โพสต์เรื่อง 'การเมือง' กระทบเรื่อง 'สมัครงาน' จริงหรือ?
ความเห็นทาง "การเมือง" ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็นในโลกไซเบอร์ ถูกจับตามองจากบรรดา HR องค์กรต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อการพิจารณารับเข้าทำงานแค่ไหนกัน
"โพสต์การเมืองแรงๆ เดี๋ยวก็ไม่มีคนรับเข้าทำงาน"
"บริษัทเขาไม่อยากรับคนที่คิดแบบนี้เข้าทำงานหรอกนะ"
ฯลฯ
ความเป็นห่วงจากคนรอบตัวที่กลุ่มที่แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนหลายๆ คนเคยเจอ มีใจความในการสื่อสารว่าการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเหล่านี้อาจกระทบต่อการรับเข้าทำงานในบริษัทต่างๆ ได้ง่ายๆ ในขณะที่เรื่องจุดยืน อุดมการณ์ มุมมอง และความคิดเห็น โดยเฉพาะ "ความเห็นทางการเมือง" ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และแตกต่างกันออกไปแบบปัจเจก
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงจะพาไปหาคำตอบว่า แท้ที่จริงในมิติของ HR (Human Resource) แล้ว การแสดงความคิดเห็น โพสต์ ลงภาพ ที่สะท้อน "ทัศนคติส่วนตัวทางการเมือง" ทาง "โซเชียลมีเดีย" จะส่งผลกระทบต่อการพิจารณารับเข้าทำงานของคนยุคนี้ได้จริงหรือไม่
พอใจ พุกกะคุปต์ วิทยากรและที่ปรึกษาองค์กรชั้นนำ ให้ข้อมูลกับทีมกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ในมุมมองจากคนนอกองค์กรว่า การโพสต์เพื่อแสดงความคิดเห็นต่างๆ ลงบนโซเชียลมีเดียย่อม "มีผล" ต่างเรื่องต่างๆ และเป็นสองด้านเสมอ
การแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องปกติ ทุกคนมีสิทธิที่จะโพสต์ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถทำได้ และถือว่าเป็นพื้นที่ที่ดีในการแสดงความคิดเห็น ทว่าสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก่อนที่จะตัดสินใจโพสต์สิ่งต่างๆ ลงไป โดยเฉพาะความคิดเห็นทางการเมือง จะต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนว่า ข้อความหรือภาพเหล่านั้นไม่ผิดกฎ กติกา มารยาท ตามเงื่อนไขของแพลตฟอร์ม หรือข้อกำหนดที่พื้นที่นั้นๆ กำหนดไว้ ซึ่งถือว่าเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องนึกถึงก่อนที่จะโพสต์เรื่องใดๆ ก็ตามลงในโซเชียลมีเดีย คือสิ่งที่เรียกว่า "Digital footprint" หรือร่องรอยทางดิจิทัล ที่หมายถึงข้อมูลต่างๆ จะถูกบันทึกเอาไว้ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวบนโลกไซเบอร์ ทำให้เวลาที่ผ่านไปไม่สามารถลบสิ่งที่เคยโพสต์ หรือแสดงความคิดได้ไว้ได้ ซึ่งในกรณีที่ข้อมูลเหล่านั้นมีความรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อตนเองในอนาคตไม่มากก็น้อย
กล่าวโดยสรุปคือ การโพสต์ข้อความต่างๆ ลงในโซเชียลมีเดียวสามารถทำได้ รวมถึงความเห็นทางการเมือง หากข้อมูลเหล่านี้ปรากฏจะมีการนำมาเป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณาอย่างแน่นอน จะมีผลต่อการรับสมัครงานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร
ด้าน อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาองค์กรต่างๆ ให้ข้อมูลกับทีมกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ว่า การรับสมัครงานในปัจจุบัน นอกจากจะมีการดูประวัติ ประสบการณ์ บุคคลอ้างอิงแล้ว ยังมีการเช็คโซเชียลมีเดียตามมาด้วย
- โซเชียลมีเดีย สะท้อนอุปนิสัย
ในอดีต "บุคคลอ้างอิง" ที่ปรากฏในเรซูเม่หรือแฟ้มผลงาน คือแหล่งข้อมูลที่ทำให้ HR รู้จักผู้สมัครงานมากขึ้น แต่ในปัจจุบัน "โซเชียลมีเดีย" ได้เริ่มทำหน้าที่นี้แทนบุคคลอ้างอิง
ซึ่งการสำรวจการใช้โซเชียลมีเดียทุกวันนี้ HR สามารถสืบค้นเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง (ข้อมูลที่ถูกตั้งเป็นสาธารณะ) ย่ิงไปกว่านั้นปัจจุบันยังมี "บริษัทรับตรวจสอบข้อมูล" ที่จะตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น ข้อมูลเครดิตบูโร ข้อมูลการติดค้างชำระหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ประวัติการก่ออาชญากรรม รวมไปถึงประวัติการกดแชร์ ไลก์ หรือการโพสต์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ อยู่บนของพื้นฐานที่ไม่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัว (Privacy) หมายความว่าจะตรวจสอบได้เฉพาะข้อมูลที่ประเภทสาธารณะเท่านั้น เว้นแต่ผู้สมัครมีการลงชื่อในเอกสารสมัครงานเพื่ออนุญาตให้ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจ้างงานไว้ก่อนหน้านี้
- เห็นต่างหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าแสดงออกมาอย่างไร
อภิวุฒิ กล่าวว่า การตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ของผู้มาสมัครงาน หากปรากฏการแสดงออกทางเมือง ไม่ได้เข้าไปดูเพื่อตัดสินความเห็นทางการเมือง แต่จะมองถึงลักษณะการแสดงออกที่สื่อถึงอุปนิสัยส่วนตัวมากกว่า เช่น การใช้ภาษา การใช้คำหยาบคาย รุนแรง หมิ่นเหม่ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอาจมีผลต่อการพิจารณาได้ แต่การที่องค์กรจะมาประกาศว่าไม่รับคนที่เห็นต่างเข้าทำงานอันนี้ไม่ถูกต้อง
สาเหตุที่ HR ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เพราะมีความสำคัญขั้นพื้นฐาน ซึ่งการแสดงออกทางตัวอักษรที่ค่อนข้างไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรได้หลังจากรับเข้าทำแล้วได้
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเห็นส่วนตัว หรือความเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ล้วนต้องใช้ "สติ" ให้มากขึ้นตอนตัดสินใจโพสต์ และระลึกอยู่เสมอว่าทันทีที่เรากดโพสต์เท่ากับเปิดเผยให้คนอื่นได้รู้เรียบร้อยแล้ว