16 ตุลาคม 'วันอาหารโลก' ชวนลองให้รู้ 4 แหล่งอาหารในอนาคต
รู้หรือไม่? อีก 32 ปีนับจากนี้ไป (ค.ศ.2050) โลกจะเข้าสู่ 'วิกฤติขาดแคลนอาหาร' การมองหาอาหารแห่งอนาคต หรือวัตถุดิบทางเลือกอื่นๆ จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องใน "วันอาหารโลก" 16 ตุลาคม ชวนมารู้จักแหล่งอาหารใหม่ของมนุษย์
ภายในปี ค.ศ.2050 หรืออีก 32 ปี นับจากนี้ไป ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันถึงราว 70% ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ กลับมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งพื้นที่ปศุสัตว์ แหล่งน้ำ พลังงาน รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้การผลิตอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการ "อาหารทดแทน" จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
ในปี 2020 มีอาหารทดแทนแบบไหนบ้าง ที่คนเราเริ่มมองเห็นในตลาดสินค้าสำหรับบริโภคมากขึ้น เนื่องใน "วันอาหารโลก" ที่ตรงกับวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาทำความรู้จักอาหารจาก 4 อย่างสำคัญที่อาจเป็นแหล่งอาหารหลักของมนุษย์ในโลกอนาคต
- "แมลง" อาหารโปรตีนสูงแห่งโลกอนาคต
สหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าโลกต้องเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อป้อนให้กับประชากรโลกในปี 2050 และ ในอนาคตแมลงจะกลายเป็นหนึ่งในพลังงานและอาหารของมนุษย์โลก
สหประชาชาติยังคาดการณ์ว่า มนุษย์ต้องส่งเสริมการทำฟาร์ม "แมลง" เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนที่ยั่งยืนกว่าการทำปศุสัตว์แบบเดิม และมีการยอมรับในวงกว้างว่าแมลงนั้นให้สารอาหารมากกว่าเนื้อหรือปลา
แต่ถึงอย่างนั้น การรับประทานแมลงในแบบเดิมๆ คงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอาหารแห่งอนาคตเท่าไหร่นัก แต่ถ้าการแปรรูปจากแมลงไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ บริษัทในโลกกำลังตื่นตัวอย่างน่าสนใจ
ไอศกรีมแมลง จาก Gourmet Grubb สตาร์ทอัพจากเมือง Cape Town ประเทศแอฟริกาใต้ บอกว่าอาหารจากแมลงเป็นเมนูทางเลือกที่ดีเช่นกัน โดยไอศกรีมของสตาร์ทอัพรายนี้มีส่วนผสมของ "EntoMilk" หรือผลิตภัณฑ์นมทดแทนที่ทำมาจากหนอนของแมลงในเขตร้อนอย่างแมลงวันลาย (black soldier fly)
“เป้าหมายของเราคือการเปลี่ยนแปลงภาพจำที่ไม่ดีที่คนมีต่อแมลง ด้วยการนำมาผลิตและใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร” Leah Bessa ผู้ร่วมก่อตั้งGourmet Grubb กล่าว
ในปี 2016 ขณะที่ Leah Bessa กำลังศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์อาหารที่ Stellenbosch University ในแอฟริกาใต้ Bessa ได้เกิดความสนใจเกี่ยวกับ อาหารจากแมลง หลังจากนั้นหนึ่งปีจึงเกิดสตาร์ทอัพ Gourmet Grubb ขึ้นมา ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะมีแมลงมากกว่า 1,900 ชนิด ที่สามารถเป็นอาหารของมนุษย์ได้ แต่ส่วนใหญ่นั้นยังไม่ถูกยอมรับในโลกอาหารตะวันตก
“เราคิดไว้ว่าไอศกรีมที่ทำออกมาจะไม่ได้รับความนิยมและถูกกระแสตีกลับ แต่กลับได้รับกระแสในทางที่ดีกลับมา และผู้คนชื่นชอบกัน” Bessa กล่าวกับ CNN
สำหรับไอศกรีมแมลงของ Gourmet Grubb นั้นมีหลายรสชาติด้วยกัน เช่น ช็อกโกแลต พีนัตบัตเตอร์ และคริสต์มาสสไปซ์ ซึ่ง Bessa ระบุว่า EntoMilk ช่วยให้ไอศกรีมที่ได้มีเนื้อครีมเหมือนไอศกรีมอื่นๆ และไม่เพียงแต่รสชาติที่เหมือนกับไอศกรีมทั่วไปเท่านั้น แต่ไอศกรีมแมลงยังมีคุณประโยชน์สูงเนื่องจาก EntoMilk มีโปรตีนสูงกว่านมปกติถึง 5 เท่า!
