ทำไม 'หมอ' จึงถูก 'คนไข้' ฟ้อง
ไขเหตุผล ทำไมปัจจุบัน "หมอ" บุคคลที่มักได้รับความเคารพ ถึงถูกฟ้องร้องจาก "คนไข้"? และเพราะเหตุใดหมอในโรงพยาบาลเอกชนจึงถูกฟ้องร้องมากกว่าหมอที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ?
จากอดีตที่หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นเสมือนหนึ่งพระเจ้า แต่มาในปัจจุบันนี้กลับตกเป็นจำเลยในศาลครั้งแล้วครั้งเล่า หมอหลายคนขวัญเสียลาออกไปทำอาชีพอื่น หรือหากไม่ลาออกก็อยู่ด้วยความกดดัน ขาดความมั่นใจในการรักษาคนไข้ ในทำนองกลับกันคนไข้และญาติก็หวาดระแวง ไม่มั่นใจในการรักษาของหมอ
จึงเกิดปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น ฤๅว่าเป็นเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป อุดมคติเป็นสิ่งที่กินไม่ได้ เงินตราคือพระเจ้าองค์ใหม่ การแพทย์ส่วนหนึ่งกลายเป็นธุรกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้เปลี่ยนไป มีคดีความฟ้องร้อง ร้องเรียน ฯลฯ เกิดขึ้นมากมาย แม้ว่าภาพของหมอชาวบ้านที่อยู่ในที่ทุรกันดาร ทุ่มเทอุทิศตนเพื่ออุดมการณ์จะยังมีอยู่ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คน
อันที่จริงแล้วคนไข้ไม่ได้อยากฟ้องหมอ แต่การที่คนไข้ตัดสินใจฟ้องร้องมักเป็นผลจากการถูกกระทบกระทั่ง ถูกละเลยเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องหรือถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ครั้งแล้วครั้งเล่า และสะสมจนถึงจุดระเบิด จนต้องฟ้องร้องหมอเพราะหมอเป็นตัวแทนของระบบการแพทย์ทั้งหมด มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจในชีวิตของคนไข้
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เคยกล่าวไว้ว่า “ผมค่อนข้างเห็นใจแพทย์ พอเกิดปัญหาอะไรที่ทำให้ญาติคนไข้ตายหรือพิการ เขาจะพุ่งเป้ามาที่แพทย์ ทั้งที่บางทีหารถพยาบาลนำส่งคนไข้ไม่ได้ มันอยู่ที่ระบบ emergency เป็นคนจัดรถ ออกซิเจนในห้องผ่าตัดหมด หรือกิริยามารยาทพนักงานไม่ดี นี่เป็นปัญหาที่ระบบไม่ใช่ที่ตัวแพทย์”
“...หากดูข้อมูลการฟ้องร้องแพทย์ จะพบว่าแม้หมอในโรงพยาบาลชุมชนจะตรวจคนไข้มาก แต่กลับถูกฟ้องร้องน้อย เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ และไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ใช้อำนาจเหนือกว่า ต่างจากโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางมาก ทำให้เห็นความจำเป็นในการสื่อสารกับคนไข้น้อย”
“เหตุกระทบกระทั่งกันในโรงพยาบาลรัฐอาจมากกว่าโรงพยาบาลเอกชนก็จริง แต่มีการฟ้องร้องน้อยกว่า ผมคิดว่าคนที่ไปโรงพยาบาลรัฐเขาอาจทำใจไปแล้วครึ่งหนึ่งว่าจะต้องเอาความเป็นมนุษย์ไปแลกกับสุขภาพ เจออะไรบ้างก็ทนๆ เอา ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน คนไข้จ่ายค่าบริการแพง ย่อมต้องคาดหวังมากว่าจะได้รับสิ่งที่น่าพอใจ จึงมีการฟ้องร้องมากกว่า หมอเองก็ต้องป้องกันตัวมาก ผลลัพธ์คือหมอกลัวถูกฟ้องร้อง ไม่อยากรักษา หรือส่งตรวจครอบจักรวาลไปเลย ซึ่งเป็นความสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก”
“ทีนี้พอไม่ขอโทษ ยิ่งมีท่าทีแข็งกร้าวอีก ชาวบ้านยิ่งไม่พอใจ พูดไปพูดมาก็ท้าทายกัน มักมีคำพูดนี้หลุดออกมา อยากได้ก็ให้ไปฟ้องเอา มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ พอเผชิญหน้ากับความขัดแย้งแล้วสะกดอารมณ์ตนเองไม่ได้ กลายเป็นท้าทายยั่วยุ บางทีหมอไม่ยอมมาพบเจรจาด้วยซ้ำ คือส่งตัวแทนมาอยู่เรื่อย หรือผู้บริหารระดับสูงไม่ยอมมารับเรื่องด้วยตนเอง ความขัดแย้งก็ยิ่งรุนแรงขึ้น”
อันที่จริงแล้วเมื่อเกิดความเสียหายทางการแพทย์ขึ้น ผู้เสียหายอาจสูญเสียชีวิตหรือพิการ คำพูดที่ญาติผู้เสียชีวิตหรือเจ้าตัวอยากได้ยินจากหมอคือคำขอโทษหรือการแสดงความเสียใจ คำพูดประโยคเดียวสั้นๆ นี้มีความหมายสูงยิ่งในสถานการณ์แห่งความสูญเสีย ญาติหลายรายบอกว่าประโยคนี้ทำให้สถานการณ์ทุเลาเบาบางลงได้อย่างนึกไม่ถึง แต่คำพูดประโยคนี้มักไม่หลุดรอดออกมาจากปากหมอ ทำให้ฝ่ายผู้เสียหายคับแค้นใจและนำไปสู่การฟ้องร้อง ทั้งที่ไม่อยากทำในตอนแรก
นพ.วิฑูรย์ ตรีสุยทรรัตน์ วิเคราะห์สาเหตุหลักที่นำไปสู่การฟ้องร้องหมอน่าจะมาจากเหตุหลายประการ คือ
1.จากผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ทำให้ช็อกความรู้สึก เช่น แพ้ยาอย่างรุนแรงหรือมาคลอดลูกแต่ต้องเสียชีวิตกะทันหัน
2.มีเหตุจูงใจให้เชื่อว่าเป็นความบกพร่องของหมออย่างแน่นอน
3.มีความคาดหวังสูง เพราะเป็นความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ ทั้งไม่เป็นไปตามที่สัญญากันไว้ และการได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอ การสื่อสารไม่ชัดเจน ทั้งจากคำพูดและท่าทีของหมอ
4.ปัจจุบันเริ่มมีการฟ้องหมอทางอาญา มีการกล่าวว่าการฟ้องทางอาญาทำให้การบังคับทางแพ่งง่ายขึ้น
5.กระแสการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งมี พ.ร.บ.หลักประกันคุณภาพ พ.ศ.2545 มาตรา 41 ให้มีเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียหาย เมื่อประชาชนตระหนักในสิทธิของตนมากขึ้น และการฟ้องฟ้องร้องหมอเป็นเรื่องที่สังคมสนใจ ขายข่าวได้
“ข้อที่ว่าหมออาจมีปัญหาการสื่อสารกับผู้ป่วย อาจมีส่วนบ้าง แต่ไม่ทั้งหมด หมอเรียนหนัก แต่การเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ การรับมือทางความเครียดน้อยก็เป็นไปได้ ผมเห็นด้วยว่าการดำรงชีวิตอยู่ นอกจากความรู้ความสามารถในวิชาชีพ ยังต้องมีความรู้ด้านมนุษยสัมพันธ์และศาสตร์อื่นๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้ปิดตัวเองมากไป แต่วิชาชีพแพทย์เรียนหนักและการแข่งขันสูง ต้องเรียนแพทย์หนีตาย จนแทบไม่ได้สนใจอย่างอื่น แม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน ต้องรีบกินให้พออิ่ม แม้เมื่อทำงานแล้ว ผมก็ไม่ค่อยเห็นหมอมีเวลาไปกินข้าวนอกบ้านสักเท่าไร”
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อหมอไปอยู่เอกชนมากขึ้นก็เป็นวัตถุนิยมมากขึ้น เมื่อเป็นวัตถุนิยม ความสัมพันธ์ก็กลายเป็นเชิงธุรกิจ เมื่อเขาจ่ายสูง เขาก็คาดหวังสูง ทำให้การฟ้องร้องในภาคเอกชนมีสูง ในขณะที่โรงพยาบาลชุมชนทำงานหนัก แต่จำนวนหมอในโรงพยาบาลชุมชนที่ถูกฟ้องร้องมีน้อยมาก”
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างผู้ป่วยกับหมอที่เป็นไปอย่างอบอุ่นคุ้นเคย กำลังกลายเป็นปัญหาวิกฤติที่สั่นคลอนสังคมในปัจจุบัน ทั้งหมอและผู้ป่วยต่างก็ตกอยู่ในความสัมพันธ์อันเจ็บป่วยด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่เฉพาะผู้ป่วยหรือญาติเท่านั้นที่ประสบกับความทุกข์ หมอเองก็ประสบกับความทุกข์เช่นกัน
ถ้าหมอเข้าใจผู้ป่วยพร้อมที่จะขอโทษเมื่อมีการรักษาที่ผิดพลาด ใช้มธุรสวาจากับผู้ป่วยหรือญาติ ผมก็เชื่อว่าผู้ป่วยหรือญาติก็คงไม่ใจไม้ไส้ระกำนำคดีไปสู่ศาลกันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นในปัจจุบันนี้ ในทำนองกลับกันผู้ป่วยหรือญาติเองก็ต้องเข้าใจและเห็นใจในความเป็นมนุษย์ของหมอ ที่ต้องตรากตรำงานหนักที่ย่อมมีการผิดพลาดหรือมีอาการหงุดหงิดอารมณ์เสียได้บ้าง เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจกัน เราก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเช่นในอดีตที่ผ่านมา
หมายเหตุ : ขอขอบคุณข้อมูลจาก “สงสัย...ตายเพราะหมอ?” ของคุณอรสม สุทธิสาคร