ชุ่มเย็นที่ 'ห้วยยาง'
บุกถึงแหล่งต้นน้ำของผืนป่าตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ชมความมหัศจรรย์ของ "อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง" ป่าสมบูรณ์แห่งประจวบคีรีขันธ์
เวลาที่กลับจากภาคใต้จะเข้าประจวบฯ มองทางซ้ายมือจะเห็นทิวเขาทะมึนใหญ่เป็นแนวยาว นี่คือส่วนของเทือกเขาตะนาวศรี ถ้าลองดูกูเกิลแมพจะเห็นว่า แท้จริงตรงนี้เป็นป่าผืนใหญ่ที่เชื่อมกับทางฝั่งเมียนมา ที่เขาเรียกว่าอุทยานแห่งชาติเลนยาแล้วก็เป็นเขตแดนไทยโดยเอาสันเขามาแบ่ง ที่เรียกว่าสันปันน้ำ คือน้ำไหลลงทางไหน ก็เป็นของประเทศนั้นไป ป่าส่วนที่ต่อเชื่อมกันแต่มาอยู่ทางฝั่งบ้านเราจึงเป็นเพียงป่าพื้นที่แคบๆ เรียวยาวไล่ลงไปตามตะเข็บชายแดน แค่พอลงสู่ชายเขาทางตะวันออก เพียงสัมผัสกับที่ราบ ก็เป็นที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว แต่ที่ต้องทึ่งก็คือ แม้ขนาดว่าพื้นที่ป่ามีเพียงน้อยนิด แต่ก็เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายที่ไหลลงพื้นราบ หล่อเลี้ยงเกษตรกรมากมาย ก่อนจะไหลลงทะเลด้วยระยะทางไม่มาก นี่คือความมหัศจรรย์ของป่าสมบูรณ์ของ อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง
ภูเขาในพื้นที่ประจวบฯไม่ว่าจะเป็นป่าหรือทะเลจะเป็นหินแกรนิตแบบเดียวกับทางตะวันออกหรือทางใต้ ซึ่งหินแกรนิตนี้เป็นหินที่มาจากใต้พื้นโลกในความลึก ที่ถูกความร้อนทำจนเหลวเป็นแมกมา แล้วหาทางปะทุขึ้นมาบนพื้นโลกในรูปของลาวา ในระหว่างที่หินเหล่านี้ดันปะทุออกมาถ้าตรงไหนมีพวกอัญมณีอยู่แล้ว ก็จะถูกพาออกมาด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าตรงที่ลาวาไหลออกมามันจะต้องเป็นทรงภูเขาไฟอย่างเดียว มันอาจจะไหลออกมาแล้วก็เป็นหินที่ลาดไหลไปเป็นเรียบๆ ธรรมดา วันดีคืนดีแผ่นเปลือกโลกก็เบียดดันกันจนหินเหล่านี้ถูกยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขา แล้วเกิดการแตกหักและผุกร่อน อย่างที่เราเห็นเป็นแบบพระธาตุอินทร์แขวนในพม่า พระบาทพลวงที่จันทบุรี หินใบเรือที่สิมิลัน หินกูบที่จันทบุรี หินเทินที่ประจวบฯ ล้วนแล้วแต่มาจากเหตุผลแบบนี้ทั้งสิ้น
