได้ต้องการ native speaker ฯลฯ แต่อยากได้ครูที่มี “ความเป็นครู” สูง คือ มีความเมตตา เข้าใจในความเป็นเด็ก เคารพในตัวตนและบุคลิกภาพที่แตกต่างของเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถหาได้เพียง search google แต่พ่อแม่ต้องไปดู ไปสัมผัสให้เห็นกับตา เป็นสิ่งที่ “ไม่ทำไม่ได้”
3. “ครูอนุบาล” ที่ดีนั้น ไม่ใช่ครูที่สอนตามหลักสูตรได้อย่างดีเยี่ยม แต่เป็น “บุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดี” ต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น แบบอย่างของความดี, แบบอย่างของความอ่อนโยน, แบบอย่างของวินัย, แบบอย่างของความมีน้ำใจ, แบบอย่างของการเป็นนักแก้ปัญหา ฯลฯ
4. พ่อแม่ต้องอย่าลืมว่า สำหรับเด็กเล็กแล้ว พวกเขาไม่ได้ทำตาม “คำสอน” แต่พวกเขาทำตาม “สิ่งที่ครูเป็น” สิ่งเหล่านี้จะฝังเข้าไปในใจของเด็ก และมันจะอยู่ยืนยาวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
-------------------------
อ้างอิง :