โอกาสเปิดกว้าง แต่กลับไม่เปิดใจ
"ภาษาอังกฤษ" นับเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำและการทำงาน ไม่เพียงแค่พูดได้ แต่ต้องคล่องในภาษาอังกฤษ นอกเหนือจาก 2 ทักษะสำคัญที่ต้องมีในยุคปัจจุบัน ทั้ง Digital Skills และ Professional Skills แต่ทำอย่างไรจะถึงจุดที่มีภาษาอังกฤษเป็นเงาตามตัวได้?
ในสังคมโลกที่ปรับเปลี่ยนไป ผู้คนติดต่อกันสะดวกขึ้น เข้าใจในวัฒนธรรมกันและกันมากขึ้น โดยมีภาษาอังกฤษเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสาน เสมือนเดินเคียงข้างเราในทุกๆ วัน ดังนั้น การคล่องในภาษาอังกฤษช่วยให้เข้าใจและสามารถแสดงความเห็นต่างในบริบทแห่งสังคมพหุวัฒนธรรมนี้ได้
จากความจำเป็นดังกล่าว แทนที่จะได้รับการผลักดันสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล หรือผู้บริหารระดับสูงของประเทศ แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร ตรงกันข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่แปรความฝันเป็นความจริงได้สำเร็จ แต่คนไทยกลับย่ำอยู่กับที่และดูถูกกันเองว่าพูดไม่ถูกต้อง สำเนียงไม่ดี หรือผิดไวยากรณ์
ความจริงคนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ (EFL) ยากที่จะให้สำเนียงและสำนวนเหมือนคนต่างชาติ ยิ่งไม่มีโอกาสได้ไปเรียนเมืองนอก สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเรียนก็ยากที่จะมีสำเนียงที่ดีเยี่ยม แต่ก็มิได้หมายความว่าจะสามารถเลียนแบบให้เสียงเหมือนคนต่างชาติไม่ได้ หากมีความพยายามและขยันหมั่นเพียรในการฝึกฝน ก็สามารถประสบความสำเร็จในการเรียนได้เช่นกัน มีตัวอย่างให้เห็นมากมายอย่างคนที่ไม่เคยไปเรียนเมืองนอก (อยู่แต่นอกเมือง) กลับมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการฝึกฝน ก็สามารถสื่อสารได้อย่างมั่นใจ คล่อง และถูกต้อง
ความพยายามที่สถาบันการศึกษาไทยจะสอนภาษาอังกฤษให้กับสมาชิกในสังคมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ผลที่ได้รับกลับไม่สมดุลกับโอกาสที่ได้เท่าไรนัก แม้นปัจจุบันจะมีทางเลือกในการเรียนที่กว้างกว่า (อดีตในห้อง มาสู่การเรียนทางไกล จบท้ายที่การเรียนตามอัธยาศัย) ทุกที่เป็นห้องเรียน หนังสือมีตัวตน ครูตอบคำถามคาใจได้ทุกเวลา
โดยรูปแบบการเรียนการสอนก็ปรับให้เข้ากับยุคการเปลี่ยนแปลง โดยคนยุคใหม่ใส่ใจการเรียนออนไลน์มากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีหาใช่แต่เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารและความบันเทิงเท่านั้น หากแต่เป็นตัวช่วยสนับสนุนเกื้อกูลส่งเสริมให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ความรู้มิใช่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดในห้องเรียนอีกต่อไป หากแต่เสิร์ฟถึงทุกที่ ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านอุปกรณ์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น e-Learning, Thaimooc, YouTube, Socrative, Quizziz, Plickers, Kahoot เป็นต้น เป็นการเดินทางมาคู่กันระหว่างดิจิทัลกับภาษาอังกฤษ กล่าวคือการนำเอาดิจิทัลมาเป็นอุปกรณ์ในการถ่ายทอดเนื้อหาภาษาอังกฤษให้น่าสนใจ ช่วยให้บทเรียนทันสมัย บริการได้กว้างไกลกว่าที่ปรากฏในรูปหนังสือทั่วไป
วันนี้ นิเวศการศึกษาภาษาอังกฤษได้ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมและพัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายในการเรียนภาษาคือความคล่องและความถูกต้องเป็นตัวตั้ง เห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมาเราเน้นที่ Accuracy (ความถูกต้อง) มี Grammar เป็นตัวกำกับ ไม่สามารถนำพาไปสู่เป้าหมายได้ เรียนอ่าน-เขียนก่อน ค่อยเรียนฟัง-พูด
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านลด Accuracy ลง แต่ไปให้ความสำคัญเรื่อง Fluency (ความคล่อง) เรียนเป็นก้อน จำเป็นวลี ท่องเป็นประโยค แทนที่จะท่องศัพท์หรือเน้นโครงสร้างทางไวยากรณ์เป็นหลัก ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนบริบท สภาพแวดล้อม ให้กลายเป็นภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น มิฉะนั้น เมื่อวันเวลาผ่านไปความรู้ก็จะกลับไปอยู่ในตำราเหมือนเดิม เมื่อไม่ได้ใช้ก็จะขาดความมั่นใจเวลาพูด
คนยุคนี้จะต้องมี 2 ทักษะสำคัญ ได้แก่ Digital Skills และ Professional Skills ทักษะทางวิชาชีพ เป็นความรู้ในสาขาที่เราจบมา โดยมีเงาของภาษาอังกฤษเป็นตัวกำกับเดินเคียงข้างมาไม่ห่าง ทุกสาขาอาชีพต้องมีความรู้ทางภาษาอังกฤษระดับใช้งานได้ มิฉะนั้นจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง หรือขาดความก้าวหน้าในอาชีพ แต่เราจะถึงจุดที่มีภาษาอังกฤษเป็นเงาตามตัวได้อย่างไร?