แม้แต่บน “ยอดเขาหลวง” ของ “อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง” แห่งนี้ ก็ล้วนแล้วแต่แบบนี้ทั้งสิ้น ซึ่งยอดเขาหลวงนี้ เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง คือสูง 1,250 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง สภาพป่าที่นี่เป็นป่าดงดิบชื้นที่สมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธารอย่างดี ซึ่งบนยอดเขาหลวงนี้เป็นเส้นทางเดินป่าขึ้นไปพักแรมบนยอดเขาค่อนมาทางฝั่งบ้านเรา ขึ้นไปด้านบนก็จะเป็นสันเขาที่แบ่งเขตแดนกันสองประเทศ ตะวันตกของเขา ตะวันออกของเรา ป่าด้านบนเป็นแบบป่าห่มผ้า คือป่าเมฆที่มีพืชเกาะกุมผิวต้นจนดูเหมือนห่มผ้า มีเมฆหมอกปกคลุมอยู่เกือบตลอดเวลา ใช้เวลาเดินเท้า แบบขึ้นเขาตลอดทั้งวัน ออกเดินจากอุทยานฯราว 8 โมงเช้า ขึ้นไปถึงยอดราว 4 โมงเย็น ซึ่งจริงๆ จะพักแรมระหว่างทางก็ได้ จะมีบริเวณที่เป็นลำห้วยลำธารให้พักแรมได้อยู่
ส่วนบนยอดเขาหลวงที่เป็นจุดพักแรม จะมีลำธารน้ำซับเล็กๆ พอได้กินดื่มอย่างสำราญใจ ขึ้นไปก็ดูพระอาทิตย์ขึ้นจากทะเล กลางวันก็ดูนกเงือกบินรวมฝูง เช้าๆ เสียงชะนี เสียงนกป่า บรรยากาศนี่ธรรมชาติสุดๆ ละครับ ใครสนใจที่จะเดินเที่ยวปาไปยอดเขาหลวง ก็ติดต่อสอบถามที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยางได้เลยครับ
นี่ว่ามาค่อนเรื่องยังไม่ได้เล่นน้ำสักหยด จะต่อว่าผมแบบนี้ละสิ มาเลยครับ ทีนี้แหละจะเข้าสู่เรื่องน้ำตกแบบเต็มๆ อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าเขาเอาสันเขาแบ่งแดน แล้วป่าทางฝั่งเราก็แคบๆ สั้นๆ เรียวยาวลงไป ส่วนทางฝั่งเมียนมานั้นเป็นผืนใหญ่ ไปยืนดูป่าทางฝั่งด้านนั้นจะได้ยินเสียงน้ำไหลดังซู่ซ่าๆ แต่ทางฝั่งเราเป็นน้ำซับเล็กๆ น้ำซับเหล่านี้แหละครับที่ธารเล็กธารน้อยไหลรวมกันออกมาจึงเป็นน้ำตกต่างๆ ซึ่งฟอร์มของน้ำตกทางด้านนี้เป็นแบบเดียวกันหมด คือน้ำตกจะอยู่เชิงเขา ใกล้ที่ราบ น้ำตกเป็นน้ำตกผาหินแกรนิต หินกลมๆ เกลี้ยงๆ ก้อนเล็กก้อนใหญ่มีผิวเกลี้ยงหมด หินในลำธารก็จะเป็นหินก้อนมน พื้นลำธารเป็นทราย นั่นหมายความว่าน้ำจะใส ความยาวของลำห้วยจากที่ตกลงมาจนไหลออกทะเลเป็นระยะทางสั้นๆ น้ำมีทั้งปี แต่จะน้อยในหน้าแล้งและปริมาณมากในฤดูฝน ป่ารายรอบเป็นป่าดงดิบชื้นบนยอดเขาและริมลำธาร
ห่างออกไปเป็นป่าเบญจพรรณซึ่งแถบนี้ต้นตะแบกจะเป็นพืชเด่น ป่าไผ่หรือเบญจพรรณมีบ้างแต่ไม่มาก นี่ฟอร์มของน้ำตกแถบนี้เลย แต่ผมแถมให้อีกอย่างคือ ทุกน้ำตกจะมีชาวบ้านเอาท่อพีวีซีมาต่อน้ำไปใช้ทุกน้ำตก และแต่ละน้ำตก เดินไปเที่ยวไม่ไกล รถถึงเป็นส่วนใหญ่แล้วเดินอีกนิดหน่อย
เริ่มจาก “น้ำตกห้วยยาง” ซึ่งอยู่หลังที่ทำการอุทยานฯนั่นเอง มีหลายชั้น แต่เขานับกันแค่ 5 ชั้น ชั้นเตี้ยบ้างสูงบ้าง ทิ้งระยะห่างกัน มีแอ่งน้ำให้เล่นได้ทุกชั้น บรรยากาศร่มรื่นมาก ที่เด่นมากของน้ำตกห้วยยางคือกลุ่มหินแกรนิตที่กลม มน ขนาดใหญ่ ระเกะระกะ หินพวกนี้ก็คือหินที่หักตกลงมา อาจจะตอนที่ถูกดันขึ้นมาเป็นภูเขาหรืออาจหลังจากนั้นเมื่อมีรอยแตก แล้วมันก็ค่อยๆ ผุพังไปเรื่อยๆ
ย้อนลงไปให้ใต้สุดเกือบถึงบางสะพาน เป็น “น้ำตกขาอ่อน” เข้าไปจากถนนเพชรเกษมไปทางตะวันตกราว 20 กิโลเมตร ทีแรกผมเข้าใจว่าเดินจนขาอ่อน คงจะไกลน่าดู แต่พอไปเดินจริงๆ ก็ไม่เท่าไร แม้มีทางเดินขึ้นเขาไปชั้นบนเรื่อยๆ แต่มันไม่ได้ชันอะไรมากมาย เดินไปพักไป มีชั้นน้ำตกตลอดทาง
ถัดขึ้นมาไม่ไกลจะเป็นทางเข้าไป “น้ำตกหินดาด” ซึ่งเป็นน้ำตกเล็ก ๆ ไม่ค่อยโดดเด่น เลยจะไม่ค่อยเน้นอะไร
แต่ขึ้นมาอีกจนเยื้องกับทางเข้าตัวอำเภอทับสะแก ที่นี่จะเข้าไปจากถนนเพชรเกษมไปทางตะวันตกราว 15 กิโลเมตรจะเป็นลานหินกว้างเป็นอาณาบริเวณประกอบ น้ำตกไหลลงมาตามร่องหินเป็นชั้นๆ ทิ้งระยะห่างกันเป็นสิบๆ เมตร ตรงที่เป็นป่าก็ร่มรื่นดี แต่ตรงที่เป็นลานหินนี่ร้อนหน่อยในช่วงกลางวัน แต่กลางคืนคงเย็นสบาย
ขึ้นมาก็จะเป็น “น้ำตกห้วยยาง” ซึ่งว่าไปแล้ว เลยน้ำตกห้วยยางมาไม่มาก ใกล้กับทางเข้าอุทยานแห่งชาติหาดวนกรจะเป็นทางเข้าไปน้ำตกบัวสวรรค์ เข้าไปราว 20 กิโลเมตรไปสุดทางรถที่สำนักสงฆ์บัวสวรรค์นั่นแหละแล้วเดินเท้า ที่นี่จะเดินไกลหน่อยราว 2 กิโลเมตร น้ำตกมีราว 5 ชั้น แต่ชั้นไม่ค่อยสูง ที่นี่มีแต่ท่อพีวีซีชาวบ้านที่มาต่อกันจนสีฟ้าเกลื่อนน้ำตก ในบรรดาน้ำตกทั้งหมดของอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง มีที่บัวสวรรค์ที่เดียวที่ออกจะดิบๆหน่อยคือไม่มีทางเดินง่ายๆ เป็นทางเดินในป่า ใครชอบแนวเที่ยวป่าก็ลองแวะมาดูกัน
ที่ว่ามาทั้งหมดเพียงเพื่อจะตอกย้ำว่า ป่านั้นต่อให้มีพื้นที่แคบ ไม่กว้างมาก แต่ขอให้สมบูรณ์ ป่าไม่ถูกแผ้วถาง ระบบนิเวศของป่ามันจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำในฤดูฝนและทยอยปล่อยออกมาในฤดูแล้ง ต้นไม้ใบหญ้า ดักจับน้ำค้างให้เป็นหยดน้ำค่อยๆ ไหลจากใบไม้ตกลงสู่พื้นดินเป็นแบบนี้มาชั่วนาตาปี ลำธารต่างๆ จึงมีน้ำไว้ให้ผู้คนและสัตว์ป่าได้ดื่มกินตลอดเวลา และแน่นอนว่าผลผลิตเหล่านี้มาจากการดูแลรักษาที่ทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ “อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง” ทุกคน และที่ขาดไม่ได้คือ คนทุกคนที่ช่วยกันดูแล เห็นความสำคัญของป่า
ป่ามีน้อยแต่สมบูรณ์ เพราะมีป่าจึงมีน้ำ เพราะมีน้ำ จึงมีชีวิต ป่าที่ห้วยยางพิสูจน์คำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี...