‘ลอยกระทง’ ปีนี้ ‘เบลล่า-ราณี’ เตรียมเป็นนางนพมาศสวยสะดุดกับเครื่องประดับทองคำโบราณ

‘ลอยกระทง’ ปีนี้ ‘เบลล่า-ราณี’ เตรียมเป็นนางนพมาศสวยสะดุดกับเครื่องประดับทองคำโบราณ

ส่องความวิจิตรใกล้ๆ ก่อนใครกับ "เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทองคำ" มูลค่า 20 ล้านบาท ที่เตรียมไว้ให้ “เบลล่า-ราณี” สวมใส่เป็นนางนพมาศ ในพิธีเปิดเทศกาลลอยกระทง พ.ศ.2563 ณ ไอคอนสยาม วันเสาร์ที่ 31 ต.ค.นี้

ชมกันชัดๆ เครื่องศิราภรณ์ และ เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทองคำ มูลค่ารวม 20 ล้านบาท ออกแบบโดยกลุ่ม ทองถนิม คนรุ่นใหม่ผู้ร่วมสืบสานศิลปะเครื่องทองไทย เพื่อให้ เบลล่า-ราณี แคมเปน สวมใส่ในฐานะนางนพมาศในพิธีเปิดเทศกาลลอยกระทง ICONSIAM Chao Phraya River of Eternal Prosperity ประจำปีพ.ศ.2563 ณ บริเวณ ริเวอร์พาร์ค ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคมนี้ เวลา 18.00 น.

เครื่องศิราภรณ์ และ เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ชุดนี้ประกอบด้วย ชฎา ทับทรวง สร้อยคอ สังวาล เข็มกลัดประดับบ่า สายเข็มขัด ปั้นเหน่ง และ ต่างหู

            160396100172

@ ที่มาของรูปแบบและการออกแบบ 

“โจทย์ที่ได้รับมาตอนแรก คือทำเครื่องประดับนางนพมาศสำหรับวันลอยกระทง” เอิร์ธ-สิทธิศักดิ์ คูหาวิไล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ทองถนิมให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจหลังจากนั้นเขาก็ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงเพื่ออ้างอิงการทำงานออกแบบ เครื่องศิราภรณ์ และ เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ชุดนี้

“คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าการลอยกระทงคือการขอขมาพระแม่คงคา แต่ในความเป็นจริง คติการลอยกระทงพัฒนามาจากความเชื่อทางพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก ปุณณสูตร บันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมให้กับเหล่าพญานาคริมฝั่งแม่น้ำนัมมหานที ซึ่งท่านประทับรอยพระพุทธบาทไว้

ชาวอินเดียโบราณนำคตินี้มาจัดเป็นประเพณีลอยโคม (จองเปรียงชักโคมลอยโคม) ขึ้นไปบนฟ้า เพื่อระลึกถึงและสักการะพระพุทธเจ้าที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมหานที โดยมีพระอินทร์เป็นเทพผู้นำโคมที่ลอยขึ้นนี้ไปสักการะพระพุทธเจ้า

จากคติดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดมาที่ประเทศไทยสมัยสุโขทัย ยุคพ่อขุนรามคำแหงฯ ซึ่งอดีตยังไม่มีประเพณีลอยกระทง ยังเป็นพิธีลอยโคม เป็นเหมือนงานรื่นเริง พ่อขุนรามคำแหงฯ ชอบเสด็จทางน้ำไปดูประชาชน ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นสนมในพ่อขุนรามคำแหงฯ เห็นว่าท่านชอบเสด็จทางน้ำ จึงพัฒนาจากการลอยโคมมาประดิษฐ์เป็นกระทงรูปดอกบัว

ทำไมต้องเป็นรูปดอกบัว เพราะดอกบัวคือดอกไม้ที่ใช้สำหรับบูชาพระพุทธเจ้า และจากลอยขึ้นไปบนฟ้าก็เปลี่ยนเป็นลอยไปในสายน้ำแทน จึงเป็นที่มาของประเพณีลอยกระทง ปัจจุบันเราจึงยังเห็นชาวล้านนาในภาคเหนือที่ยังมีพิธีลอยโคม ภาคกลางพัฒนามาเป็นการลอยกระทง” เอิร์ธ-สิทธิศักดิ์ กล่าว

จากคติความเชื่อดังกล่าว ‘กลุ่มทองถนิม จึงนำมาถ่ายทอดเป็นงานออกแบบในเครื่องประดับสำหรับงานนี้

160396107021

เอิร์ธ-สิทธิศักดิ์ คูหาวิไล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ทองถนิม’

@ ชฎา : ประติมากรรมสัญลักษณ์มงคล

เริ่มจากในส่วนของการออกแบบ ‘ศิราภรณ์หรือเครื่องประดับศีรษะ ในครั้งนี้คือ ชฎา ประกอบด้วยประติมากรรมสัญลักษณ์มงคลจากคติความเชื่อในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับการลอยโคมของชาวอินเดียโบราณที่พัฒนามาเป็นประเพณีลอยกระทงของไทย นั่นก็คือ พระอินทร์ เทพผู้เป็นสื่อนำโคมลอยขึ้นไปสักการะพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ช่างปั้นยังเลือกปั้นพระอินทร์ในอิริยาบถเป่าสังข์ ทั้งนี้เพื่อสื่อความหมายมงคลถึงเทพประทานพรในด้านชื่อเสียงขจรไกล และประติมากรรมรูปตัว ปลา คือพาหนะของพระแม่คงคงและเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ โดยใช้รูปลักษณ์ปลาในป่าหิมพานต์

160396446621

ประติมากรรมพระอินทร์เป่าสังข์

160396455562

ประติมากรรมปลาหิมพานต์

160396055254

“ชฎาส่วนใหญ่ไม่มีเรื่องของ ‘ตัวภาพให้เห็นมากนัก ปกติจะเน้นแม่ลายของลายไทย ซึ่งชฎาศีรษะนี้ก็ยังคงเน้นความงดงาม เส้นสายความอ่อนช้อยแม่ลายของลายไทย เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์หลายขนาด ลายกระจัง ลายดอกพิกุล ลายดอกจอก ซ้อนเป็นลำดับชั้นขึ้นไป และประดับด้วยอัญมณีสีขาว แต่ครั้งนี้เรานำ ตัวภาพ คือประติมากรรมพระอินทร์และปลาหิมพานต์เข้ามาประกอบกับการทำชฎา คนไทยก็คุ้นกันดีเกี่ยวกับประเทศของเราเกี่ยวกับน้ำ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว พระแม่โพสพ พระแม่คงคา สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย เม็ดกลมบนสุดของยอดชฎาสื่อถึงพระจันทร์เต็มดวงในคืนวันลอยกระทง” ปริญญา บุญฤทธิ์ ช่างหัวโขนผู้ทำชฎา กล่าวถึงการออกแบบชฎาศีรษะนี้ซึ่งใช้เทคนิคการทำ หัวโขน เนื่องจากถ้าใช้ทองคำหรือโลหะชนิดอื่น ชฎาจะมีน้ำหนักมากเกินกว่าผู้สวมใส่จะทานไหว

160396500356

นิกร จันทร์ต๊ะตา และ ปริญญา บุญฤทธิ์ สมาชิกกลุ่มทองถนิม

@ เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทองคำ 

เครื่องประดับร่างกายหรือที่มีคำเรียกเฉพาะว่า เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ สำหรับนางนพมาศในงานนี้ทำด้วย ทองคำ ทุกชิ้น ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาท

ลวดลายที่กลุ่ม ‘ทองถนิม คัดสรรมาประดับลงบนเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ชุดนี้ยังคงมีความหมายมงคลและเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนา อาทิ ลายดอกบัว ดอกไม้ที่ชาวพุทธใช้บูชาพระพุทธเจ้า ปรากฏอยู่บน ต่างหู, สังวาล และหัว ปั้นเหน่ง หรือหัวเข็มขัด ตรงกลางหัวเข็มขัดยังประดับทับทิมล้อมเพชร แล้วประดับด้วย พลอยนพเก้าในชั้นถัดมา