1.ต้องจริงจังกับการฝึกฝน (Total Immersion Method) เข้าไปหมกมุ่นอยู่กับภาษาอังกฤษให้ได้มากที่สุด สร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นภาษาอังกฤษ คิด พูดเป็นภาษาอังกฤษเมื่อมีโอกาส แปรสิ่งรอบตัวให้เป็นห้องเรียนภาษาอังกฤษ
2.อดทนต่อการฝึกซ้อม (Practice a lot) คนที่จะคล่องต้องรู้จักซ้อม เพราะภาษาเป็นทักษะที่เกิดจากการทำบ่อยๆ จนเกิดความเคยชิน พูดให้คล่องจนติดปาก
3.พูดย้ำ ซ้ำซาก จนซึมซับ (Review & Repeat) ภาษาจะเกิดความคล่องมาจากการทบทวนอยู่เสมอ
4.ใช้เป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตจริง (Integrate English into your everyday Life) หางานอดิเรกทำเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง ฟังข่าว ประยุกต์บทเรียนภาษาอังกฤษให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
5.ฝึกทุกวันไป ไม่หักโหม (Make yourself a little time to study everyday) ทำทุกวันแต่ไม่หักโหม มีวินัยในการฝึกฝน ไม่ต้องรีบกับผลลัพธ์ ความสำเร็จมิได้มาจากครั้งเดียว
6.จดจำเป็นกลุ่มคำหรือประโยค (Study phrases, not just single word) การศึกษาเป็นกลุ่มคำ หรือวลี หรือประโยคจะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ของการใช้ศัพท์นั้นๆ ใช้ได้อย่างถูกต้องตามหลักภาษา ในการฝึกฝนนั้น อย่าอาย อย่ากลัวผิด
คุณอุดม แต้พานิช นักพูดชื่อดังเคยให้ข้อคิดว่า “การแป๊ก” คือวัคซีนที่ดีที่สุด ความล้มเหลวคือหนทางนำไปสู่ความก้าวหน้า และอย่าเอาความสำเร็จในอดีตมาเป็นบรรทัดฐาน พร้อมที่จะล้มเหลว และลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การเรียนภาษาก็เช่นกัน ค่อยๆ ปรับเสียงและสำเนียงให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับให้มากขึ้น ทำบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น “ครูคริส” คริสโตเฟอร์ ไรท์ เรียนพูดภาษาไทยก็อาศัยการพูดผิดพูดถูก แต่ก็อาศัยการพูดบ่อยๆ ในที่สุดก็คล่องทั้งสองภาษา ทั้งคริสตี้, โจนัส และแอนดรูว์ บิ๊กก์ ที่พูดภาษาไทยได้คล่อง ต่างก็อาศัยการฝึกในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้น ยอมที่จะรับฟังคำหัวเราะเยาะเพราะการออกเสียงผิดในตอนแรกๆ แต่เสียงหัวเราะเยาะเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นบันไดหิน เป็นพลังผลักดันให้พวกเขาไปถึงจุดหมายได้ในที่สุด
ดังนั้น “โอกาส” ก็เหมือนกับ “อากาศ” แม้นมองไม่เห็น แต่ก็มีอยู่รอบตัวเรา รู้สึกได้ สัมผัสได้ และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่ใครจะสามารถคว้ามันได้หรือใช้ประโยชน์จากมันได้มากที่สุดนั้น ก็สุดแล้วแต่ศักยภาพที่แต่ละคนมี
มาวันนี้ โอกาสในการฝึกฝนได้เปิดกว้าง “ภาษาอังกฤษ” อยู่รอบตัวเรา ไฉนเราไม่ใช้ความได้เปรียบเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ ลองเปิดใจให้พร้อมที่จะพัฒนาภาษาอังกฤษให้ก้าวหน้า ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียนกันดีกว่า