ปัจจุบัน Gourmet Grubb ยังเปิดตัวคอนเซปท์ป็อปอัพสโตร์ซึ่งขายไอศกรีมพร้อมอาหารคาวจากแมลงด้วย เช่น ผงแป้งพาสต้าจากแมลง, โครเก้หนอนถั่วลูกไก่ และฮัมมูสที่ทำจากหนอน Mopani
- Faux meats เนื้อเทียม หรือเนื้อสัตว์ทางเลือก
เนื้อเทียม ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับประเทศไทยอีกต่อไป เพราะเรามักเจอวัตถุดิบเนื้อเทียมในเทศกาล "กินเจ" อยู่ทุกๆ ปี แต่ถึงอย่างนั้น การรับประทานเนื้อเทียมกำลังกลายเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงไปทั่วโลก โดยเทรนด์การลดน้ำหนักแบบ Faux meats นั้น มีหลักการง่ายๆ ก็คือ เน้นรับประทานอาหารที่มีวัตถุดิบทำจากพืชผ่านกระบวนการให้มีรสสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์
มีการประมาณการว่า มูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 86,648 ล้านบาท โดยกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช ซึ่งเป็นอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืชตระกูลถั่ว เห็ด และสาหร่าย รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชเมล็ดถั่ว ตลอดจนโปรตีนจากการหมักเชื้อจุลินทรีย์ มีมูลค่าประมาณ 6,321 ล้านบาท
และยังคาดการณ์ว่ามูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2562 จะมีมูลค่าประมาณ 88,731 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบจากปี 2561 โดยกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช จะมีมูลค่าประมาณ 6,725 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัว 6.4% ตามความนิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูง เพื่อสร้างสมดุลทางโภชนาการทดแทนเนื้อสัตว์ การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงการรักษา "สุขภาพ"
ส่วนการเกิด “เนื้อไร้เนื้อ หรือ Plant Based Food” จะกลายเป็นเมกะเทรนด์ของอนาคต เนื่องจากเป็นโปรตีนที่ไม่สร้างมลพิษในขั้นตอนการผลิต ทั้งยังดีต่อสุขภาพซึ่งเป็นใจความสำคัญของการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่โรคต่างๆ เริ่มพัฒนาและต่อต้านการรักษาได้มากขึ้น เมื่อประกอบกับการคาดการณ์ถึงภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์อันเนื่องมาจากปัจจัยของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่ใช้มีลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เนื้อที่ใช้วิธีการปลูกขึ้นมาจึงอาจกลายเป็นอาหารหลักในไม่ช้า
- เนื้อจริง แต่เกิดจากห้องแล็บ!
เนื้อชนิดนี้มีชื่อว่า Lab-grown foods เป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนที่ผลิตขึ้นในห้องแล็บ เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ที่ได้จากฟาร์มปศุสัตว์ โดยใช้กระบวนการนำเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของสัตว์มาสกัดเป็นสเต็มเซลล์และทำการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์นั้นต่อบนจานแก้วในห้องแล็บ ก่อนจะนำไปผสมกับเส้นใยและไขมัน แต่งสีแต่งกลิ่น รสชาติ รสสัมผัส เพื่อให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ
ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 24 แห่งกำลังทำการทดลองผลิตเนื้อปลา เนื้อวัว และเนื้อไก่ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ธุรกิจเหล่านี้คาดหวังที่จะเข้าสู่ตลาดเนื้อสัตว์ทางเลือก ซึ่งอาจมีมูลค่าถึง 140,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี พ.ศ. 2572
ความต่างของเนื้อ Lab-grown foods และเนื้อเทียม คือ เนื้อ Lab-grown โตมาจากเซลล์ตั้งต้น ในขณะที่เนื้อเทียมทำมาจากพืช บริษัทผู้ทดลองต่างเคลมว่าเนื้อจากห้องแล็บสามารถแก้ปัญหาความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบทางจริยธรรมในการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำเนื้อมาบริโภคได้
แต่ถึงอย่างนั้นความท้าทายสำคัญ คือ การที่ทำให้เนื้อสัตว์เทียมนี้มีลักษณะและรสชาติเหมือนกับเนื้อสัตว์จริงๆ
- ผงโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ทดแทนมื้ออาหาร
ถ้าให้นึกถึงหนังไซไฟ ที่มีภาพมนุษย์โลกในอนาคตกำลังกิน "อาหารผง" แทนมื้ออาหารหลัก จะว่าไปโลกในยุคนี้ก็ใกล้จุดนั้นเข้าไปทุกทีแล้ว เพราะหลายบริษัทเริ่มทดลองและจำหน่ายเครื่องดื่มสำหรับบริโภคทดแทนอาหารหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทเคลมว่าผลิตภัณฑ์พวกเขาว่ามีสารอาหารครบถ้วน แต่ถึงอย่างนั้นผลิตภัณฑ์ที่ออกจำหน่ายก็ยังอยู่ในโหมดของ "อาหารเสริมคุณค่าทางโภชนาการ" มากกว่าจะเป็นอาหารทดแทน หรือบางผลิตภัณฑ์ก็อ้างสรรพคุณถึงการ "ลดน้ำหนัก"
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน โปรตีนผงแทนมื้ออาหารจะยังไม่ถูกมองในฐานะอาหารทดแทน แต่อีกไม่นานในอนาคต Food Powder อาจถูกพัฒนาจนสามารถทดแทนมื้ออาหารได้จริงๆ และนั่น.. อาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของมนุษยชาติ
--------------------
อ้างอิง : medicalfuturist.com, culturedbeef.org, soylent.com, beyondmeat.com