เที่ยว ‘เกาะกลาง’ สัมผัสวิถีชาวเล เสน่ห์เมืองเขาขนาบน้ำ

เที่ยว ‘เกาะกลาง’ สัมผัสวิถีชาวเล เสน่ห์เมืองเขาขนาบน้ำ

นั่ง "เรือหัวโทง" เชื่อมโยงวิถีถิ่นชาวเล ยลโฉมความงามเขาขนาบน้ำ แล้วขึ้นฝั่งนั่งรถสามล้อไปลัดเลาะรอบรั้ว “เกาะกลาง” ช้อปผ้าปาเต๊ะเอกลัษณ์ปักษ์ใต้ แวะปล่อยปูดำคืนสู่ธรรมธรรมชาติ ปิดท้ายด้วยอาหารทะเลสดๆ ที่ร้านมะหญิง

หากมาเที่ยวกระบี่ แล้วอยากลองเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่นอกเหนือไปจากสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนเมืองกระบี่อย่างทะเลแหวก สระมรกต หมู่เกาะปอดะ เกาะลันตา อ่าวนาง หาดไร่เลย์ ฯลฯ ขอแนะนำการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตชาวเล ศิลปะ และอาหารปักษ์ใต้อย่างที่ 'แหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่บ้านเกาะกลาง' ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

ตั้งต้นจากลานปูดำ สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ของเมืองกระบี่ ซึ่งเป็นจุดเทียบท่าเรือ หรือที่เรียกกันว่า ท่าเรือขนาบน้ำ และยังเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นเขาขนาบน้ำ ภูเขาสองลูกที่ตั้งโดดเด่นริมแม่น้ำกระบี่ แลนด์มาร์กของที่นี่ด้วยเช่นกัน

ก่อนที่เราจะไปยังชุมชนท่องเที่ยวเกาะกลางนั้น ก็ต้องไม่พลาดแวะชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่ธรรมชาติสรรสร้างที่เขาขนาบน้ำกันแบบใกล้ๆ สักหน่อย ก่อนจะนั่งเรือต่ออีกราว 10 นาที ไปเทียบท่าที่ร้านมะหญิง ร้านอาหารปักษ์ใต้แท้ๆ ของเกาะกลาง เพื่อเริ่มทริปท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างเต็มตัว โดยมี อนิฤทธิ์ มีล่าม หรือบังบ่าว ประธานชุมชนท่องเที่ยวเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ ต้อนรับอย่างเป็นมิตร

160212754730

เขาขนาบน้ำ

บักบ่าวบอกว่า การท่องเที่ยววิถีชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวกับชุมชนได้มีประสบการณ์ร่วมกัน ชาวบ้านเองก็ได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตดั้งเดิม และเม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็ได้สัมผัสกับวิถีชีวิต ความเป็นพื้นถิ่นแท้ๆ จากคนในชุมชน

เช่นกันกับชุมชนเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เป็นการรวมตัวกันของ 3 หมู่บ้าน ในตำบลคลองประสงค์ คือ บ้านกลาง บ้านคลองประสงค์ และบ้านคลองกำ โดยตั้งต้นเป็นชุมชนท่องเที่ยวจากบ้านเกาะกลาง จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนท่องเที่ยวเกาะกลางในปัจจุบัน

“เราเน้นการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตของชุมชน นำเสนอความเป็นชุมชนชาวประมงผสมผสานกับระบบการเกษตร ทฤษฎีใหม่และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีผลผลิตประจำถิ่นคือ ข้าวสังข์หยด และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และหอย รวมทั้งนำเสนอผลงานศิลปะฝีมือแม่บ้าน เช่น การทำผ้าปาเต๊ะหรือบาติก ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ซึ่งเราพยายามดึงเรื่องของวัฒนธรรมวิถีถิ่น การเป็นอยู่ อาหารการกิน และบ้านเรือน” บังบ่าวเล่าถึงการท่องเที่ยวของชุมชนเกาะกลางให้ฟังคร่าวๆ

1602127549100

นั่งเรือหัวโทง มุ่งหน้าสู่ 'ชุมชนท่องเที่ยวกาะกลาง' ตำบลคลองประสงค์

อย่าง ‘เรือหัวโทง’ ซึ่งเป็นเรือประมงชายฝั่ง แต่ปัจจุบันใช้เป็นเรือนำเที่ยวตามหมู่เกาะต่างๆ ถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ มีถิ่นกำเนิดการต่อเรือหัวโทงอยู่ที่บ้านน้ำร้อน ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม, บ้านปกาสัย ตำบลปกาสัย และตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

โดยเอกลักษณ์ของ ‘เรือหัวโทง’ ที่ทำให้แตกต่างจากเรือท้องถิ่นอื่นคือ ส่วนหัวเรือ ชาวบ้านเรียกว่า ‘โทง’ มีลักษณะเชิดสูงขึ้นจากตัวเรือประมาณ 2-3 เมตร ซึ่งความโทงของหัวเรือถือเป็นข้อดีของเรือ เพราะทำให้ฝ่าคลื่นลมและทรงตัวได้ดีในฝั่งทะเลอันดามันที่มีคลื่นสูงและลมแรง

บังบ่าวเล่าต่อว่า เดิมทีเป็นที่นี่เป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก แต่เมื่อปี 2532 ที่การท่องเที่ยวกระบี่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนำเอาเรือหัวโทงเป็นตัวเบิกในการทำการท่องเที่ยว โดยใช้เป็นเรือรับส่งนักท่องเที่ยวในยุคนั้น ต่อมาเน้นการท่องเที่ยวด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมเข้ามา จึงเริ่มมีการฟื้นฟูในปี 2540-2542 นำเอาวิถีชุมชนเป็นจุดขายของการท่องเที่ยว และการพัฒนาจนมีการตั้งกลุ่ม ขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลคลองประสงค์ขึ้น โดยใช้แนวคิด The Global Sustainable Tourism Council หรือ GSTC มาตรฐานการเดินทางและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รับผิดชอบและรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

160212754556

นั่งสามล้อลัดเลาะรอบเกาะกลาง

เรานั่งรถสามล้อไปกับไกด์ท้องถิ่นลัดเลาะตามถนนของชุมชนเกาะกลาง ผ่านบ้านเรือนมากมาย ผ่านทุ่งนาข้าวสังค์หยด นั่งชิลรับลมเย็นๆ กันไปเรื่อยๆ และไปจอดที่จุดแรกคือจุดปล่อยปูดำคืนสู่ระบบนิเวศชายเลน ซึ่งเป็นกิจกรรม CSR ของที่นี่ ก่อนจะนั่งต่อไปยังบรม-บรา on tour เพื่อเวิร์คชอปทำผ้าปาเต๊ะ และผ่านร้านโรตีหนำนา (ขนำนา) แต่ด้วยเวลาอันจำกัดจึงไม่ได้แวะ ใครมีโอกาสมาที่นี้ต้องแวะให้ได้เพราะคนในพื้นที่เองยังแนะนำว่าเด็ด

ท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนเกาะกลาง นำเสนอวิถีชีวิตชาวมุสลิมของชาวเกาะกลางทั้ง 3 หมู่บ้าน ต้อนรับแขกผู้มาเยือนประหนึ่งมิตร ซึ่งทุกคนในชุมชนพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวเสมอ โดยมีกิจกรรมมากมายที่ชุมชนคัดสรรแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ การนั่งรถสามล้อเที่ยวชมวิถีถิ่นรอบเกาะกลาง แวะกินโรตีเจ้าเด็ดประจำถิ่น...ร้านหนำนา (ขนำนา) ลองเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะผืนใหญ่ร่วมกับชาวบ้าน และซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชน หรือจะเวิร์คชอปทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติออกแบบลวดลายได้ตามอำเภอใจ เพราะนั่นจะเป็นผลงานศิลปะชิ้นเดียวในโลกของเรา

160212760252

จับพู่กันลงสีผ้าปาเต๊ะผืนใหญ่

160212754593

กิจกรรม CSR ปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติ

อีกส่วนคือกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องราว ‘เรือหัวโทง เชื่อมโยงวิถีถิ่น’ พร้อมกับลงมือเพ้นท์เรือหัวโทงจำลอง เนื่องจากว่าในพื้นที่ตำบลคลองประสงค์เป็นต้นกำเนิดการผลิตเรือจำลองอยู่แล้ว หลังจากที่การท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ได้นำเอาเรือหัวโทงใช้นำเที่ยว ชุมชนแห่งนี้จึงมีไอเดียย่อส่วนเรือหัวโทงขนาดใหญ่ เป็นโมเดลเรือจำลองขนาดกะทัดรัด อัตลักษณ์แห่งเกาะกลาง จากนั้นล่องเรือชมความงามของถ้ำขนาบน้ำ หรือจะเข้าป่าไปยังพื้นที่ป่าอนุรักษ์สัมผัสกับธรรมชาติของป่าโกงกาง ที่อาศัยของสัตว์น้ำนานาพันธุ์ก็น่าสนใจ

การท่องเที่ยววิถีชุมชนของจังหวัดกระบี่ เกิดจากการผสมผสานศิลปะและวิถีชีวิตอย่างกลมกลืน พัฒนาอาชีพสู่การท่องเที่ยว เริ่มต้นชุมชนมีอาชีพทำประมงน้ำตื้นและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงด้านการค้าขายมานานแล้ว เพราะเดิมทีบริเวณปากแม่น้ำกระบี่เป็นที่จอดเรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมานานนับ 100 ปี

“คนในพื้นที่เคยชินกับการค้าขาย เป็นอาชีพหลักรองจากการทำประมงและการเกษตร แต่ปัจจุบันรูปแบบของการซื้อขายเปลี่ยนไปจากที่เราเคยซื้อขายสินค้ามากลายเป็นซื้อขายการบริการ จึงไม่แปลกที่คนที่นี่จะปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว และเริ่มจากสินค้าใกล้ตัวที่พวกเราเชี่ยวชาญที่สุด คือ กุ้ง หอย ปู ปลา”

160212760350

มื้อค่ำที่ร้านมะหญิง

ปิดท้ายที่อาหารทะเลสดๆ จากกระชังที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้สำหรับเป็นอาหารมื้อพิเศษให้กับนักท่องเที่ยว...อย่างเมนูหอยต้มตะไคร้ ปูผัดผงกระหรี่ กุ้งซอสมะขาม แกงเหลือง และปลาทอดน้ำปลา อร่อยถึงพริกถึงขิงสไตล์ปักษ์ใต้

ดูรายละเอียดการท่องเที่ยวชุมชนเกาะกลางเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน เกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ กระบี่ หรือโทร. 085 933 3971 และติดต่อเรือหัวโทงเพื่อนั่งไปยังชุมชนได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ร้านอาหารบ้านมะหญิง-กระชังปลาเกาะกลางกระบี่ หรือโทร. 081 271 6102