160396491790

ต่างหูรูปทรงเครื่องทองโบราณ

160396067477

ปั้นเหน่งและสายเข็มขัดทองถัก

ตัวเข็มขัดหรือ สายเข็มขัด ที่ใช้คู่กับปั้นเหน่งชิ้นนี้ เป็นเข็มขัดลายถัก ทำทองคำให้เป็น ‘ห่วง แล้วเชื่อมทีละห่วงเข้าด้วยกันจนเป็นสายเข็มขัดทองคำทั้งเส้น พร้อมกลวิธีปรับขนาดเข็มขัดด้วยสลักแบบโบราณ บนสายเข็มขัดเพิ่มความงดงามด้วย ทองคำลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เฉพาะสายเข็มขัดทองถักเส้นนี้ทำด้วยทองคำหนักครึ่งกิโลกรัม

160396313936

ทับทรวงด้านหน้า

160396083978

ทับทรวงด้านหลัง

ความงดงามของ ทับทรวง มีความวิจิตรทั้งด้านหน้าซึ่งสลักทองคำเป็นลวดลายดอกบัวและแม่ลายไทยประดับอัญมณีมงคล ขณะที่ด้านหลังของ ‘ทับทรวงชิ้นเดียวกันนี้ผูกลายเป็นลาย รอยพระพุทธบาท กับ พญานาค ตามคติที่มาของการลอยโคมทางพุทธศาสนาที่พัฒนามาเป็นประเพณีลอยกระทง

160396087568

เข็มกลัดประดับบ่า

ขณะที่ เข็มกลัดประดับบ่า สลักทองคำขึ้นเป็นตัว ปลาหิมพานต์ จำนวน 3 ตัว อยู่ใน ทองคำทรงดอกบัว พัฒนามาจาก ‘ขันดอกไม้ล้านนา ที่ชาวเหนือใช้เป็นพุทธบูชาถวายพระพุทธรูป

ลวดลายที่เกิดขึ้นบนทองคำลักษณะนี้ คุณเอิร์ธกล่าวว่าคือการใช้ฝีมือเชิงช่างไทยที่เรียกว่างาน สลักดุน ของช่างทองหลวงในการทำเครื่องทองสำหรับเจ้านาย

“การทำงานตรงนี้ไม่ได้รู้แค่เทคนิคการทำเครื่องทอง แต่ต้องรู้เทคนิคงานช่างไทยในหลายแขนงในงานช่างสิบหมู่ เช่นช่างเขียน ช่างดุน ช่างปั้น เครื่องประดับทองชุดนี้จึงแตกต่างจากทองคำตามร้านทองทั่วไป ด้วยเทคนิคที่เราใช้ ด้วยลวดลายที่เราทำ และเป็นงานทำมือร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้ช่างฝีมือมากกว่า 10 คน บางชิ้นงานเราส่งให้ช่างฝีมือ 3-4 คนเพราะแต่ละคนมีความถนัดมีพรสวรรค์ต่างกัน” คุณเอิร์ธ กล่าว

160396144257

สมาชิกกลุ่ม 'ทองถนิม' ติดตั้งศิราภรณ์และเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ณ ธาราฮอลล์

160396400083

เครื่องศิราภรณ์ และ เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทองคำ มูลค่ารวม 20 ล้านบาทชุดนี้จัดแสดงให้ชมความวิจิตรได้อย่างใกล้ชิด ณ บริเวณธาราฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม วันนี้-31 ตุลาคม 2563 ก่อนนำออกจากตู้นิรภัยไปจัดแต่งให้ เบลล่า-ราณี แคมเปน สวมใส่ในฐานะนางนพมาศในค่ำคืนลอยกระทง

@ เบลล่า-ราณี รับบทนางนพมาศผู้สวมใส่เครื่องประดับชุดนี้

หนึ่งในไฮไลต์ของพิธีเปิดเทศกาลลอยกระทง ICONSIAM Chao Phraya River of Eternal Prosperity ประจำปีพ.ศ.2563 คือการแสดงชุด Show Of Eternal Prosperity บอกเล่าเรื่องราววิวัฒนาการของประเพณีลอยกระทงผ่านยุคสมัยจากอดีตอันรุ่งเรืองสู่ปัจจุบันที่รุ่งโรจน์ โดยสืบต่อความรุ่งโรจน์สู่อนาคต

จัดเต็มแสง สี เสียงสุดตระการตาผ่าน 2 ขบวนแต่ละยุคสมัย ได้แก่ ขบวนมหาธาราแห่งอดีตอันรุ่งเรือง และ ขบวนมหาธาราแห่งปัจจุบันอันรุ่งโรจน์ ที่จะเคลื่อนขบวนมายังบริเวณด้านหน้าของริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม

ร่วมด้วยการแสดงระบำสุโขทัย การแสดงไทยร่วมสมัย พร้อมอุปกรณ์การแสดง ‘ตะคัน’ เพื่อสักการะ ‘แม่น้ำเจ้าพระยา มหาธาราแห่งมรดกชีวิต และร่วมชื่นชมกับความงดงามของนางนพมาศโดยนักแสดงสาว เบลล่า-ราณี แคมเปน ปรากฏกายด้วยชุดไทย “วิลาสลักษณ์” อันงามสง่า และเครื่องประดับทองคำโบราณมูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาทชุดดังกล่าว ณ บริเวณ ริเวอร์พาร์ค ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร รอชมวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคมนี้ เวลา 18.00 น.

สำหรับการเดินทางไปร่วมฉลองมหาปรากฏการณ์เทศกาลลอยกระทง ณ ริเวอร์พาร์ค ไอคอนสยาม มีบริการเรือรับ-ส่งจากท่าเรือสี่พระยา ท่าเรือสาธร และท่าเรือ CAT ถึงเวลา 01.00 น. และมีบริการรถรับ-ส่ง (Shuttle Bus) เส้นทางไอคอนสยาม – BTS สถานีกรุงธนบุรี – BTS สถานีวงเวียนใหญ่ ถึงเวลา 24.00 น.

160396130453

ทีมงานกลุ่ม 'ทองถนิม'

@ กลุ่มทองถนิม : คนรุ่นใหม่รักษ์ศิลปะไทย

“กลุ่มทองถนิม” เกิดจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่เมื่อ 7 ปีมาแล้ว แต่ละคนมีใจรักในศิลปกรรมไทย

“พวกเราคือกลุ่มทองถนิม เกิดจากพวกเราที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการส่งเสริมสานต่อมรดกศิลปวัฒนธรรรมเครื่องทองไทย ปัจจุบันศิลปะแขนงนี้แทบจะสูญหาย น้อยคนที่จะยังทำอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้คือภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาแต่โบราณ อย่างที่เราเห็นเครื่องทองที่กรุวัดราชบูรณะ สมัยอยุธยา นั่นคือเทคคนิคช่างทองหลวงเหมือนกัน วันนี้พวกเรามีกำลัง มีความสามารถ สืบสานและส่งต่อเท่าที่เราทำได้ เราก็หวังว่างานพวกนี้..ศิลปะไทย จะยังคงอยู่ ไม่ตาย เป็นมรดกให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป” เอิร์ธ-สิทธิศักดิ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มทองถนิม กล่าว

นอกจากรักในศิลปกรรมไทย สมาชิกหลายคนในกลุ่มฯ ยังมีพรสวรรค์มีความถนัดใน่ฝีมือเชิงช่างศิลปะไทย  หลายคนสำเร็จวิชาช่างทองหลวงและศึกษาเพิ่มเติมจากโรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย ผลงานการออกแบบเครื่องประดับทองไทยโบราณจึงอิงรูปแบบศิลปะไทย

คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทยโดยแท้