ทำ 'ประกันภัยรถยนต์' ประเภทหนึ่ง เป็นฝ่ายถูก ทำไมบริษัทไม่จ่ายตามความเสียหายจริง?

ทำ 'ประกันภัยรถยนต์' ประเภทหนึ่ง เป็นฝ่ายถูก ทำไมบริษัทไม่จ่ายตามความเสียหายจริง?

ไขข้อข้องใจ เหตุเมื่อทำประกันภัยนถยนต์ประเภทหนึ่ง เมื่อถูกคู่กรณีชนได้รับความเสียหายมากเกินกว่าทุนที่เอาประกันภัยไว้ ทำไมบริษัทประกันภัยภัยถึงไม่จ่ายตามความเสียหายจริง?

สวัสดีครับพบกับประกันภัยเรื่องใกล้ตัวกันอีกเช่นเคยนะครับ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการประกันภัยทั้งการประกันชีวิตหรือการประกันวินาศภัย สำหรับฉบับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประกันภัยรถยนต์ประเภทหนึ่งที่ถูกคู่กรณีชนเสียหายทำไมบริษัทประกันภัยภัยไม่จ่ายตามความเสียหายจริง!

ประเด็นของเรื่องคือ ได้มีทำประกันภัยรถยนต์ประเภทหนึ่งไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งถูกรถยนต์คู่กรณีชนได้รับความเสียหายมากเกินกว่าทุนที่เอาประกันภัยไว้ (ทำทุน 560,000 บาท) โดยทางอู่และทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัยตรวจสอบสรุปความเสียหายเป็นค่าแรงและค่าอะไหล่แล้วอยู่ที่ราคา 620,000 บาท ทางบริษัทประกันภัยจึงแจ้งว่าจะจ่ายคืนเต็มทุนที่ทำประกันภัยไว้จำนวน 560,000 บาท อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่? , ทำไมบริษัทประกันภัยไม่จ่ายให้ตามราคาซ่อม 620,000 บาท เพราะว่าเราเป็นฝ่ายถูก แล้วบริษัทประกันภัยค่อยไปเรียกร้องจากคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดต่อไปอย่างนี้สามารถทำได้หรือไม่?

ตอบประเด็นคำถามนี้ น่าจะเหมือนกับหลายท่านที่เคยประสบเหตุการณ์อย่างนี้นะครับ ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือสัญญาประกันภัยรถยนต์นั้นเป็นการประกันภัยภัยเพื่อความรับผิดอันเนื่องจากการใช้รถของผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่ได้รับการยินยอมจาก ผู้เอาประกันภัย...ซึ่งมีความคุ้มครองอยู่สี่ส่วนคือ

1. ความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัย

2. การสูญหายและไฟไหม้ที่เกิดกับตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัย

3.ความเสียหายของทรัพย์สินบุคคลภายนอก

4. ความเสียหายต่อชีวิต-ร่างกายของบุคคล

สำหรับความคุ้มครองความเสียหายของตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัยนั้น ในกระบวนการในการรับประกันภัยของบริษัทประกันภัยมีการกำหนดไว้ว่าบริษัทผู้รับประกันภัยต้องกำหนดทุนที่เอาประกันภัยในรถยนต์นั้นไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่ารถยนต์ในขณะที่เอาประกันภัย ซึ่งในกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยนั้นมูลค่ารถน่าจะอยู่ในราคา ประมาณ 650,000-700,000 บาท จึงได้มีการกำหนดทุนที่เอาประกันภัยไว้ 560,000 บาท (80% ของมูลค่ารถ)

ซึ่งหมายความว่าความคุ้มครองต่อตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัยนั้นมีการจำกัดความรับผิดชอบไว้เพียง 560,000 บาท และตามเงื่อนไขกรมธรรม์รถยนต์ประเภทหนึ่งทุกกรมธรรม์ได้มีการกำหนดไว้ใน ข้อ 2 เรื่องการชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์ โดยในข้อ 2.1 กำหนดไว้ว่าในกรณีรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย(ทุนที่เอาประกันภัย) และยังได้มีการระบุไว้อีกว่า..รถยนต์เสียหายโดยสิ้นเชิงในที่นี้หมายถึงรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจนไม่อาจซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมได้หรือความเสียหายไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 ของมูลค่ารถยนต์ในขณะเกิดความเสียหาย ดังนั้นหากรถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายและเข้าเงื่อนไขตามข้อกำหนดไว้ บริษัทผู้รับประกันภัยไว้จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ให้ตามที่กำหนด

เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้วจะพบว่าการเอาประกันภัยและความเสียหายต่อตัวรถยนต์นั้นเข้าเงื่อนไขกรมธรรม์คือบริษัทได้รับประกันภัยตัวรถในมูลค่าทุนไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าราคารถยนต์ ณ เวลาที่เอาประกันภัยไว้ ข้อจำกัดความรับผิดของบริษัทประกันภัยจึงจำกัดความรับผิดชอบต่อความคุ้มครองไม่เกิน 560,000 บาท และความเสียหายที่ทางอู่และพนักงานของบริษัทประกันภัยได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามูลค่าความเสียหายนั้นเกินกว่า 70% ของทุนที่เอาประกันภัย (เกินกว่า 560,000 x 70% = 392,000 บาท)

ดังนั้นการที่บริษัทประกันภัยแจ้งว่าจะจ่ายเต็มทุนที่เอาประกันภัย จึงถูกต้องแล้วครับ เนื่องจากเป็นไปตามเงื่อนไข และอีกประการหนึ่ง ตามหลักพื้นฐานในการประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นมีการกำหนดหลักในการประกันภัยไว้ประการหนึ่งในเรื่องของการรับช่วงสิทธิที่กำหนดว่า การรับช่วงสิทธิ หมายถึงบริษัทประกันภัยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนสามารถรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยได้ โดยการรับช่วงสิทธินั้นจะต้องเป็นวินาศภัยที่เกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก ซึ่งผู้รับประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามข้อจำกัดความรับผิด

จึงเป็นคำตอบสำหรับประเด็นที่สอง มีข้อสงสัยว่าบริษัทจะจ่ายให้เต็มตามความเสียหายของรถเลยได้หรือไม่? จากข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดชอบที่มีอยู่ในตัวรถประกันภัยนั้นมีการจำกัดไว้เพียงจำนวน 560,000 บาท บริษัทผู้รับประกันภัยจึงสามารถรับช่วงสิทธิได้เพียงจำนวนความคุ้มครองตามทุนที่เอาประกันภัยไว้ตามความคุ้มครองที่บริษัทต้องจ่ายเท่านั้น บริษัทประกันภัยจึงไม่สามารถทำการจ่ายตามความเสียหายที่อู่และพนักงานของบริษัทตรวจสอบประเมินราคาจำนวน 620,000 บาท เพราะหากมีการจ่ายตามจำนวนดังกล่าวออกไป ก็จะถือว่าเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญา

หากทางฝ่ายคู่กรณีฝ่ายผิดยกมาเป็นข้อต่อสู้ว่าบริษัทประกันภัยจ่ายเกินจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิดไว้ สิทธิในการรับช่วงสิทธิจึงมีเพียงแค่วงเงินที่จำกัดไว้เท่านั้นและจะถือได้ว่าบริษัทประกันภัยจ่ายโดยพลาดอาจไม่สามารถเรียกร้องในส่วนที่จ่ายเกินจำนวนเงินจำกัดความรับผิดนั้นได้

การประกันภัยเป็นหลักประกันที่ดีครับ และที่สำคัญเมื่อทำการประกันแล้วต้องตรวจสอบความถูกต้องของกรมธรรม์และทำความเข้าใจในสัญญาประกันภัยหรือการประกันชีวิตมีหลากหลายแบบผู้เอาประกันภัยต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสาระสำคัญในสัญญาให้ชัดเจนนะครับเพื่อเราจะได้รับรู้ถึงสิทธิของเราตามสัญญาอย่างแท้จริง แล้วพบกับประกันภัยเรื่องใกล้ตัว...สวัสดีครับ