23 ตุลาคม 'วันปิยมหาราช' ชวนรู้จักสถาปัตยกรรมงดงามจากสมัย ร.5
เปิดที่มา "วันปิยมหาราช" 23 ตุลาคม 2563 พร้อมทำความรู้จัก 5 กลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมแปลกตา เช่น พระที่นั่ง พระตำหนัก พระราชวัง ฯลฯ จากสมัย "รัชกาลที่ 5" ที่ทรงคุณค่าทั้งทางศิลปะผสมผสาน และประวัติศาสตร์
“วันปิยมหาราช” ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือ “รัชกาลที่ 5” เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน" ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น "วันปิยมหาราช"
สำหรับกิจกรรมในวันปิยมหาราช คนไทยสามารถเดินทางไปวางพวงมาลา หรือพุ่มดอกไม้ ณ พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อถวายสักการะ พร้อมทั้งทำบุญตักบาตรเพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศล
ในโอกาสนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคนไทยรู้จักพระปรีชาสามารถอีกด้านหนึ่งของ “รัชกาลที่ 5” ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้บุกเบิกการออกแบบและก่อสร้างกลุ่มอาคารที่มีสถาปัตยกรรมความงดงามแปลกตา เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตก ให้เข้ากับบริบทสังคมของไทย ซึ่งกลุ่มอาคารรูปแบบแปลกตาดังกล่าวมีอยู่มากมายนับสิบๆ แห่ง เราขอยกตัวอย่างบางแห่งมาให้รู้จักกัน ดังนี้
- พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ในสมัยของรัชกาลที่ 5 เป็นท้องพระโรงเดิมของพระราชวังดุสิต ชื่อพระที่นั่งนี้ นำมาจากพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง รวมใช้เวลาสร้างทั้งหมด 8 ปี แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นอาคารทรงยุโรปล้วน เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย ซึ่งก่อสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวชั้นหนึ่งจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีนามว่า มาริโอ ตามานโญ มีแรงบันดาลใจมาจากโดมของวิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
งานก่อสร้างทั้งหมดมาจากแรงงานทั้งคนไทยและจีน ส่วนงานภายในที่มีการตกแต่งด้วยศิลปะเฟรสโก ซึ่งเป็นฝีมือช่างจากอิตาลีเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งมีจุดเด่นที่โดมใหญ่ตรงกลางซึ่งทำจากทองแดง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตร รวมไปถึงโดมย่อยอีก 6 โดม แต่เนื่องจากสนิมทำให้เปลี่ยนสีจากสีทองแดงเป็นสีเขียวอมน้ำเงิน
- พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 พระที่นั่งแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างพระมหามณเฑียรกับพระมหาปราสาท ประกอบด้วยปราสาท 3 องค์ ทอดตัวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก
พระที่นั่งแห่งนี้มีความโดดเด่นกว่าพระที่นั่งอื่นๆ เนื่องจากเป็นการออกแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ "ฝรั่งสวมชฎา"
และด้วยความที่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นกว่าพระที่นั่งอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทกลายเป็นหนึ่งในจุดดึงดูดสำคัญที่สุดของพระบรมมหาราชวัง เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สำคัญที่สุดในพระบรมมหาราชวัง
- พระราชวังพญาไท
วังพญาไท หรือ พระตำหนักพญาไท ตั้งอยู่ที่ริมคลองสามเสน ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี โดยวังแห่งนี้ “รัชกาลที่ 5” โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น พร้อมกับพระราชทานนามให้ว่า "พระตำหนักพญาไท" ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น “พระราชวังพญาไท” ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6
วังพญาไท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จทอดพระเนตรการทำนา การปลูกผักและการเลี้ยงสัตว์ และใช้เป็นตำหนักเป็นที่ประทับ รวมถึงพื้นที่ด้านตรงข้ามกับพระตำหนัก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ทำนา รวมทั้งโรงนา ขึ้นเพื่อประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญในยุคสมัยนั้นด้วย
วังพญาไทใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในระยะเวลาอันสั้น เพราะหลังจากมีการขึ้นเรือนใหม่ได้เพียงไม่กี่เดือนพระองค์ก็สวรรคต หลังจากนั้นรัชกาลที่ 6 ได้ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ พระราชมารดา มาประทับที่พระราชวังแห่งนี้ด้วย จนกระทั่งสวรรคตเมื่อปี 2463 หลังจากนั้นรัชกาลที่ 6 ได้ทรงรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียงพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง
ภาพจาก : th.wikipedia.org/wiki/พระราชวังพญาไท
- พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสถาบันพระปกเกล้า ตั้งอยู่ที่อาคารกรมโยธาธิการเดิม บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ ก่อสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของ “รัชกาลที่ 5” ในปี พ.ศ. 2449 จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2455
อาคารแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดย ชาร์ล เบเกอแลง สถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส ในรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก โดยมีจุดเด่นที่โดมตรงกลาง เดิมทีเป็นที่ตั้งของห้างยอนแซมสันแอนด์ซัน (John Sampson & Son) ซึ่งเป็นสาขาของร้านจำหน่ายผ้าตัดเสื้อ รองเท้า รวมทั้งอานม้าที่มีชื่อเสียงในย่านบอนด์สตรีท กรุงลอนดอน ได้ขยายสาขามาตั้งในเมืองไทย ตามคำชักชวนของ “รัชกาลที่ 5” ในปี พ.ศ. 2441
ยุคต่อมา กรมโยธาเทศบาลได้เข้ามาเช่าอาคารนี้เป็นที่ทำการของกรม และในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2544 สถาบันพระปกเกล้าได้รับการโอนอำนาจการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ฯ จากกรมโยธาธิการ จนมาถึงยุคปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 รวมถึงจัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของพระองค์ด้วย
- วังบางขุนพรหม
วังบางขุนพรหม ก่อสร้างขึ้นในสมัย “รัชกาลที่ 5” โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อ พ.ศ. 2442 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ใช้เป็นสถานที่จัดงานสโมสรสันนิบาต อีกทั้งใช้เป็นที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นสถานที่ให้ครูชาวต่างประเทศใช้จัดสอนวิชาต่างๆ ให้กับพระธิดาและเจ้านายฝ่ายในของวัง
วังบางขุนพรหม ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ ผสมผสานกับลวดลายศิลปะแบบนีโอ-บารอก ประตูวังสร้างด้วยเหล็กดัดและเสาปูนประดับลวดลายปูนปั้นที่งดงาม กึ่งกลางสนามมีน้ำพุประดับขอบบ่อด้วยรูปเงือกฝรั่งชายหญิงและสัตว์น้ำต่างๆ
วังแห่งนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นวังที่ประทับของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าที่ใหญ่โตที่สุด โอ่อ่าที่สุด ต่อมาใน พ.ศ. 2496-2498 มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก็จัดตั้งสำนักงานและทำการถ่ายทอดจากวังบางขุนพรหมแห่งนี้ เรียกกันว่า สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และโมเดิร์นไนน์ทีวี ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาคารอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาล 5 อีกมากมาย เช่น อาคารสีชมพูของโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร เป็นต้น
---------------------------
อ้างอิง :
th.wikipedia.org/wiki/วันปิยมหาราช
th.wikipedia.org/wiki/พระที่นั่งอนันตสมาคม
th.wikipedia.org/wiki/พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
th.wikipedia.org/wiki/พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว